เห็ดนำเข้า ครองตลาด “นายกสมาคมนักวิจัยและเพาะเห็ดไทย” ชี้เห็ดไทยสู้ราคาไม่ได้ ไร้เทคโนโลยีเก็บรักษาและบรรจุภัณฑ์ แนะรัฐจำกัดจำนวนนำเข้า-เพิ่มงบพัฒนาเทคโนโลยี และเกษตรกรปรับตัว หันป้อนผลผลิตสู่ตลาดอาหารเสริม
จากกรณีชาวเน็ตไทยจำนวนหนึ่ง ตั้งข้อสังเกตว่า “เห็ด” ที่วางขายในห้างสรรพสินค้าจำนวนมาก เป็นฉลากนำเข้าจากต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศจีน แทบไม่เห็นเห็ดฉลากไทยวางขาย จนมีผู้แชร์ต่อหลายหมื่นครั้งในเว็บไซต์ X (ทวิตเตอร์) เกิดการถกเถียงและข้อกังวลว่า “เห็ดไทย” กำลังวิกฤตหรือไม่?
ไทยรัฐออนไลน์ พูดคุยประเด็นนี้ กับ ดร.ธิติยา บุญประเทือง นักวิจัยธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และนายกสมาคมนักวิจัยและเพาะเห็ดแห่งประเทศไทย ถึงกรณีที่เกิดขึ้น

...
ข้อมูลจากกรมศุลกากร พบว่า เห็ดที่นำเข้ามาจากต่างประเทศมากที่สุดมาจากประเทศจีน โดยข้อมูลล่าสุดพบว่า ปริมาณเห็ดนำเข้าทั้งหมดในปี 2567 (ม.ค.-ต.ค.) มูลค่า 1.9 พันล้านบาท โดยเป็นเห็ดจากประเทศจีนรวมเป็นมูลค่า 1.79 พันล้านบาท หรือ 93.15% ของมูลค่าการนำเข้าเห็ดทั้งหมด และมีแนวโน้มการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ขณะที่มูลค่าการส่งออกของเห็ดไทยสดและแช่เย็นอยู่ที่ 514.73 ล้านบาท (ข้อมูลสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ ต.ค. 67) ส่วนมูลค่าผลผลิตเห็ดในประเทศมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จากมูลค่า 1 หมื่นล้านบาทในปี 2552 (ที่มาสมาคมนักวิจัยและเพาะเห็ดแห่งประเทศไทยปี 2559) เหลือเพียง 294 ล้านบาทในปี 2562 (ที่มาสมาคมนักวิจัยและเพาะเห็ดแห่งประเทศไทยปี 2562) และยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องถึงปัจจุบัน
สำหรับการนำเข้า ไม่ได้ระบุชนิดของเห็ดอย่างละเอียดแต่แบ่งกลุ่มเป็น 1. เห็ดอื่นๆ เช่น ชิตาเกะ ไมทาเกะ หลินจือ โดยในปี 2567 นำเข้ามากที่สุดที่มูลค่า 1.4 พันล้านบาท 2. เห็ดตระกูลอะการิคัส (Agaricus) เช่น เห็ดกระดุม ราว 463 ล้านบาท และ 3. เห็ดทรัฟเฟิล แต่ไม่ได้มีการนำเข้ามาตั้งแต่ปี 2565
ดร.ธิติยา เปิดเผยว่าการนำเข้าเห็ดจากต่างประเทศไม่ได้มีการจำกัดจำนวน แต่ทางกรมวิชาการเกษตรจะกำหนดว่าชนิดใดนำเข้าได้หรือไม่ได้ แต่ว่ามีจำนวนน้อยมากที่ถูกห้ามนำเข้า

เห็ดไทย สู้ราคาไม่ได้ ขาดเทคโนโลยี
เห็ดที่นำเข้านั้น เป็นเห็ดที่สามารถเพาะในประเทศไทยได้ทั้งหมด ขึ้นอยู่กับว่าจำเป็นต้องใช้ห้องควบคุมในการเพาะหรือไม่ แต่ปัจจัยหลักที่ทำให้เห็ดไทยเสียเปรียบคือ เกษตรกรไทยโดยเฉพาะรายย่อย มีปัญหาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว การบรรจุภัณฑ์ รวมถึงการขนส่ง ทำให้การคงสภาพเห็ดจากฟาร์มส่งไปถึงมือผู้บริโภคในพื้นที่ต่างๆ ทำได้ยาก
ในขณะเดียวกัน ประเทศจีน ที่เป็นเจ้าตลาดเห็ดในไทย สามารถผลิตและส่งออกเห็ดได้เป็นจำนวนมาก เนื่องจากทำในรูปแบบฟาร์มขนาดใหญ่ และรัฐบาลสนับสนุนอย่างดี ให้องค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง ช่วยเหลือด้านต้นทุน สนับสนุนเรื่องการส่งออกและการพัฒนาเทคโนโลยีการบรรจุภัณฑ์และขนส่ง ซึ่งในอนาคตเมื่อรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน สร้างแล้วเสร็จ คาดว่าผลผลิตเห็ดจากจีนจะทะลักเข้าไทยอีกเป็นจำนวนมาก
“ที่ประเทศจีน ทั้งมณฑลปลูกแต่เห็ดอย่างเดียวแล้วส่งออก ปริมาณผลผลิตที่ได้จึงสูงมากและส่งออกไปทั่วโลก โดยเห็ดที่เห็นในประเทศไทยมาจากจีนจำนวนเยอะมาก มองจากในมุมลูกค้าที่ไปเดินห้างหรือซูเปอร์มาร์เก็ตจะเห็นว่าบรรจุภัณฑ์ส่วนใหญ่เป็นของจีน มีของไทยน้อยมาก เท่าที่สำรวจคาดว่าน่าจะเกิน 80% เห็ดไทยมีแค่บางยี่ห้อเท่านั้นที่สามารถเข้าสู่ตลาดค้าส่งหรือค้าปลีกรายใหญ่ได้ โดยเห็ดจากผู้ประกอบการรายย่อยของไทย จะไปขายที่ตลาดท้องถิ่นมากกว่า”
นอกจากนี้จีนยังมีข้อได้เปรียบเรื่องราคาที่ถูกกว่า ไม่โดนกำแพงภาษี ไม่มีเพดานการนำเข้า และยังมีเรื่องต้นทุนแรงงาน ที่ค่าแรงในประเทศไทยสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ฟาร์มเห็ดไทยต้องหาราคาที่ขายแล้วไม่ขาดทุน จึงอาจจะสู้ราคาเห็ดนำเข้าไม่ได้

...
"ตลาดอาหารเสริม" โอกาสของฟาร์มเห็ดไทย
ดร.ธิติยา เปิดเผยว่า เห็ดที่นำเข้ามาไม่ใช่เพื่อการบริโภคในครัวเรือนเท่านั้น แต่ส่วนใหญ่ราว 60-70% ถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารเสริมและเครื่องสำอาง ซึ่งเป็นธุรกิจที่เติบโตอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการโรงงานขนาดใหญ่ที่ทั้งผลิตและจำหน่ายเองและรับผลิตให้แบรนด์อื่นๆ ทำให้ตัวเลขการนำเข้าเห็ดเพิ่มขึ้นมากตามไปด้วย
โรงงานเหล่านี้ใช้เห็ดนำเข้าเกือบทั้งหมด เพราะต้องใช้เห็ดจำนวนมากในการสกัดสารที่ต้องการออกมา เช่น เห็ด 10 ตัน ทำผงเห็ดได้แค่ 1 ตันเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีการกำหนดคุณลักษณะเพิ่มเติม เช่น ต้องมีใบรับรองจากห้องแล็บว่ามีสารบางอย่างในจำนวนที่กำหนด
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเห็ดไทยไม่ได้มาตรฐานหรือไม่มีคุณลักษณะตามที่ผู้ผลิตอาหารเสริมต้องการ แต่เพราะฟาร์มเห็ดในไทยส่วนใหญ่เป็นรายย่อยไม่สามารถผลิตได้จำนวนมากพอ และการขายเห็ดแต่ละล็อตต้องมีการส่งตรวจในห้องแล็บก่อน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง อาจไม่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับจำนวนเห็ดที่ขายได้

...
อย่างไรก็ดีเรื่องนี้เป็นความท้าทายและโอกาสของผู้เกษตรกรผู้เพาะเห็ดไทย โดยทางสมาคมนักวิจัยและเพาะเห็ดแห่งประเทศไทยร่วมกับเครือข่าย ได้เข้าไปพูดคุยกับกลุ่มผู้ประกอบการอาหารเสริมรายใหญ่ พบว่าที่ต้องนำเข้าเห็ดจากต่างประเทศเพราะติดเรื่องมาตรฐานและการการันตีคุณภาพของวัตถุดิบ เมื่อทางสมาคมฯ เสนอไปว่าหากมีการรวมตัวเกษตรกรในไทย พัฒนากระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐานและมีหน่วยงานเข้ามาช่วยตรวจสอบรับรองคุณภาพ ทางผู้ประกอบการอาหารเสริมจะยินดีรับวัตถุดิบจากในประเทศหรือไม่ ซึ่งทางผู้ประกอบตอบว่ายินดีที่จะรับ
ตอนนี้ทางสมาคมฯ เครือข่ายนักวิชาการ รวมถึงโร้ดแมปเห็ด ของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กำลังร่วมมือกันเพื่อเป็นสะพานผลักดันเห็ดไทยเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหารเสริมมากขึ้น โดยจะมีการพูดคุยกับฟาร์มต่างๆ ว่าฟาร์มไหนสนใจมารวมกลุ่มกันบ้าง จากนั้นจะส่งตัวแทนเข้าไปช่วยดูแลกระบวนการผลิต เจรจากับภาคธุรกิจอาหารเสริม สื่อสารความต้องการระหว่างเกษตรกรและเอกชนผู้รับซื้อ
“นี่เป็นจุดเปลี่ยนว่าตั้งแต่นี้ต่อไป แทนที่เราจะผลิตโดยมองแค่ขายไปบริโภค เราลองเปลี่ยนมาผลิตให้ได้มาตรฐานตามที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการ ดูว่าต้องผ่าน ISO อะไร ต้องมีสารสกัดอะไรบ้าง ถึงเวลาต้องรวมกลุ่มแล้วทำร่วมกัน นี่ถือเป็นความท้าทายและโอกาสของฟาร์มเห็ดในไทย”
หนทางรอดของ “เห็ดไทย”
สำหรับหนทางรอด และการปรับตัวของ เห็ดไทย ดร.ธิติยา ได้มีข้อเสนอแนะว่า
1. ภาครัฐควรเข้ามาช่วยตีกรอบ กำหนดเพดานจำนวนการนำเข้า เพื่อไม่ให้กระทบกับตลาดหรือผู้ผลิตในประเทศมากนัก
2. ภาครัฐควรลงทุนกับงานวิจัยด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและขนส่ง เช่น ถุงถนอมอาหารที่สามารถแลกเปลี่ยนก๊าซได้ดี เพื่อป้อนผู้ประกอบการกลุ่มผัก ผลไม้และเห็ด ช่วยยืดอายุระหว่างการขนส่งจากหน้าฟาร์มไปสู่ตลาดต่างๆ ทำให้เกษตรกรขายสินค้าได้ไกลมากขึ้น เพิ่มรายได้ให้สูงขึ้น
...
3. เกษตรกรไทยก็ต้องปรับตัว เพิ่มมาตรฐานในการผลิตให้เข้ากับอุตสาหกรรมที่มีความต้องการใช้เห็ดอย่างธุรกิจอาหารเสริม รวมตัวกันเพื่อรวบรวมผลผลิตและช่วยกันตรวจสอบมาตรฐาน แบ่งปันองค์ความรู้
4. รณรงค์ให้คนไทยหันมาบริโภคเห็ดไทยมากขึ้น ตรวจสอบฉลากบรรจุภัณฑ์และเลือกซื้อสินค้าไทย ซื้อเห็ดโดยตรงจากผู้ประกอบการไทยผ่านหน้าฟาร์มหรือช่องทางออนไลน์ หรือซื้อจากตลาดในชุมชน ซึ่งก็จะได้เห็นเสน่ห์ของเห็ดที่หลากหลายแตกต่างจากซูเปอร์มาร์เก็ตด้วย
“เห็ดไทยที่ปลอดภัยมีจำนวนมาก ของที่นำเข้ามาบริโภคเราไม่อาจทราบได้ว่ามีมาตรฐานความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะทราบได้ก็ต่อเมื่อมีการสุ่มตรวจ และถ้าหากคนไทยยังไม่สนับสนุนเกษตรกรไทย ก็ยากที่คนอื่นจะมาสนับสนุน”

เห็ดฟาง ยังไม่ถูกตีตลาดแต่กำลังหายไป?
ดร.ธิติยา ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า “เห็ดฟาง” ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นเห็ดประจำชาติกำลังหายไปจากตลาด มีคนเพาะน้อยลง เนื่องจากเป็นเห็ดที่มีปัญหาเยอะที่สุดในการขนส่ง ย่อยสลายตัวเองได้เร็วมาก ต้องขนส่งไว ตลาดต้องอยู่ใกล้มาก
ด้วยความที่เห็ดฟางมีอายุสั้นมาก ทำให้ไม่มีการนำเข้าในปัจจุบัน แต่ตอนนี้ประเทศจีนสามารถเพาะเห็ดฟางได้แล้วจากเดิมที่ไม่สามารถทำได้ หากในอนาคตจีนพัฒนาเทคโนโลยีจนสามารถส่งออกได้ รวมกับต้นทุนและแรงสนับสนุนจากภาครัฐ จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อผู้ผลิตในไทยแน่นอน ดังนั้นในช่วงที่เป็นช่องว่างที่จีนยังไม่เข้ามาตีตลาด ควรเร่งช่วยเหลือฟาร์มเห็ดฟางในไทยให้มากขึ้น
“เรื่องนี้สำคัญมาก ต่อไปเราจะไม่มีต้มยำกุ้งที่ใส่เห็ดฟาง แต่จะกลายเป็นต้มยำกุ้งที่มีเห็ดนางรม นางฟ้า ซึ่งมันไม่ใช่ มันอร่อยสู้เห็ดฟางไม่ได้ ถึงเวลาที่ภาครัฐและนักวิจัยต้องลงมาช่วยพัฒนาเรื่องของเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว เรื่องวัสดุศาสตร์ในการทำภาชนะที่สามารถเก็บเห็ดให้อยู่ได้นานๆ และยังคงคุณค่าอยู่ เพื่อที่จะขนส่งได้ดี”
*หมายเหตุ : แก้ไขข้อมูลปริมาณและมูลค่าการนำเข้าเห็ดจากต่างประเทศ ณ วันที่ 15 พ.ค.2568
