เพราะอะไร “วัด” ในประเทศไทยจึงถูกตั้งเครื่องหมายคำถาม ในเรื่องของการตรวจสอบทางการเงิน และประเด็นนี้มีความสุ่มเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน?

เพราะอะไร “วัด” ในประเทศไทยจึงถูกตั้งเครื่องหมายคำถาม ในเรื่องของการตรวจสอบทางการเงิน จำนวนวัดที่มีอยู่มากมาย การไม่มีกฎระเบียบสำหรับการควบคุมหรือตรวจสอบที่ชัดเจน อาจกลายเป็น “จุดอ่อน” สำหรับคนบางกลุ่มที่มุ่งหาผลประโยชน์จากวัดหรือไม่ ทั้งหมดนี้ “เรา” ลองไปรับฟังข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาร่วมกัน จาก "น.ส.ธารทิพย์ ศรีสุวรรณเกศ" นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI 

"น.ส.ธารทิพย์ ศรีสุวรรณเกศ" นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI

...

ผู้ร่วมทำงานวิจัยแนวโน้มการฟอกเงินในประเทศไทย : ศึกษาเฉพาะกรณีการฟอกเงินผ่านนิติบุคคลและธุรกิจบังหน้า ทนายความและนักบัญชี บริษัทนำเที่ยว ทรัสต์ต่างประเทศที่ดำเนินการในประเทศไทย การเล่นแชร์ที่มีการฉ้อโกง และการฟอกเงินผ่านองค์กรไม่แสวงหากำไร ของ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI 

เพราะอะไร วัด จึงสุ่มเสี่ยงต่ออาชญากรและขบวนการฟอกเงิน :

“มี 3 ปัจจัย ที่นำไปสู่ความเสี่ยงในเรื่องนี้ คือ 1.จำนวนวัดในประเทศไทย จำนวนวัดทั้งหมดที่มีการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือ พศ. ทั่วประเทศ (ไม่รวมสำนักสงฆ์) มีรวมกันมากกว่า 41,000 วัด ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การกำกับดูแลและตรวจสอบจึงเป็นไปได้ยากและไม่ทั่วถึง 

2. วัดที่ขึ้นทะเบียนกับ พศ. จะได้รับเงินสนับสนุนจากทางภาครัฐ ทั้งในเรื่องของการบูรณะซ่อมแซมเพื่อการศึกษาปริยัติของพระและเณรในวัด รวมถึงทำกิจกรรมเผยแพร่ทางศาสนาต่างๆ 

3. วัดเป็นสถานที่ ที่ต้องเกี่ยวข้องกับเงินสดจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นทั้งเงินสดจากตู้บริจาค ค่าเช่าที่ รวมถึงการเปิดให้เช่าวัตถุมงคลต่างๆ 

ด้วยเหตุนี้จึงอาจกลายเป็นช่องทางสำหรับคนที่คิดไม่ดี หรือ กลุ่มอาชญากร อาจหวังใช้เป็นช่องทางสำหรับการทั้งการหาเงิน และการฟอกเงินได้  

เพราะอะไรจึงตรวจสอบการเงินของวัดไม่ได้ :  

“หากจะให้พูดกันอย่างตรงไปตรงมา นอกจากประเด็นเรื่องวัดที่มีอยู่จำนวนมากแล้ว ประเด็นในเรื่องกฎหมายบ้านเราเอง ก็ยังไปไม่ถึงวัดด้วย เพราะยังไม่มีกฎหมายฉบับใดเลยที่มีข้อกำหนดให้สามารถเข้าไปตรวจสอบบัญชีของวัดได้ เพราะวัดได้รับการยกเว้น เป็นองค์กรที่ไม่ต้องส่งบัญชีรายรับ-รายจ่าย ต่างๆ ให้สรรพากรได้รับทราบ 

นอกจากนี้ เงินสดจำนวนมากที่บริจาคเข้าวัด ไม่ว่าจะเป็นทั้ง กฐิน ผ้าป่า ซึ่งคร่าวๆน่าจะมีมูลค่าเฉลี่ยถึงปีละ 2-3 ล้านบาท นั้น ยังไม่มีการตรวจสอบอีกด้วยว่า คนที่บริจาคเป็นใคร ทำอาชีพอะไร หรือเป็นเงินที่มาจากการทุจริตหรือไม่ 

ซึ่งทั้งหมดนี้ ในความเห็นส่วนตัวคิดว่า น่าจะเป็นจุดอ่อนสำคัญ ที่ควรจะต้องมีการปรับปรุงกันต่อไปในอนาคต”

แล้ววัดไม่ได้ทำบัญชีหรือครับ? ทีมข่าวสอบถามทันที 

“วัดในประเทศไทยมีเพียงแนวทางปฏิบัติเท่านั้น ว่าจะต้องทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย แต่ให้วัดเก็บบัญชีไว้ที่วัดเองเท่านั้น โดยไม่จำเป็นต้องส่งให้ใคร หรือ องค์กรใดตรวจสอบ 

...

และมีเพียงกรณีเดียวเท่านั้น ที่จะมีการนำบัญชีของทางวัดออกมาใช้ คือ เมื่อจะขอยื่นเป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง หรือวัดดีเด่น ขณะเดียวกันสิ่งที่น่าตั้งข้อสังเกตในประเด็นนี้ คือ แม้ว่า พศ. จะให้วัดนำส่งบัญชีทุกเดือนแต่มันก็เป็นเพียงแนวปฏิบัติ ไม่ได้มีข้อบังคับหรือบทลงโทษใดๆ หากวัดใดไม่ยอมปฏิบัติตาม” 

ใครคือผู้รับผิดชอบเงินทั้งหมดภายในวัด : 

“ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ผู้ที่ทำหน้าที่ในการดูแลเรื่องการเงินของวัดทั้งหมด คือ เจ้าอาวาส อย่างไรก็ดี เจ้าอาวาส สามารถใช้อำนาจแต่งตั้งให้ใครมาทำหน้าที่นี้ก็ได้ และอาจไม่จำเป็นต้องมีการลงลายมือชื่อเอาไว้เป็นลายลักษณ์อักษรด้วยซ้ำไป” 

การบริหารจัดการเงินรายได้และผลกำไรทั้งหมดภายในวัด : 

“โอ้โห… (ลากเสียง) สำหรับเรื่องนี้ต้องยอมรับว่า มีความซับซ้อนมากๆ หากแต่ในหลักการและความเป็นจริง คือ เงินที่วัดได้รับบริจาคทั้งหมด มันควรจะต้องเป็นของวัด 

แต่ในส่วนของการบริหารจัดการ เราไม่มีทางได้รับทราบเลยว่า คณะบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งมาดูแลเงินบริจาคของวัด มีการนำเงินไปใช้จ่ายอะไรบ้าง และเพื่อผลประโยชน์อะไร? 

...

อยากจะขอยกตัวอย่างในประเด็นนี้เพื่อให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น สมมุติว่ามีวัดหนึ่ง ตั้งกฐินขึ้นมาเพื่อบูรณะซ่อมแซมองค์พระเจดีย์ แต่ในความเป็นจริง มันก็อาจจะแบ่งเงินบริจาคมาซ่อมแซมส่วนหนึ่งก็ได้ และส่วนที่เหลือก็อาจจะนำไปใช้ในกิจการอื่นก็ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้คนภายนอกไม่มีทางรับรู้รับทราบได้เลย และนี่คือช่องโหว่สำคัญสำหรับการที่ไม่ได้รับรู้... ในเรื่องของรายรับ-รายจ่าย รวมถึงเงินอุดหนุนจากทางภาครัฐ ของวัดในประเทศไทย” 

แบบนี้ หากเงินวัดหายไปก็ไม่มีใครทราบได้เลยใช่ไหมครับ? 

“ใช่ค่ะ เพราะไม่มีทางที่ใครจะรู้ได้เลยว่าวัดมีรายได้เท่าไร หรือเอาแค่ว่าเงินในตู้บริจาคหลายๆ ตู้ในวัดนั้น มีเงินอยู่จำนวนเท่าไหร่?”

การควบคุมจำนวนวัดให้เหมาะสม มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน :

“ถ้าเราจะพูดเรื่องการยุบวัด สำหรับในประเทศไทย ถือเป็นเรื่องที่พูดไม่ได้ หรือเป็นไปไม่ได้เลยก็ว่าได้ (หัวเราะ) 

แต่ถ้าหากเป็นเรื่องการควบคุมหรือจำกัดจำนวนเพื่อไม่มีจำนวนมากเกินไปนั้น ประเด็นนี้ควรเป็นการพิจารณาของ พศ. โดยอาจเริ่มต้นที่หากจะขึ้นทะเบียนวัดใหม่ ควรต้องมีการสำรวจหรือไม่ว่าในชุมชนละแวกนั้น มีวัดอยู่เดิมแล้วมากน้อยแค่ไหน? รวมถึงเหตุผลในการขึ้นทะเบียนวัดใหม่เพราะอะไร?”    

...

ความกังขา VS ศรัทธาของพุทธศาสนิกชน 

“สิ่งที่อยากตั้งข้อสังเกตในเรื่องความโปร่งใสและการตรวจสอบเงินบริจาคของวัด คือ เมื่อใดก็ตามที่มีเสียงเรียกร้องว่า อยากให้มีการตรวจสอบเงินบริจาคของวัด สิ่งหนึ่งต้องเผชิญคือ แรงต่อต้านจากพุทธศาสนิกชนจำนวนหนึ่ง ที่มองว่า…

เงินบริจาคเป็นเรื่องของความศรัทธาเมื่อบริจาคให้วัดไปแล้ว ก็แล้วแต่วัดเลยว่าจะนำไปใช้เพื่อการใด หรือ อะไร?....เพราะสิ่งหนึ่งที่ต้องไม่ลืม คือ มีคำว่าต้องการทำบุญซึ่งถือเป็นเรื่องพื้นฐานสำหรับชาวพุทธเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย” 

ข้อเสนอเรื่องการตรวจสอบที่ไม่เคยได้รับการตอบรับใดๆ  

“ที่ผ่านมา เรามีความพยายามเสนอแนะให้มีการเปิดเผยบัญชีรายรับ-รายจ่ายของวัด รวมถึงแจกแจงรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินของวัดทั้งหมดให้สาธารณชนได้รับทราบมาเป็นลำดับ แต่ผลที่ได้รับกลับมา คือ ไม่มีการตอบรับใดๆ”    

ข้อดีและข้อเสียของการไม่มีตรวจสอบเงินวัด : 

“ในความเห็นส่วนตัวคิดว่า นอกจากการที่เราจะมองเรื่องความศรัทธาระยะยาวมาประกอบการตัดสินใจในประเด็นนี้แล้ว เรื่องสำคัญที่ควรมีการหยิบยกมาพิจารณา คือ ในเมื่อวัดไม่สามารถตรวจสอบเรื่องการเงินใดๆได้ จึงมีความสุ่มเสี่ยงต่อการกลายเป็นสถานที่ฟอกเงินของกลุ่มอาชญากรได้ ดังจะเห็นได้จากความน่าเคลือบแคลง โดยเฉพาะกรณีการปล่อยเช่าวัตถุมงคลที่มีมูลค่าสูงผิดปกติ เพื่อเปลี่ยนเงินผิดกฎหมายให้ถูกกฎหมาย 

ขณะเดียวกันเมื่อไม่มีทำบัญชีที่เป็นหลักฐานที่ชัดเจนที่สุด การทุจริตเงินวัดที่เป็นคดีดังๆส่วนใหญ่นั้น เมื่อเข้าสู่กระบวนการกฎหมายแล้ว ส่วนใหญ่ผลการตัดสินจะเป็นเพียงแค่ การใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ ไม่ใช่การฟอกเงิน เพราะไม่มีบัญชีเป็นหลักฐานยืนยัน” 

วัด พุทธพาณิชย์ และเงินสนับสนุนจากภาครัฐ 

“สำหรับเรื่องนี้ สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจกันก่อน คือ ไม่ใช่ทุกวัดในประเทศไทยที่มีการทำพุทธพาณิชย์ เพราะโดยมากพุทธพาณิชย์มักเกิดขึ้นที่วัดขนาดใหญ่ในกรุงเทพมหานคร และตามหัวเมืองต่างๆ

แต่วัดในต่างจังหวัด โดยเฉพาะที่อยู่ในอำเภอเล็กๆ แทบจะไม่มีการทำพุทธพาณิชย์รวมถึงแทบไม่มีคนเข้าไปทำบุญด้วยซ้ำไป จนต้องอาศัยเพียงคนในชุมชนเท่านั้น เพราะฉะนั้นวัดเล็กๆเหล่านี้ จึงมีความจำเป็นต้องอาศัยเงินสนับสนุนจาก พศ.อยู่ต่อไปในเรื่องของการบูรณะซ่อมแซม หรือ ค่าใช้จ่ายต่างๆ 

ฉะนั้นสำหรับประเด็นนี้ในความเห็นส่วนตัวจึงคิดว่า สำหรับวัดใหญ่ๆ ที่ได้รับเงินบริจาคจำนวนมากแล้ว ก็อาจไม่จำเป็นต้องได้รับเงินสนับสนุนจาก พศ. แล้ว” 

วัดควรมีการว่างจ้างบริษัทหรือผู้เชี่ยวชาญทางการเงินมาช่วยกำกับดูแลแล้วหรือยัง? : 

“หากนับเฉพาะเรื่องการทำบัญชี หรือ การบริหารจัดการทางการเงิน ในมุมมองส่วนตัวคิดว่า ไม่จำเป็นสำหรับทุกวัด เพราะในกรณีวัดขนาดเล็กมันอาจกลายเป็นภาระเรื่องต้นทุนให้กับวัดเล็กๆ โดยไม่จำเป็น หากมีการตั้งข้อกำหนดนี้ขึ้นมาก็เป็นได้ 

อย่างไรก็ดี ส่วนตัวคิดว่า พศ. ซึ่งแต่เดิมทำหน้าที่เพียงช่วยส่งเสริมพระพุทธศาสนา ควรมีบทบาทมากขึ้น ในเรื่องการสนับสนุน และส่งเสริมการกำกับดูแลบัญชีของวัดต่างๆ เช่น การจัดหาผู้เชี่ยวชาญ เข้าไปช่วยทำบัญชีและทำหน้าที่เปิดเผยต่อสาธารณชนเพิ่มเติมอะไรแบบนี้เป็นต้น” 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

กราฟิก : ชลธิชา พินิจรอบ

อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติม