มือถือ "แตงโม นิดา" หลักฐานสำคัญแกะรอยคดี "นักอาชญาวิทยา" มองน้ำหนักคดี ต้องนำไปเปรียบเทียบกับการเคลื่อนไหวของคนในเรือ ชี้ข้อมูลสำคัญที่ถูกลบ ถ้ามีอาจทำให้เกิดข้อสันนิษฐานใหม่

กรณี พ.อ.นพ.ธวัชชัย กาญจนรินทร์ เดินทางไปรับโทรศัพท์มือถือของ "แตงโม นิดา" จาก "บังแจ็ค" ที่ต่างประเทศ นำกลับมามอบให้กรมสอบสวนคดีพิเศษไปมอบให้เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ใช้ในการเก็บข้อมูลคดีแตงโม

การเสียชีวิตของ "แตงโม นิดา" ทำท่าจะกลายเป็นมหากาพย์ในการค้นหาความจริงคล้ายกับคดีที่เคยมีการฆ่าตัวตายของคุณห้างทองเมื่อหลายสิบปีก่อน และสะเทือนถึงความไม่ชัดเจน กระทบถึงในการค้นหาความจริงในหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์

แม้มีคำตัดสินออกมาในเบื้องต้นแล้ว แต่ทว่าสังคมยังไม่จบ มีความพยายามเข้าไปตรวจสอบหาข้อมูลหลักฐาน รวมทั้งการพยายามทดลอง หรือจำลองเหตุการณ์การตกเรือในหลายรูปแบบ เพื่อนำไปสู่ประเด็น "เหตุอันควรต้องสงสัย" ในหลากหลายมิติ เท่านั้นยังไม่พอ ยังมีปรากฏตามสื่อที่เป็นประเด็นในเรื่องของโทรศัพท์มือถือของคุณแตงโม โดยมีการเดินทางไปรับด้วยตนเองของนายแพทย์ท่านหนึ่งจากบังแจ็คที่อ้างว่าแม่ของแตงโมเป็นคนมอบให้ แล้วนำมาส่งโดยตรงต่อ DSI หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษและให้นิติวิทยาศาสตร์มาดำเนินการเก็บไปเพื่อตรวจพิสูจน์ทันที

...

มือถือแตงโมนั้นสำคัญไฉน แสดงอะไร และใช้เพื่ออะไร? สังคมอยากรู้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐนันดร์ศักดิ์ บวรนันทกุล นักอาชญาวิทยา อดีตประธานคณะกรรมการบริหารหลักสูตรปริญญาเอก (นานาชาติ) ด้านอาชญาวิทยา การบริหารงานยุติธรรมและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล วิเคราะห์ว่า เป็นความพยายามที่จะนำเอาโทรศัพท์มือถือไปเป็นหลักฐานในทางนิติวิทยาศาสตร์เพื่อแสดงให้ชัดเจนว่า สถานที่และเวลานั้น ตรงกับข้อเท็จจริงไหมหรือการอ้างอิงสถานที่กับเวลา (Space and time) หรือไม่

ตามหลักการนั้น โทรศัพท์มือถือนั้นถือว่าเท่ากับสิ่งที่ติดตามตัวกับเจ้าของไปทุกที่ โดยเฉพาะหากมีการนำเอาไปตรวจความสอดคล้องกับข้อมูลการสื่อสารในเวลาดังกล่าวหรือเทียบกับข้อมูลอื่นๆ พฤติกรรมการใช้ เหล่านี้ เป็นต้น เป็นสิ่งที่สามารถใช้อ้างถึง ตำแหน่ง แหล่งที่อยู่และเวลา
เราสามารถตรวจสอบการเข้าถึงตำแหน่งที่อยู่เชิงกายภาพ และการเคลื่อนไหวของบุคคลได้จากโทรศัพท์มือถือ รวมทั้งติดตามการเคลื่อนที่ของบุคคล จากการที่โทรศัพท์มือถือนั้น

เปรียบเสมือนอุปกรณ์ที่มีคุณสมบัติเหมือนการใช้เครื่อง GPS นั่นเอง (แม้ว่าเราจะมีการติดตั้ง GPS ในรถยนต์ เพื่อติดตามการเคลื่อนที่ของรถยนต์ แต่หากรถยนต์มีการจอดและบุคคลออกจากรถยนต์ การติดตามตัวบุคคลจาก GPS รถยนต์ก็ยุติลง แต่โทรศัพท์เคลื่อนที่นั้นก็จะติดตามตัวเจ้าของต่อไป) โทรศัพท์มือถือนั้นไม่เพียงติดตามเจ้าของไปทุกที่แต่ในเวลาเดียวกันจะส่งข้อมูลไปยัง (บริษัท) ผู้ให้บริการ รวมทั้งยังส่งข้อมูลการเคลื่อนที่ของผู้ใช้โดยละเอียดและสมบูรณ์ ไปเก็บไว้ จึงสามารถตรวจสอบวัน เวลา สถานที่เกิดเหตุนั้นได้

ข้อมูลมือถือจึงมีความสำคัญ ดังนี้

ประการแรก การที่ระบุว่า คุณแตงโมอยู่บนเรือที่วิ่งออกเวลาใด ใช้เวลาบนเรือวิ่งในแม่น้ำไปทางไหน ใช้เวลาเท่าไหร่ ในส่วนนี้สามารถตรวจสอบโทรศัพท์มือถือนั้น เทียบกับ GPS ของเรือนั้น ตามเวลาและสถานที่เทียบกันได้ว่า อยู่บนเรือเวลาไหน เคลื่อนที่ไปอย่างไร GPS กับเส้นทางของโทรศัพท์ไปทิศทางเดียวกัน เวลาเดียวกันหรือไม่อย่างไร อาจรวมทั้งการตรวจสอบจากกล้อง CCTV บริเวณนั้นมาประกอบกันได้

ประการที่สอง การตรวจสอบเนื้อความการสื่อสารต่างๆ ข้อความรูปถ่าย การติดต่อเชื่อมโยง ความสัมพันธ์ในการติดต่อสื่อสารได้ ในส่วนนี้ คือการตรวจสอบข้อมูลในโทรศัพท์แตงโม ซึ่งก็จะมีข้อมูล 2 ประเภท คือข้อมูลที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เช่น ข้อความสนทนา รูปถ่าย ข้อความในไลน์ ในเฟซ ในเพจ หมายเลขโทรเข้าออก รายชื่อเพื่อน กับข้อมูลที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เพราะถูกลบ หรือซ่อนอยู่ เช่น ข้อมูลการเข้าเว็บไซต์ ข้อมูลการติดต่อสื่อสารของโทรศัพท์กับผู้ให้บริการเครือข่าย ข้อมูลรูปภาพที่ซ่อนไว้ ข้อมูลที่ลบแล้ว หรือไฟล์เสียงสนทนาทางโทรศัพท์ที่เราไม่ได้ตั้งใจบันทึกไว้ แต่ระบบบันทึกไว้เอง เป็นต้น

ถ้าเป็นข้อมูลติดต่อสื่อสาร จะเรียกว่า ข้อมูลจราจรหรือ Traffic data ซึ่งอยู่ในเซิร์ฟเวอร์ ของผู้ให้บริการเชื่อมต่อเครือข่าย (ISP) หรืออยู่ที่เสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ (cellsite) อันนี้ เจ้าหน้าที่จะต้องร้องขอหรือเรียกให้ ISP ส่งมาให้ แต่ถ้าเป็นข้อมูลที่อยู่ในหน่วยความจำของโทรศัพท์มือถือเอง เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญต้องใช้โปรแกรมพิเศษในการช่วยค้นหาตรวจสอบ ตรงนี้จะต้องอาศัยกองพิสูจน์หลักฐานของตำรวจ หรือสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม หรือกระทรวงดิจิทัล ที่จะใช้โปรแกรมที่ใช้สำหรับตรวจสอบคอมพิวเตอร์ คือ เครื่องมือ โปรแกรมและอุปกรณ์ที่ใช้ตรวจสอบคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ เป็น software ชนิดหนึ่ง ที่ใช้สำหรับตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานคอมพิวเตอร์ (computer forensic) เช่น ซอฟต์แวร์ ชื่อ Encase (เอ็น-เคส) และ FTK เป็นต้น

...

น้ำหนักของหลักฐานบนมือถือ "แตงโม นิดา”

ข้อมูลสองส่วนนี้ หากมีรายละเอียด มีความถูกต้องและเพียงพอสามารถที่จะบ่งได้ว่า มีเหตุอันควรสงสัยหรือไม่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐนันดร์ศักดิ์ ระบุว่า อาจยังไม่เพียงพอถ้าจะเชื่อมโยงกันก็อาจจำเป็นต้องตรวจพิสูจน์ไปพร้อมกับโทรศัพท์ของเพื่อนคนอื่น ๆ ที่อ้างอิงหรือให้ปากคำด้วย เช่น ถ้ามีคนอ้างว่าอยู่บนเรือด้วยกัน คือร่วมในสถานที่เดียวกันแต่หากตำแหน่งมือถือ เวลาไม่สอดคล้องกัน หรืออ้างว่ามีกิจกรรมร่วมกันในสถานที่แต่ตรวจมาแล้ว ไม่ใช่

แต่หากตรวจแล้ว การตรวจทั้งสองประการที่ว่ามาไม่สอดคล้องก็ถือว่ามีเหตุอันควรสงสัย หรือมีข้อพิรุธเหล่านี้ เป็นต้น ส่วนการแสวงหาหลักฐานทางคอมพิวเตอร์ เพื่อพิสูจน์ตัวผู้กระทำความผิดมีวิธีการขั้นตอนที่สามารถทำได้อย่างเป็นระบบและเจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจตามกฎหมายที่จะทำได้ เริ่มต้นอย่างน้อยโดยการเก็บข้อมูลที่ระบุแหล่งที่อยู่ของข้อความนั้นๆ หรือที่เรียกว่า URLs (Uniform Resource Locator) และตำรวจยังมีอำนาจตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 18 (2) (3) ที่จะเรียกข้อมูลจากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเพื่อทราบหมายเลข IP Address ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต ชื่อและที่อยู่ของเจ้าของหมายเลข IP Address นั้น

...

รวมทั้งอำนาจตามมาตรา (5) (6) ที่จะตรวจยึดคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์สมาร์ทโฟนของผู้ต้องสงสัย เพื่อตรวจสอบหาหลักฐานเกี่ยวกับการเข้าใช้งานบัญชีโซเชียลมีเดียและการโพสต์ข้อความด้วย ส่วนการรับฟังเป็นพยานหลักฐานนั้น ไม่มีปัญหาใน พ.ร.บ. ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ มาตรา 11 วางหลักไว้ว่า

“ห้ามมิให้ปฏิเสธการรับฟังข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เป็นพยานหลักฐานในกระบวนการพิจารณาตามกฎหมายทั้งในคดีแพ่ง คดีอาญา หรือคดีอื่นใด เพียงเพราะเหตุว่าเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานว่าข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์จะเชื่อถือได้หรือไม่เพียงใดนั้นให้พิเคราะห์ถึงความน่าเชื่อถือของลักษณะหรือวิธีการที่ใช้สร้าง เก็บรักษา หรือสื่อสารข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ลักษณะหรือวิธีการเก็บรักษา ความครบถ้วน และไม่มีการเปลี่ยนแปลงของข้อความลักษณะ หรือวิธีการที่ใช้ในการระบุหรือแสดงตัวผู้ส่งข้อมูล รวมทั้งพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องทั้งปวง ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับกับสิ่งพิมพ์ออกของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ด้วย”