รัศมีแข ฟ้าเกื้อล้น นักแสดงชื่อดังออกมาเปิดเผยถึง อาการแพนิก กลัวคนรังเกียจ เพราะเรื่องราวในอดีต จนทำให้รู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง เมื่อต้องพบปะบุคคลอื่น โดยแพทย์ได้ออกมาให้ความรู้ ถึงอาการดังกล่าว พร้อมแนวทางเยียวยาจิตใจ เพื่อให้คน ที่มีลักษณะอาการคล้ายกัน ได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข

ผศ.นพ.ภุชงค์ เหล่ารุจิสวัสดิ์ กรรมการกลางสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทางการแพทย์แล้ว กรณีคุณรัศมีแข นั้น คงหมายถึง panic ในภาษาอังกฤษทั่วไปไม่ได้หมายถึงชื่อโรคทางจิตเวช สื่อว่า แพนิกมากแปลว่าเขากลัวมาก ส่วนที่พูดว่า โรคกลัวคนรังเกียจนั้น ก็ไม่ใช่การวินิจฉัยทางการแพทย์ ที่จริงการที่ใครมีความกลัวก็เป็นธรรมดามนุษย์ แต่จุดที่ผิดปกติจนเจ้าตัวใช้คำว่า

"โรค" คือ แม้ความจริงไม่มีเหตุการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้นแล้ว ปัจจุบันไม่มีใครรังเกียจแล้ว แต่ความรู้สึกภายใน ความทรงจำยังหลอกหลอนอยู่ จึงทำให้มีอาการ กรณีเช่นนี้เกิดจากการมีประสบการณ์ในอดีตที่ค่อนข้างรุนแรง ทำให้เกิดความวิตกกังวลสูง ในเวลาที่มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น เพราะกลัวจะเจอการตอบสนองแบบเดิม

...


ส่วนกรณี โรคชื่อแพนิก (panis disorder) ตามการแพทย์ เป็นโรคระบบประสาททำงานเกินปกติ ทำให้คนไข้มีอาการใจสั่น หายใจไม่ออก เหงื่อออกมากกว่าปกติ ซึ่งเป็นการทำงานผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติ ถือเป็นภาวะที่เกิดขึ้นคนละแบบกับที่คุณรัศมีแขพูดถึง เพราะไม่จำเพาะต่อการโดนคนรังเกียจ จู่ๆ เป็นทันที คนไข้จะเครียดเพราะคาดเดาไม่ได้ว่าจะเกิดภาวะแพนิกเมื่อใด

สำหรับการดูแลรักษานั้น ด้วยความที่แต่ละคนมีความซับซ้อนต่างเรื่องราวกัน ปัจจัยที่เป็นสาเหตุและเอื้อต่อการช่วยเหลือก็แตกต่างกัน อย่างกรณีคุณรัศมีแข ก็มีการปรับเปลี่ยนเรียนรู้ จนทำให้สภาพจิตใจดีขึ้น อะไรที่เคยกลัวก็เรียนรู้ใหม่แล้วว่าไม่ต้องกลัวอย่างเดิม ถือว่าเก่งมากที่ก้าวข้ามความกลัวนั้นมาได้

คำแนะนำขั้นต้น หากมีความเครียดสูง ตื่นตระหนก กังวล มีความคิดคล้ายกับที่คุณรัศมีแข ควรไปพบผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต ซึ่งแต่ละคนมีต้นเหตุที่แตกต่างกันจึงต้องให้แพทย์วิเคราะห์เป็นรายๆ ไป ว่าจะเป็นโรคอะไร ความกลัวและวิตกกังวลภายในจิตใจแต่ละบุคคล ถือเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ แม้รู้ว่าความเป็นจริงไม่ควรกลัว แต่ความเป็นจริงภายนอก อาจไม่สามารถไปเปลี่ยนความรู้สึกภายในได้

การรักษาจะเริ่มต้นด้วยการรับประทานยา เพื่อปรับการทำงานของระบบประสาทก่อน เพื่อให้พร้อมเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ ว่าไม่ได้แย่เหมือนกับที่เคยเป็นมาเสมอไป แต่เป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงได้ หรือหากเกิดจากการใช้สารเสพติด การหยุดใช้ก็ช่วยให้หายได้

"คนที่มีความวิตกกังวล หากได้พูดได้คุยบ้างก็น่าจะดีขึ้น แต่ผู้ป่วยมีความกลัวว่า จะถูกคนอื่นดุ เช่น คนที่กลัวว่าคนอื่นไม่ชอบ อาจไม่กล้ามาพบจิตแพทย์ เพราะคิดว่าใครก็จะไม่ชอบ หรือมองว่าตัวเองล้มเหลว การไปเล่าเรื่องเหล่านี้ให้ใครฟัง จะเกิดความอาย เลยไม่สื่อสาร แต่ถ้าไม่ได้สื่อสาร คนอื่นก็ไม่ทราบ และไม่รู้จะช่วยให้อาการเหล่านี้หมดไปได้อย่างไร ดังนั้นควรเริ่มต้นไว้ใจคนอื่นๆ บ้างโดยเฉพาะผู้มีบทบาทช่วยเหลือทางสุขภาพจิต เปิดใจเล่าถึงปัญหา เพื่อหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน มันอาจไม่เป็นอะไรเท่าที่กลัวก็ได้" นพ.ภุชงค์ สรุป