พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่กลายเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งของการเมืองใหญ่ในยุคใหม่ ที่พรรคการเมืองขนาดใหญ่ในปัจจุบันทั้ง 2 พรรคอย่าง พรรคเพื่อไทย แกนนำรัฐบาลชุดปัจจุบัน และพรรคประชาชนแกนนำฝ่ายค้าน ที่หลังจากเกิดการสลับขั้วจัดตั้งรัฐบาลขึ้น จึงขยับมาเป็นคู่แข่งกันอย่างเต็มตัว ทั้ง ในสภาฯ และทุกสนามการเลือกตั้ง หลังจากปี 2566 เป็นต้นมา

เดิมทีจังหวัดเชียงใหม่ถูกขนาดนามว่าเป็น “เมืองหลวงเสื้อแดง” ถิ่นกำเนิดของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และศูนย์รวมจิตใจของกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย การเลือกตั้งในอดีตพรรคเพื่อไทยแทบไม่เคยพลาดพลั้ง เสียพื้นที่ให้กับกลุ่มการเมืองอื่นเลย สะท้อนถึงกระแสความนิยมและความศรัทธาต่อนายทักษิณ แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในอำนาจ และไม่ได้อยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานานเกือบ 20 ปีก็ตาม

แต่การถือกำเนิดของกลุ่ม “พรรคส้ม” ตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล มาจนถึงพรรคประชาชนในปัจจุบัน กลุ่มการเมืองนี้กำลังสั่นคลอนพื้นที่เมืองหลวงของคนเสื้อแดง เพราะการเลือกตั้งใหญ่เมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา พรรคก้าวไกล (ในขณะนั้น) สามารถพลิกมาเอาชนะพรรคเพื่อไทย คว้าเก้าอี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบแบ่งเขตของจังหวัดเชียงใหม่ไปได้มากถึง 70% หรือ 7 จาก 10 คน

...

ขณะที่พรรคเพื่อไทยนั้น ได้ไปเพียงแค่ 2 คนเท่านั้น เป็นอีกหนึ่งจุดพลิกผันที่สะเทือนถึงบ้านใหญ่ชินวัตรเหมือนธงสีแดงที่ถูกปักไว้กำลังถูกถอดและเปลี่ยนเป็นสีส้มส่งสัญญาณเตือนว่าอาจจะถูกตีเมืองหลวงไปแล้ว นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งพื้นที่ที่ถูกหั่นไว้ให้กับพรรคพลังประชารัฐ 1 คนด้วย

แต่ปรากฏว่า 2 ปีให้หลังจากการเลือกตั้งใหญ่มาสู่สนามการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ (อบจ.) นายทักษิณ จึงไม่อยู่นิ่งเฉย ลงพื้นที่มาช่วยนายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร อดีตนายก อบจ. 1 สมัย หาเสียงเพื่อรักษาเก้าอี้เดิมของตนเองเอาไว้ ส่วนพรรคประชาชนก็ไม่น้อยหน้าขนกองทัพแกนนำพรรคทุกคนเรียงหน้ากันลงพื้นที่มาช่วยนายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้สมัครท้าชิงจากพรรคส้มหาเสียงอย่างเต็มที่

ผลปรากฏว่ายกที่ 2 กับกลายเป็นว่าพรรคเพื่อไทยสามารถยึดพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ได้อีกครั้งหนึ่ง กอบกู้หน้าที่สูญเสียไปตั้งแต่การเลือกตั้งใหญ่เมื่อปี 2566 โดยเมื่อคำนวณคะแนนแล้วพรรคเพื่อไทยเอาชนะได้ประมาณ 17,000 เสียง

เดินทางมาถึงยกที่ 3 สำหรับการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเทศบาลนครเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 11 พ.ค.2568 อย่างที่ทราบกันดีว่า ฐานเสียงของพรรคส้ม ส่วนใหญ่จะอยู่ในเมือง สังเกตได้จากผลการเลือกตั้งในหลายสนามที่ผ่านมา พื้นที่ที่ชนะได้มักจะเป็นพื้นที่ในโซนเมือง จึงมีการคาดการณ์ว่าเทศบาลนครเชียงใหม่มีโอกาสจะเป็นคนของพรรคส้มมาเสียบเก้าอี้แทนได้

โดยพรรคเพื่อไทยส่ง อัศนี บูรณุปกรณ์ นายกเล็กคนก่อนหน้า จากตระกูลดังที่ครองเมืองเชียงใหม่มานานหลายสิบปี ลงชิงชัยพร้อมกับมีนายทักษิณคอยหนุนหลังและขึ้นเวทีแสดงออกอย่างชัดเจนถึงการสนับสนุนนายอัสนีให้เป็นนายกเล็กต่ออีกหนึ่งสมัย

ขณะที่พรรคประชาชนส่ง ธีรวุฒิ แก้วฟอง ลงชิงชัย เปิดหน้าสู้ศึกยกที่ 3 หวังจะพลิกเอาชนะเจ้าถิ่นเก่าได้สำเร็จ พร้อมกับมีแกนนำคอยลงไปขึ้นรถหาเสียง ขึ้นเวทีปราศรัย ดึงดูดกองเชียร์ที่กระจายอยู่ในพื้นที่เทศบาลนครเชียงใหม่

แต่ผลปรากฏว่าศึกชิงนายกเล็กสนามนี้ ยังคงเป็นการย้ำชัยชนะของพรรคเพื่อไทย ส่งตระกูลบูรณุปกรณ์ ครองเมืองเชียงใหม่ต่ออีก 4 ปี โดยเอาชนะไปด้วยความห่างคะแนนเพียงแค่ 4,000 คะแนน ลดช่องว่างจากสนามเดิมลงมา

ผลสรุปจากทั้ง 3 สนามนั้น มองได้หลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นเรื่องของตัวผู้สมัคร ความผูกพันกับพื้นที่ นโยบายหาเสียง ผู้สนับสนุน โดยเฉพาะการไม่ได้มีการจัดให้เลือกตั้งล่วงหน้าหรือนอกเขต ส่งผลให้ตัวเลขผู้ใช้สิทธิไม่สูงมากนัก อาจจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ชี้ขาดการแพ้ชนะได้ในสนามการเลือกตั้งท้องถิ่นทั้ง 2 สนาม ซึ่งผลลัพธ์สวนทางกับการเลือกตั้งใหญ่ อีกทั้งหลังจากที่ยุบพรรคก้าวไกลมาพรรคประชาชนยังไม่สามารถคว้าชัยชนะอย่างเป็นรูปร่างได้ในสนามเลยแม้แต่พื้นที่เดียว ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้ง นายก อบจ. ที่ชนะไปแค่จังหวัดลำพูนพื้นที่เดียว การเลือกตั้งซ่อมก็พ่ายแพ้อีก การบ้านของแกนนำชุดใหม่ที่จะต้องเร่งแก้ไขก่อนถึงการเลือกตั้งใหญ่ในอีก 2 ปี

ส่วนสนามการแข่งขันทางการเมืองของจังหวัดเชียงใหม่ ยกที่ 4 คงจะต้องรอการเลือกตั้งใหญ่ในปี 2570 หากรัฐบาลอยู่ครบวาระและไม่ได้ยุบสภาก่อน เมื่อถึงเวลานั้นต้องมาดูกันว่าพรรคประชาชนจะสามารถรักษาฐานเสียงของตนเองเอาไว้ได้หรือไม่ หรือจะเป็นพรรคเพื่อไทยที่กลับมาเป็นใหญ่ในเมืองหลวงคนเสื้อแดงอีกครั้ง