น้ำพุร้อนเปลี่ยนสี หลังเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ กระทบแร่ธาตุน้ำใต้ดิน ทำน้ำพุร้อนเปลี่ยนสี "นักวิชาการ" เตือนไม่ใช่ลางร้ายอย่างเข้าใจ ชี้ไม่นานสีของน้ำจะกลับมาปกติ


ดร.ประหยัด นันทศีล ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีเคมี หินแปรและหินอัคนี ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความเห็นถึงกรณีน้ำพุร้อนเปลี่ยนสีหลายแห่งในไทยว่า ปกติน้ำพุร้อนจากแหล่งธรรมชาติไม่มีสี หรือบางแห่งมีสีขึ้นอยู่กับพื้นที่ แต่การที่น้ำพุร้อนมีสีขึ้นมา เนื่องจากค่าพีเอช (pH) เปลี่ยน


เพราะเวลาแผ่นดินไหว มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากหินที่อื่นมาปนกับแหล่งเดิม ทำให้ค่าของน้ำมีพีเอชเปลี่ยน จนมีความเป็นด่างมากขึ้น เลยเปลี่ยนธาตุเหล็กที่ปกติละลายอยู่ในน้ำเปลี่ยนรูปเป็นของแข็งในรูปของสนิมเหล็ก


ในพื้นที่ที่มีน้ำพุร้อนล้วนแต่มีมวลหินแกรนิต ไม่ว่าเป็นน้ำพุร้อนที่ อ.พบพระ หรือที่ศรีสวัสดิ์ อีกหลายแห่งตลอดแนวชายแดนไทยเมียนมาร์ บางพื้นที่หินแกรนิตพวกนี้แทรกขึ้นมาสัมผัสกับหินปูนที่มีอยู่ก่อนแล้ว การสัมผัสกันระหว่างแกรนิตกับหินปูนทำให้เกิดการแปรสภาพของหินปูนขึ้น การแปรสภาพนี้มีหลายปฏิกิริยาเกิดขึ้นจากกลุ่มแร่ที่เป็นสารตั้งต้นที่อยู่ในหินปูน

...


เมื่อทำปฏิกิริยาแล้วได้แร่ที่เป็นผลิตผลจากปฏิกิริยานั้น ทีนี้บางปฏิกิริยาก็ปล่อยน้ำออกมาปนอยู่ด้วย และมีหลายปฏิกิริยาที่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นจึงทำให้เกิดเป็นฟองก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แทรกอยู่ในเนื้อหิน ซึ่งรอเวลาที่จะเล็ดลอดผ่านรอยแตกของหินออกมาสู่ผิวโลก เมื่อรอยเลื่อนขยับตัวอาจจะให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เหล่านี้เคลื่อนตัวมาผสมน้ำพุร้อน และทำให้ค่าความเป็นด่างของน้ำพุนั้นสูงขึ้น ส่งผลให้ไอออนเหล็กที่ละลายอยู่ในน้ำเปลี่ยนรูปไปเป็นตะกอนเหล็ก หรือสนิมเหล็กดังที่เห็นอยู่

“ในหินเมื่อมีการแปรสภาพอาจมีบางปฏิกิริยาที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาทำให้คาร์บอนไดออกไซด์ที่อยู่ตามโพรงหินใต้ดิน เมื่อเกิดแผ่นดินไหว ก๊าซพวกนี้จะเลื่อนตัวออกมา เมื่อมาเจอน้ำใต้ดินที่เป็นน้ำพุร้อน ทำให้เกิดการเปลี่ยนสีสันขึ้น"


จากแผ่นดินไหวรอบนี้ ทำให้น้ำพุร้อนมีการเปลี่ยนสีมาก ไล่ตั้งแต่ จ.แม่ฮ่องสอน ไปจนถึง อ.พบพระ จ.ตาก ส่วนพื้นที่ จ.กาญจนบุรี น้ำพุร้อนบางแห่งไม่ได้เปลี่ยนสี เนื่องจากบริเวณนั้นไม่มีแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์อยู่


ระยะเวลาของการเปลี่ยนสีของน้ำพุร้อน มีเวลายาวนานแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความเป็นกรดและด่างในพื้นที่นั้น เช่น มีน้ำโซดาผุดมาจาก อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี เมื่อ 2 ปีก่อน ซึ่งปัจจุบันน้ำโซดาเริ่มลดลง เพราะกระเปาะของคาร์บอนไดออกไซด์ที่อยู่ใต้ดิน ได้ถูกใช้จนใกล้หมดแล้ว

ปกติกระบวนการน้ำพุร้อนเปลี่ยนสี ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ ทำให้มีคราบสนิมเคลือบบนเครื่องใช้ต่างๆ อย่างบางพื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวบ่อน้ำพุร้อน ก็จะมีคราบสนิม จนน้ำไม่น่าใช้งาน

...

กรณีน้ำพุร้อนเปลี่ยนสี เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ ที่สามารถเกิดขึ้นได้ และไม่ใช่ลางร้ายอย่างที่ชาวบ้านเข้าใจ ส่วนการพุ่งออกมาของภูเขาไฟโคลน ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ต่อเนื่องมาจากแผ่นดินไหว เพราะน้ำที่ถูกกักไว้ในชั้นตะกอนใต้ดิน ปกติน้ำเป็นสสารที่ไม่สามารถกดให้ยุบลงได้ (incompressible liquid)

ดังนั้นเมื่อเกิดแผ่นดินไหวจะทำให้เม็ดตะกอนไปกดอัดน้ำที่อยู่ในช่องว่างระหว่างเม็ดตะกอน เมื่อถูกกดมากๆ น้ำจะชนะแรงกดจนพุ่งขึ้นมาทำให้หินตะกอนพุ่งขึ้นมาซึ่งเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Liquefaction ซึ่งสามารถทำให้อาคารสูงล้มทั้งยืนได้หากเกิดขึ้นใต้อาคาร ดังที่เคยเกิดมาแล้วที่ประเทศไต้หวันเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2018