เจาะลึก 5 ข้อเสนอ ไทยเจรจากำแพงภาษีสหรัฐฯ "นักวิชาการ" เตือนเกษตรกรไทยเตรียมรับแรงกระแทก แนะรัฐบาลเตรียมเงินเยียวยา-หารืออาเซียน แบ่งการนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ พร้อมขอเอกชนนำกำไรกลับมาลงทุนในประเทศ
จากกรณีที่สหรัฐฯ นำโดยประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศเตรียมขึ้นกำแพงภาษีกับหลายชาติทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ที่ขึ้นเป็น 36% ทางรัฐบาลไทยได้ตั้งทีมเจรจาและได้สรุปข้อเสนอออกมา 5 เสาหลัก (อ่าน : “พิชัย” เปิด 5 เสาหลักถกภาษีสหรัฐฯ หวังได้เจรจาเร็วๆ นี้ บอกสัญญาณเป็นบวก)
ไทยรัฐออนไลน์ พูดคุยกับ รศ.ดร.จุฑาทิพย์ จงวนิชย์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ว่า 5 ข้อเสนอจะช่วยประเทศไทยจากนโยบายภาษีครั้งนี้ได้อย่างไร และไทยต้องเอาอะไรไปแลกมาบ้าง
เจาะลึก 5 ข้อเสนอ ไทยเจรจาสหรัฐฯ
1.ความร่วมมือเพื่อนำไปสู่การเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ไทย-สหรัฐฯ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมแปรรูป และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล และการลดอุปสรรคทางการค้าทั้งภาษีและไม่ใช่ภาษี
รศ.ดร.จุฑาทิพย์ ชี้การเป็นหุ้นส่วนในอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป คือการนำเข้าผลผลิตของสหรัฐฯ มาแปรรูปในประเทศไทย โดยส่วนหนึ่งก็เป็นผลผลิตที่ไทยสามารถผลิตได้เองภายในประเทศแต่ยังไม่เก่งเท่าสหรัฐฯ เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง ซึ่งในส่วนนี้มองว่ารัฐบาลสามารถทำได้ แต่ควรเตรียมมาตรการช่วยเหลือและชดเชยเกษตรกรที่จะได้รับผลกระทบ
ในส่วนของอุตสาหกรรมเทคโนโลยี Data Center และ AI ไทยมีข้อได้เปรียบคือมีอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ รองรับการทำ Data Center ที่ส่งออกไปสหรัฐฯ เยอะ และไม่ถูกเก็บภาษีเนื่องจากเป็นบริษัทของสหรัฐฯ ที่มาตั้งในประเทศไทย เช่น Western Digital คาดว่าไทยและสหรัฐฯ จะเดินหน้าความร่วมมือต่อไปได้ดี อีกสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ ได้ดีคือ เซมิคอนดักเตอร์ แต่มีข้อกังวลเล็กน้อยในกระบวนการผลิตส่วนประกอบภายในของเซมิคอนดักเตอร์ เช่น ชิป, PCB (แผงวงจรพิมพ์) ที่ไทยยังนำเข้าวัตถุดิบ (Raw Materials) บางส่วนจากอาเซียนและประเทศจีน
...
ดังนั้นรัฐบาลไทยต้องดูแลอย่างใกล้ชิดว่าจะถูกสหรัฐฯ เพ่งเล็งในเรื่องนี้หรือไม่ เพราะสหรัฐฯ ค่อนข้างเซนซิทีฟเรื่อง AI ถ้าไทยยังใช้ของจีนหรือผู้ประกอบการบางส่วนที่มาลงทุนในไทยยังมาจากจีนอยู่ ก็ต้องทำให้ชัดเจนว่านี่ไม่ใช่การสวมสิทธิ แต่มีการเพิ่มมูลค่า (Value added) ในประเทศ ก่อนส่งออกไปสหรัฐฯ

2.เพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะสินค้าพลังงาน สินค้าเกษตร และเครื่องบิน ส่วนประกอบและอุปกรณ์บริการ
ประเทศไทยนำเข้าพลังงานจากตะวันออกกลางเป็นหลักที่ราว 30%, จากกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา-ลาว-เมียนมาร์-เวียดนาม) ราว 19%, จากสหรัฐฯ ราว 10-12% จากอินโดนีเซีย ราว 5% และมาเลเซีย ราว 9% โดยนำเข้ามาในรูปแบบของ LNG (ก๊าซธรรมชาติเหลว), น้ำมัน โดยมองว่าการที่ไทยจะปรับสัดส่วนลดการนำเข้าจากตะวันออกกลางบางส่วน เปลี่ยนมาเป็นสหรัฐฯ แทนก็ไม่ได้ผิดอะไร
แต่การนำเข้าพลังงานจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ก็อาจทำให้ต้นทุนค่าพลังงานเพิ่มสูงขึ้นด้วย ซึ่งพลังงานมีความเชื่อมโยงกับภาคทางเศรษฐกิจอื่นๆ แทบทั้งหมด ดังนั้นรัฐบาลต้องมีมาตรการรองรับ ดูว่าต้องทำอย่างไรให้พลังงานยังอยู่ในราคาที่ทำให้ประเทศเดินต่อไปได้และไม่กระทบกับภาคเศรษฐกิจและภาคครัวเรือน ซึ่งหากมีมาตรการชดเชยที่ดี ราคาพลังงานก็อาจไม่เพิ่มสูง
ในส่วนของเครื่องบิน คิดว่าจะออกมาในรูปแบบที่ให้การบินไทยซื้อเครื่องบินโบอิ้ง (Boeing) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่สัญชาติสหรัฐฯ หรือการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์เพิ่ม ซึ่งก็ต้องถามการบินไทยว่ามีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน และถ้าหากไทยซื้อโบอิ้งแต่ไม่ซื้อแอร์บัส ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่อีกเจ้าจากสหภาพยุโรป จะส่งผลกระทบอะไรหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ไทยกำลังหารือการลงนามในข้อตกลงการค้าอาเซียน-อียู

...
3. การเปิดตลาดสาขาเกษตรของไทย อาทิ ผลไม้ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
คาดจะเป็นการลดภาษีสินค้าเกษตรรวม 1 หมื่นกว่ารายการ ซึ่งตอนนี้ยังไม่ชัดเจนว่าจะลดในสินค้าตัวไหนบ้าง และโครงสร้างการลดภาษีจะไปในทิศทางใด จึงอาจไม่สามารถประเมินได้อย่างชัดเจนนัก แต่จากข้อเสนอนี้คาดว่าจะมีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้น โดยประเทศไทยควรลดภาษีทั้งในส่วนของสินค้าเกษตรที่เป็นวัตถุดิบ (Raw Materials) และสินค้าสำเร็จรูป (Finished Product) ไปพร้อมๆ กัน
ตัวอย่างที่รัฐบาลยกมาอย่าง “ผลไม้” ตอนนี้ผลไม้หลักๆ ที่ไทยนำเข้าจากสหรัฐฯ คือผลไม้เมืองหนาว เช่น เชอร์รี่ แอปเปิล หากเปิดตลาดเพิ่มขึ้นอีกก็ไม่ได้ส่งผลกระทบมากนัก เพราะเกษตรกรผู้ผลิตผลในไทยไม่ใช่กลุ่มใหญ่ แต่อย่างไรก็ต้องหามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรกลุ่มนี้ด้วย
ในส่วน “เนื้อวัว” และ “เนื้อหมู” ที่สหรัฐฯอาจต้องการส่งออก อยู่ในกลุ่มสินค้าควบคุมที่ไทยห้ามนำเข้าเนื่องจากกังวลเรื่อง “สารเนื้อแดง” จึงยังไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะนำเข้ามาหรือไม่ แต่ถ้าจะนำเข้าก็ต้องมีการยืนยันและพิสูจน์ว่าสารเร่งเนื้อแดงไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเพื่อให้ประชาชนมั่นใจ ซึ่งหากผ่านมาตรฐานด้านสุขอนามัยก็อาจจะเปิดตลาดเพิ่มได้
4. การบังคับใช้กฎหมายป้องกันการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้า
กฎหมายฉบับนี้ บังคับให้การนำเข้าสินค้าต้องผ่านการแปรรูปและเพิ่มมูลค่า (Value added) ในประเทศอย่างน้อย 40% ก่อนส่งออก ซึ่งตอนนี้เจ้าหน้าที่อาจยังไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังมากพอ ทำให้มีสินค้าหลายชนิดเพิ่มมูลค่าในไทยไม่ถึง 40% เช่น รถยนต์ไฟฟ้า ดังนั้นการบังคับใช้กฏหมายอย่างจริงจังมากขึ้นจึงเป็นเรื่องที่ดี ช่วยคลายข้อกังวลในการส่งออกสินค้า เกิดการซื้อวัตถุดิบและสินค้าในประเทศมากขึ้นเพื่อนำไปใช้เพิ่มมูลค่า ถือเป็นการช่วยผู้ประกอบการไทยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานด้วย
...

5. ส่งเสริมการลงทุนไทยในสหรัฐฯ มากขึ้น
รศ.ดร.จุฑาทิพย์ มองว่า หากการขยายการลงทุนไทยในสหรัฐฯ มาจากภาคเอกชนไม่ใช่ภาครัฐหรือรัฐวิสาหกิจก็คงไม่เป็นอะไร เพราะแต่ละบริษัทคงคำนวณกำไรขาดทุนของตัวเองไว้อยู่แล้ว
แต่อย่างไรก็ดี การลงทุนในประเทศของไทยยังอยู่ระดับต่ำมาก ในปี 2024 ภาพรวมเติบโตแค่ 0% โดยการลงทุนจากภาคเอกชนเติบโตติดลบ -1.6% และแม้ว่าตัวเลขการลงทุน FDI (การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ) จากการขอบัตรส่งเสริมจะกลับมาเยอะ แต่ตัวเลขจริงที่ออกมา ไทยยังรั้งท้ายประเทศกลุ่ม ASEAN-5 อยู่ (คือ 5 ประเทศผู้ก่อตั้ง ASEAN ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย)
ฉะนั้นการที่ภาคเอกชนไปลงทุนในต่างประเทศเพื่อแลกกับผลประโยชน์ด้านภาษี หากเป็นไปได้รัฐบาลก็ควรขอความร่วมมือให้แบ่งกำไรที่ได้จากการลงทุนนั้นกลับมาลงทุนในประเทศด้วย โดยรายได้ต่อหัวของคนไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 7,800 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 2.5 แสนบาท) น้อยกว่าสหรัฐฯ 10 เท่า เราจึงยังต้องการเงินจากบริษัทของไทยกลับมาช่วยประเทศไทยอยู่
...
ยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่ขาดดุลการค้ากับต่างชาติในระดับสูงเช่นเดียวกับสหรัฐฯ คือมีการนำเข้ามากกว่าการส่งออก แต่ญี่ปุ่นไม่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด โดยหลังจากการระบาดโควิด-19 มีการส่งกลับกำไรของการลงทุนของบริษัทญี่ปุ่นในประเทศต่างๆ เยอะขึ้น และไปชดเชยในส่วนที่ขาดดุลการค้าได้

รศ.ดร.จุฑาทิพย์ มองว่าจากสถานการณ์ในปัจจุบัน แม้จะมีความไม่แน่นอนเรื่องนโยบายกำแพงภาษีแต่ว่าไทยยังคงส่งสินค้าไปสหรัฐฯ ได้อยู่ โดยเฉพาะสินค้าที่ไทยมีห่วงโซ่อุปทานเหมือนจีน เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้โอกาสเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ จึงยังสูงอยู่ ดังนั้นปัจจัยสำคัญที่สุดของการเจรจาครั้งนี้ คือต้องสอบถามให้ชัดเจนว่า สหรัฐฯ ต้องการลดการขาดดุลการค้ากับไทยมากน้อยแค่ไหน เพราะหากสหรัฐฯ ต้องการลดการขาดดุลการค้ามาก ไทยก็ต้องนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย และอาจต้องรับมือกับผลกระทบภาคเกษตรมากกว่าที่ตั้งใจไว้
รัฐบาลต้องเตรียมมาตรการอุดหนุนเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งอาจออกมาในรูปแบบการให้เงินสนับสนุนหรือเงินชดเชยก่อน จากนั้นจึงช่วยเหลือในรูปแบบสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ, ช่วยหาตลาดอื่นในการกระจายสินค้า และคิดหาวิธีช่วยลดต้นทุนการผลิตและขยายการส่งออกให้ภาคเกษตรกร เช่น พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบชลประทาน การร่วมทุนกับเอกชนเพื่อพัฒนาพันธุ์พืช การพัฒนาคนในด้านดิจิทัล ฯลฯ เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าไทย และเพิ่มห่วงโซ่อุปทานในประเทศ
กรณีที่เลวร้ายที่สุด (Worst-case Scenario) ที่อาจเกิดขึ้นจากการเจรจาครั้งนี้ คือถ้าประเทศอื่นในภูมิภาค โดยเฉพาะประเทศที่มีห่วงโซ่อุปทานคล้ายๆ กัน เช่น เวียดนาม สามารถเจรจากับสหรัฐฯ และลดภาษีได้มากกว่าไทย ไทยก็จะส่งออกได้น้อยลง แต่ขณะเดียวกัน เวียดนาม ที่ส่งออกสินค้าแทนที่ไทยได้มากขึ้น ก็จะเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากกว่าเดิมและต้องนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้น ฉะนั้นนี่จึงเป็นสถานการณ์ที่ไม่มีประเทศไหนชนะเลย
ดังนั้น หากประเทศไทยสามารถพูดคุยร่วมมือกับอาเซียนได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดี เพราะไทยก็ยังต้องการวัตถุดิบ (Raw Materials) จากอาเซียนในหลายๆ ส่วน เช่น ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ หรือในส่วนของสินค้าเกษตรก็มีการส่งออก-นำเข้าในอาเซียนด้วยกันพอสมควร ถ้าเราสามารถทำให้แน่นแฟ้นขึ้นให้สหรัฐฯ มองเห็น ความสามารถในการต่อรองกับสหรัฐฯ เป็นไปในทางที่ดีขึ้น หรือพูดคุยกันว่าจะแบ่งกันนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ อย่างไรให้แต่ละประเทศได้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งล่าสุดรัฐบาลไทยมีการพูดคุยกับเวียดนามและอินโดนีเซียแล้ว ก็ถือว่าเป็นนิมิตหมายอันดี
“ถึงแม้ว่าเราจะเจรจาสำเร็จ แต่ในอีก 2-3 ปีที่ทรัมป์ยังอยู่ และการขาดดุลการค้าระหว่างไทยและสหรัฐฯ ไม่ได้ลดลง ซึ่งก็คิดว่าน่าจะลดไม่ได้มากเพราะเรายังส่งออกได้เยอะอยู่ สหรัฐฯ ก็อาจต้องการให้ไทยนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอีก และคนที่ได้รับผลกระทบอย่างภาคเกษตรกรของเรามีความพร้อมแค่ไหน เราต้องเตรียมรับมือไปอีกขั้น มองเผื่อออกไปในอนาคต”

รัฐออกมาตรการรับมือ
เมื่อวันที่ 16 พ.ค.68 ที่ผ่านมา นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เปิดเผยว่า รัฐบาลจะหามาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากภาษีสหรัฐฯ เบื้องต้นระยะแรกจะใช้ให้ความช่วยเหลือ 6 กลุ่ม คือ
- ผู้ส่งออกไปสหรัฐฯ
- ผู้ประกอบการ SME ที่เกี่ยวข้องการส่งออกไปสหรัฐฯ
- ผู้ผลิตที่ได้รับผลกระทบจากสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาในไทย
- ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
- ธุรกิจท่องเที่ยว
- SME เอสเอ็มอีทั่วไป
ให้ธนาคารออมสิน เตรียมออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) อีก 100,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 0.01% เพื่อปล่อยให้ธนาคารพาณิชย์นำไปปล่อยกู้ให้กับผู้ส่งออกและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ขณะเดียวกันลูกค้าธนาคารออมสิน หากเป็นผู้ส่งออกไปสหรัฐฯ และธุรกิจเกี่ยวเนื่องได้รับผลกระทบ ให้ลดดอกเบี้ยให้ 2-3% เพื่อให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่อง
ในวันนี้ (19 พ.ค.) ยังได้มีการประชุมคณะกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ เป็นประธาน ได้พิจารณาชะลอโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท และผันงบมาช่วยแก้ปัญหาที่เร่งด่วนก่อน ซึ่งรวมถึงการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ด้วย