ดวงจันทร์เต็มดวงห่างไกลโลกมากสุดในรอบปีคืนวันสงกรานต์ "สถาบันวิจัยดาราศาสตร์" เผยปรากฏการณ์ “ไมโครฟูลมูน” ห่างจากโลกออกไปประมาณ 406,000 กิโลเมตร ทำให้คืนวันที่ 13 เม.ย. 68 จะเห็นดวงจันทร์มีขนาดเล็กกว่าทุกวัน
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร. หรือ NARIT) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เผยว่า คืนวันที่ 13 เมษายน 2568 ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี หรือ “ไมโครฟูลมูน” ในคืนวันสงกรานต์ไทย จะเห็นดวงจันทร์เต็มดวงมีขนาดปรากฏเล็กกว่าปกติเล็กน้อย

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้จัดการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ กล่าวว่า วันที่ 13 เมษายน 2568 จะเกิดปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี” หรือ “ไมโครฟูลมูน” (Micro Full Moon) ผู้สนใจสามารถเริ่มสังเกตดวงจันทร์ได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 18:48 น. บริเวณขอบฟ้าทางทิศตะวันออก ช่วงเวลาดังกล่าวดวงจันทร์จะโคจรห่างจากโลกออกไปประมาณ 406,000 กิโลเมตร ส่งผลให้ดวงจันทร์เต็มดวงในคืนนั้นมีขนาดปรากฏเล็กกว่าปกติเล็กน้อย ชมได้จนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 14 เมษายน 2568
...
ดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นวงรี 1 รอบ ใช้เวลาประมาณ 27.3 วัน ในแต่ละเดือนจะมีทั้งวันที่ดวงจันทร์ใกล้โลกและไกลโลก ตำแหน่งที่ดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุด เรียกว่า เปริจี (Perigee) มีระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 357,000 กิโลเมตร และตำแหน่งที่ดวงจันทร์ไกลโลกที่สุด เรียกว่า อะโปจี (Apogee) มีระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 406,000 กิโลเมตร การที่ผู้คนบนโลกมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงในคืนที่ดวงจันทร์โคจรเข้ามาใกล้หรือไกลโลกมีขนาดที่แตกต่างกัน นับเป็นเหตุการณ์ปกติที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์

ขณะที่ดวงจันทร์อยู่ในตำแหน่งไกลโลกที่สุด หรือใกล้โลกที่สุด อาจไม่ใช่วันที่ดวงจันทร์เต็มดวงก็ได้ แต่ในวันที่ 13 เมษายน 2568 เป็นวันที่ดวงจันทร์เต็มดวงอยู่ในระยะทางที่ไกลโลกมากที่สุดพอดี สำหรับปรากฏการณ์ "ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี" หรือ ซูเปอร์ฟูลมูน (Super Full Moon) จะเกิดขึ้นในคืนวันที่ 5 พฤศจิกายน 2568 ดวงจันทร์เต็มดวงจะมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย