ลาออก-เลิกจ้าง ปี 68 เปิดกฎหมายแรงงาน คุ้มครองสิทธิลูกจ้าง มัดรวมเงินพิเศษ กรณีถูกให้ออกจากงานกลางครัน และเงินชดเชยหากตัดสินใจลาออกเพื่อความสบายใจ
เข้าสู่ปีใหม่ 2568 หลังผ่านสารพัดข่าวการเลิกจ้างไม่เว้นวันทั้งบริษัทไทย หรือแม้แต่บริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ ทั้งใช้วิธีเลิกจ้างโดยจ่ายเงินค่าชดเชย ตามกฎหมาย ให้ลูกจ้างเขียนใบลาออกไปเอง แต่หนักสุด คือ เลิกจ้างแบบลอยแพ ไม่จ่ายเงินใดๆ ปิดบริษัทหนีหายไปแบบ ไม่มีไม่หนีไม่จ่าย
“ทนายนราธิป ฤทธินรารัตน์” สำนักกฎหมายเนตินรา&โทมัส ลอว์ ให้ข้อมูลว่า ตามกฎหมายสิทธิของลูกจ้างหากปลายปี ตัดสินใจยื่นขอลาออกจากงานเอง หรือถูกเลิกจ้าง
เพื่อให้ลูกจ้างสามารถรักษาสิทธิประโยชน์สุดท้ายของตนเองให้เป็นไปตามกฎหมาย เพื่อนำเงินเหล่านั้นไว้ใช้ในยามฉุกเฉินต่อไปได้
โดยแบ่งเป็น 3 กรณีด้วยกัน ดังนี้
1. ลาออกเอง
มีสิทธิได้รับเงิน ดังต่อไปนี้
- 1.1 เงินชดเชยจากประกันสังคม
กรณีที่มีประกันสังคมอยู่แล้ว เมื่อได้ลาออกไป ลูกจ้างสามารถลงทะเบียนเป็นคนว่างงานกับประกันสังคมได้ โดยจะได้รับค่าชดเชยจากกรณีว่างงาน 30% ของค่าจ้างเฉลี่ย ภายในระยะเวลา 90 วัน
ทั้งนี้ ลูกจ้างต้องขึ้นทะเบียนหางานกับสำนักงานจัดหางานภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ออกจากงาน
...
- 1.2 เงินสะสมจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คือ กองทุนเงินที่นายจ้างกับลูกจ้างตกลงร่วมกัน เพื่อออมเงินเก็บไว้ในกรณีที่ลูกจ้างเกษียณอายุแล้ว หรือไม่ได้ทำงานต่อแล้ว โดยจะได้รับเงินในส่วนที่หักส่งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพคืน และส่วนผลประโยชน์ฝ่ายพนักงาน
แต่จะได้รับในส่วนเงินสมทบจากนายจ้าง และผลประโยชน์เงินสมทบฝ่ายนายจ้างหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขระเบียบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งจะพิจารณาจากอายุงาน และอายุการเข้าเป็นสมาชิกกองทุนขณะยื่นถอนการเป็นสมาชิก
- 1.3 โบนัส
โบนัสเป็นเงินพิเศษ ไม่มีกฎหมายบังคับว่าบริษัทจะต้องจ่ายเงินโบนัสในทุกปี เว้นแต่จะทำข้อตกลงกันไว้ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง
โดยเงินโบนัสจะได้รับต่อเมื่อเป็นการลาออกในช่วงปลายปี หรือสิ้นปี หรือในช่วงเวลาการจ่ายโบนัส ซึ่งต้องพิจารณาตามระเบียบการจ่ายโบนัสของบริษัทเป็นสำคัญ และเป็นดุลพินิจของบริษัทในการกำหนดเงื่อนไข
ซึ่งผู้ให้ข้อมูลเคยพบกรณีที่บริษัทจ่ายเงินโบนัสให้พนักงานไปก่อน แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องทำงานอยู่จนถึงสิ้นเดือนมกราคมปีหน้า เช่นนี้หากพนักงานได้รับเงินโบนัสช่วงปลายปีไปแล้ว แต่ไม่มาทำงานอีกเลย บริษัทก็มีสิทธิ์เรียกคืนและฟ้องร้องขอคืนเงินโบนัสได้
ลูกจ้างจึงควรศึกษาระเบียบเรื่องการจ่ายโบนัสประกอบการลาออกให้ดี
เหตุถูกเลิกจ้าง โดยไม่มีการกระทำความผิด
2.ถูกเลิกจ้าง
(กรณีไม่ได้ถูกเลิกจ้างด้วยเหตุกระทำความผิด)
มีสิทธิได้รับเงิน ดังต่อไปนี้
- 2.1 ค่าชดเชย
ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 ซึ่งจะได้มากน้อยเพียงใดนั้น ให้คำนวณจากอายุงานและอัตราค่าจ้างสุดท้าย ดังนี้
• ลูกจ้างทำงานครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ได้รับค่าชดเชย เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน
• ลูกจ้างทำงานครบ 1ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี ได้รับค่าชดเชย เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน
• ลูกจ้างทำงานครบ 3ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี ได้รับค่าชดเชย เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน
• ลูกจ้างทำงานครบ 6ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี ได้รับค่าชดเชย เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน
• ลูกจ้างทำงานครบ 10 ปี ขึ้นไป ได้รับค่าชดเชย เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน
• ลูกจ้างทำงานครบ 20 ปี ขึ้นไป ได้รับค่าชดเชย เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วัน
...
- 2.2 ค่าชดเชยแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
กรณีนี้ จะได้ต่อเมื่อบริษัทเลิกจ้างกะทันหัน โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17
- 2.3 เงินชดเชยจากประกันสังคม
ลูกจ้างสามารถลงทะเบียนเป็นคนว่างงานกับประกันสังคมได้ โดยจะได้รับค่าชดเชยจากกรณีว่างงาน 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย ภายในระยะเวลา 180 วัน
- 2.4 เงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
มีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งส่วนเงินสะสมของลูกจ้าง ผลประโยชน์ของเงินสะสม และส่วนเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบของฝ่ายนายจ้าง
โดยนายจ้างจะเป็นผู้ดำเนินการส่งรายงานการสิ้นสภาพการเป็นสมาชิกของกองทุนให้พนักงาน
-2.5 ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี
ลูกจ้างจะต้องได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่สะสมมาในปีก่อนและในรอบปีปัจจุบันที่ถูกเลิกจ้างและไม่ได้ใช้สิทธิวันหยุดพักผ่อนประจำปี
- 2.6 โบนัส
สำหรับการได้รับโบนัสกรณีถูกเลิกจ้างนั้น มีหลักเกณฑ์ที่คล้ายคลึงกับกรณีลาออกเอง
โดยพิจารณาจากระเบียบการจ่ายเงินโบนัสเป็นสำคัญ
คือ ถ้าในวันครบกำหนดจ่ายโบนัส พนักงานยังมีสถานะเป็นพนักงานหรือลูกจ้างอยู่ นายจ้างต้องจ่ายเงินโบนัสตามระเบียบ แต่หากถูกเลิกจ้างก่อนวันครบกำหนดจ่ายโบนัส นายจ้างก็ไม่จำต้องจ่ายเงินโบนัส
แต่เท่าที่ผู้ให้ข้อมูลได้พบเห็นหากมีการเลิกจ้างโดยไม่ได้กระทำความผิด เงินโบนัสถือเป็นเงื่อนไขในการใช้เลิกจ้างลูกจ้าง โดยบริษัทจะจ่ายเงินโบนัสให้แก่ลูกจ้างแลกกับการให้ลงลายมือชื่อในหนังสือเลิกจ้าง เพื่อยุติปัญหาการฟ้องร้องในภายภาคหน้า
- 2.7 เงินพิเศษ
เงินพิเศษถือเป็นเงื่อนไขสำคัญขึ้นอยู่กับบริษัทที่จะเสนอให้แก่ลูกจ้าง โดยมักจะจ่ายเงินให้กรณีที่บริษัทอ้างเหตุผลเลิกจ้างว่า ต้องการปรับปรุงโครงสร้างองค์กร ลดภาระค่าใช้จ่าย โดยจะเสนอให้แก่พนักงานในระดับสูงหรือระดับบังคับบัญชา หรือพนักงานที่ทำงานมานาน ซึ่งตัวเลขเงินพิเศษนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมที่บริษัทจะพิจารณาหรือลูกจ้างจะเสนอเพื่อต่อรอง
...
โดยเมื่อได้รับเงินพิเศษนี้แล้ว ลูกจ้างจะต้องลงชื่อในหนังสือเลิกจ้างและระงับซึ่งสิทธิในการฟ้องร้องในภายภาคหน้า
ถูกเลิกจ้ากรณีมีการกระทำผิด
3. ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง
(กรณีถูกเลิกจ้างด้วยเหตุกระทำความผิด)
หากลูกจ้างถูกเลิกจ้างจากเหตุกระทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119
ลูกจ้างจะไม่ได้รับสิทธิ ดังนี้
- ค่าชดเชยตามกฎหมาย
- ค่าชดเชยแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
- เงินทดแทนจากประกันสังคม
- โบนัส
แต่จะมีสิทธิได้รับเงินดังต่อไปนี้
- 3.1 เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ลูกจ้างจะมีสิทธิได้รับเงินในส่วนของเงินสะสมของลูกจ้างและผลประโยชน์ของเงินสะสมของลูกจ้าง แต่จะไม่มีสิทธิได้รับเงินสะสมที่นายจ้างจ่ายสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบฝ่ายนายจ้าง
-3.2 ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี
พนักงานมีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่สะสมมา และยังไม่ได้ใช้วันหยุดนั้น แต่จะไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีปัจจุบันที่ถูกเลิกจ้างและไม่ได้ใช้
ทั้งหมดนี้จึงเป็นสิทธิที่ลูกจ้างควรจะทราบหากตัดสินใจลาออกในช่วงปลายปี หรือถูกเลิกจ้างในช่วงปลายปีจะได้รักษาสิทธิประโยชน์ของตนไว้ และได้เริ่มต้นใหม่ในปีหน้าที่จะถึง 2568