นักโบราณคดีขุดพบแผ่นทอง-ภาชนะดินเผาที่เรียกว่า "พิมายดำ” พร้อมโครงกระดูกมนุษย์โบราณ หลักฐานสำคัญโบราณคดีโนนพลล้าน จ.นครราชสีมา คาดเป็นแหล่งฝังศพยุคก่อนประวัติศาสตร์สมัยเหล็ก อาจเก่าถึงสมัยสำริด พร้อมเปิดให้ประชาชนศึกษา

นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา ได้รายงานผลดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดี ภายใต้โครงการศึกษาร่องรอยมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ในพื้นที่เมืองเก่านครราชสีมา บริเวณแหล่งโบราณคดีโนนพลล้าน ต.ในเมือง อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา ที่ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม – 12 กุมภาพันธ์ 2568 บริเวณเดียวกับที่ได้ทำการขุดค้นครั้งแรกเมื่อปี 2567 พบโครงกระดูกมนุษย์ทั้งหมด 6 โครง อยู่ในสภาพสมบูรณ์ 2 โครง และพบโบราณวัตถุ ภาชนะดินเผาแบบที่มีชื่อทางวิชาการว่า “พิมายดำ” เครื่องมือเหล็ก กระสุนดินเผา ชิ้นส่วนสำริดและอุปกรณ์สำหรับทอผ้า ได้แก่ แวดินเผา

...
การขุดค้นที่ระดับความลึก 100 - 180 เซนติเมตร จากผิวดินพบการฝังศพของมนุษย์ในลักษณะนอนหงายเหยียดยาว จำนวน 6 โครง ถูกฝังร่วมกับของอุทิศให้กับผู้ตาย ความพิเศษอยู่ที่โครงกระดูกมนุษย์หมายเลข 1 พบการฝังภาชนะดินเผาแบบพิมายดำ สอดคล้องกับข้อสันนิษฐานที่ต่อเนื่องมาจากปีที่แล้วว่า แหล่งโบราณคดีโนนพลล้าน เป็นแหล่งฝังศพของวัฒนธรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์สมัยเหล็ก มีอายุสมัยอยู่ในช่วง 1,500 - 2,400 ปีมาแล้ว

และยังพบแผ่นทองคำ ขนาด 0.1 x 0.01 มิลลิเมตร ที่ระดับความลึก 180 เซนติเมตรจากผิวดิน เริ่มพบภาชนะดินเผาแบบบ้านปราสาท ที่พบจากแหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท อ.โนนสูง จำนวน 3 ใบ และขวานหินขัด จำนวน 1 ชิ้น ซึ่งต้องขุดค้นต่อไปว่า ระดับชั้นดินที่ลึกลงไปจะเปลี่ยนจาก “ชั้นวัฒนธรรมสมัยเหล็ก” เข้าสู่ “ชั้นวัฒนธรรมสมัยสำริด” หรือไม่ จะช่วยกำหนดอายุของช่วงเวลาการมีอยู่ของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ในพื้นที่เมืองเก่านครราชสีมา

การดำเนินงานทางโบราณคดีในครั้งนี้ นอกจากนักโบราณคดีของกรมศิลปากรแล้ว ยังมีอาสาสมัครโบราณคดีราชสีมา จากนักศึกษาสาขาวิชาสังคมศึกษา และสาขาวิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เข้ามาเป็นผู้ช่วยขุดค้นทางโบราณคดี ตลอดจนใช้กระบวนการทางชีววิทยาเพื่อศึกษาวิเคราะห์สภาพแวดล้อมโบราณของพื้นที่บริเวณนี้ต่อไป นับเป็นการบูรณาการความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม

สำหรับการต่อยอดวิชาการแล้ว สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมายังดำเนินการ “ผสานชุมชน” ด้วยการเปิดนิทรรศการข้างหลุมขุดค้น เรื่อง “สืบร่องรอยมนุษย์โบราณ เมืองเก่านครราชสีมา จากหลักฐานทางโบราณคดี” ให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ตลอดจนผู้สนใจเดินทางเข้ามาศึกษาเรียนรู้ควบคู่ไปพร้อมกับการเยี่ยมชมการขุดค้น ซึ่งจะทำให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความรักและหวงแหนมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติเพิ่มขึ้นอีกด้วย.