นายไพศาล บุญสวัสดิ์ นักวิชาการป่าไม้ปฏิบัติการ หัวหน้าศูนย์ศึกษาและวิจัยอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 2 (ภูเก็ต) นำสื่อมวลชนเข้าชมหน่วยงาน ในสังกัดอุทยานแห่งชาติทางทะเล สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยมีภารกิจหลักทั้ง การศึกษา วิจัย สำรวจ พัฒนา คุ้มครองและฟื้นฟูระบบนิเวศ เพื่อให้เป็นแหล่งศึกษาวิจัยและการท่องเที่ยว โดยปัจจุบันดูแลพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเลอันดามันตอนบนใน 2 จังหวัด คือ ภูเก็ต และพังงา รวม 6 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่, อุทยานแห่งชาติเขาลำปี–หาดท้ายเหมือง, อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์, อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน, อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา และอุทยานแห่งชาติสิรินาถ
นายไพศาล กล่าวถึงปัญหา “หญ้าทะเล” ที่มีปริมาณลดลงอย่างชัดเจน มีเพียงอุทยานแห่งชาติสิรินาถที่มีหญ้าทะเลอุดมสมบูรณ์ โดยสาเหตุที่มีปริมาณลดลง เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และตะกอนทรายในทะเล จึงเร่งดำเนินการฟื้นฟู และเพาะขยายหญ้าทะเล
โดยขณะที่เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจปัญหาหญ้าทะเลลดลงนั้น ได้พบ "ปลาฉลามกบ" ติดเครื่องมือล่าสัตว์ของชาวประมง จึงได้ช่วยปลาฉลามกบออกมา แต่พบอีกว่าในลอบมีไข่ปลาฉลามกบอยู่ 24 ฟอง หากปล่อยเอาไว้อาจจะไม่รอด จึงได้นำมาเพาะอนุบาลในศูนย์ฯ ปัจจุบันเหลือรอดอยู่ 14 ตัว และอนุบาลมาแล้วเป็นเวลา 4 เดือน หากครบกำหนดอีก 2 เดือน ก็จะปล่อยกลับสู่ทะเลต่อไปในบริเวณจุดที่พบ
ภาพ/เรื่อง : สรวิชญ์ บุญจันทร์คง
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์

...




