วันอาสาฬหบูชา-เข้าพรรษา ปี 2566 ถือเป็นวันหยุด ที่หลายคนตั้งใจเข้าวัดทำบุญ สำหรับสายมู ตามตำราโบราณมีระบุถึง การนำน้ำผึ้ง และผ้าอาบน้ำฝน มาถวายแก่พระสงฆ์ในช่วงเวลานี้ เพราะเป็นช่วงแห่งการอธิษฐานของสมณเพศ มีผลต่อผู้ที่ถวายตามหลักความเชื่อโบราณ
อัมรินทร์ สุขสมัย ผู้ศึกษาด้านโหราศาสตร์และไสยเวท กล่าวกับทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ว่า วันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา ปัจจุบันมีความเชื่อในการถวายเทียน เพื่อให้เกิดแสงสว่างในชีวิตและหน้าที่การทำงาน ซึ่งแต่ละภาคของไทย มีประเพณีการตักบาตรที่แตกต่างกัน เช่น การตักบาตรข้าวเหนียว หรือตักบาตรข้าวต้มลูกโยน
ตามตำราโบราณ มีความเชื่อว่า ควรใส่บาตรด้วยข้าวของเครื่องใช้ของพระสงฆ์ ถือว่าเป็นวันมหาปวารณา เป็นช่วงเวลาที่พระสงฆ์ใช้เวลาในการอธิษฐาน คนทั่วไปจะใช้การอิงอาศัยการอธิษฐานของพระสงฆ์ มาเป็นแรงอธิษฐานให้กับพุทธศาสนิกชน ที่ถวายสิ่งของด้วย ดังนั้น การถวายสิ่งของก็ขึ้นอยู่กับผู้ใส่บาตร ว่าศักยภาพด้านทุนทรัพย์ในการซื้อสิ่งของมาถวาย

“ในอดีต หากเป็นคนที่มีทุนทรัพย์ จะถวายยารักษาโรค เรียกว่า คิลานเภสัช สามารถเก็บไว้ได้ตามพุทธบัญญัติ เช่น ยา น้ำผึ้ง เพื่อให้พระใช้ระหว่างเข้าพรรษา ซึ่งการถวายสิ่งของควรถวายในวันเข้าพรรษา โดยเฉพาะการถวายน้ำผึ้ง มีการระบุไว้ในพุทธประวัติสาวก เช่น พระสีวลี ที่มีการถวายน้ำผึ้ง น้ำตาล และน้ำอ้อย เพื่อให้เป็นผู้มั่งคั่งด้วยทรัพย์”
...
ตามตำราโบราณมีการบันทึก โดยเทียบเคียงกับสิ่งของที่นำมาถวายแก่สาวก ที่ส่วนใหญ่มักเป็นของหวาน หรือแม้แต่ตำนานของ ท้าวกุเวร มีการถวายน้ำอ้อย แล้วกลายเป็นผู้มั่งคั่งด้วยทรัพย์
“ที่ผ่านมาคนมักมีความเชื่อเรื่องการถวายเทียนพรรษา ในช่วงเวลานี้ เพื่อให้ชีวิตมีแสงสว่าง สิ่งสำคัญในการที่จะถวายสิ่งของตามแบบโบราณ ต้องอธิษฐานว่า ขอถวายสิ่งของเหล่านี้แก่บวรพุทธศาสนา ขอให้แสงแห่งเทียน จงมอดไหม้สิ่งไม่ดี ออกไปจากชีวิตของข้าพเจ้า และขอให้ความสว่างรุ่งโรจน์บังเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้า ดั่งเปลวเทียน”
การถวายเทียนพรรษากับผ้าอาบน้ำฝน เป็นสิ่งของที่มีการทำบุญร่วมกัน ในช่วงเข้าพรรษา โดยเทียนจะถวายให้กับคณะสงฆ์หมู่มาก ส่วนผ้าอาบน้ำฝน เป็นการถวายแบบเจาะจงพระสงฆ์ แต่การซื้อผ้าอาบน้ำฝนมาถวายพระ ควรเลือกที่เป็นผ้าอาบน้ำฝนจริงๆ ไม่ใช่ผ้าที่มีขนาดเล็ก ใช้งานไม่ได้ เพราะนัยของผ้าอาบน้ำฝนคือสบง ที่เป็นผ้านุ่ง

“เคล็ดลับของการทำบุญ ไม่ควรคิดทำโดยหวังสิ่งตอบแทน เพราะจะทำให้อานิสงส์ของบุญน้อยกว่าจิตใจของคนที่อยากทำบุญด้วยใจจริง ดังนั้น ไม่ว่าจะทำบุญด้วยเทศกาลไหน อยากให้ทำด้วยจิตใจที่ศรัทธา เพื่ออยากบำรุงพุทธศาสนา และทำบุญเพื่ออยากจะให้เป็นการเกื้อกูล มากกว่าไปเจาะจงว่า ทำบุญเพื่อหวังสิ่งตอบแทน สิ่งนี้จึงเป็นทัศนคติความเชื่อที่ผิดในสังคมที่เกิดขึ้น”
สิ่งที่อยากฝากในการทำบุญ อยากให้เลือกซื้อสิ่งของที่จะนำไปใส่บาตร โดยคำนึงถึงคุณภาพของสิ่งของ ที่พระสามารถใช้ได้ เพราะปัจจุบันสิ่งของต่างๆ ที่ขายรวมอยู่ในสังฆทาน บางอย่างไม่สามารถใช่ได้จริง เลยทำให้พระต้องนำถังสังฆทานไปเวียน ซึ่งส่งผลให้การทำบุญของผู้ที่มาถวายไม่สัมฤทธิ์ผล.