- ใครหลายคนคงคุ้นเคยกับชื่อของ เอม-ภูมิภัทร ถาวรศิริ มากขึ้นตามหน้าสื่อออนไลน์ในช่วงเดือนที่ผ่านมา เพราะเขาคือนักแสดงอิสระวัย 28 ปี ที่เพิ่งเป็นที่รู้จักในวงกว้างจากการรับบท เค รุ่นพี่ว้ากสุดโหดในซีรีส์ ‘เด็กใหม่’ (Girl from Nowhere) ซีซั่น 2 ที่เขาต้องปะทะพลังทางการแสดงกับ คิทตี้-ชิชา อมาตยกุล ผู้รับบท แนนโน๊ะ หญิงสาวปริศนาที่กลับมาลงทัณฑ์ผู้คนที่เธอตัดสินว่า ‘เลว’ อีกครั้ง -- ซึ่งบทเคถือเป็นตัวละครที่โดดเด่นอย่างมากในตอน ‘รับน้อง’
- ขณะที่เราคุยกันนี้ เอมยังอยู่ในช่วงหยุดพักกองถ่ายที่ลากยาวมาเป็นเวลาหลายสัปดาห์แล้ว สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 เขาจึงระบายความในใจให้เราฟังแบบเป็นกันเอง ทั้งเส้นทางการแสดงจากอดีตจนถึงปัจจุบัน, การพยายามใช้ร่างกายทั้งหมดเพื่อถ่ายทอดบทบาทการแสดง, ความขลาดกลัวในฐานะมนุษย์ปุถุชนคนหนึ่ง รวมถึงความใฝ่ฝันว่า สักวันอยากจะ ‘โดนยิงตาย’ ในหนังเลือดสาดของผู้กำกับคนดังอย่าง เควินติน ทารันติโน!
“เมื่อคืนผมนอนน้อยพี่ เพราะมัวแต่ดูแคสต์เกม Resident Evil”
ชายหนุ่มจากปลายสายโทรศัพท์เปิดบทสนทนาผ่านประโยคบอกเล่าธรรมดาๆ กับผม ด้วยน้ำเสียงที่แม้จะแสดงถึงความอิดโรยอยู่บ้าง แต่ก็ยังฟังดูกระตือรือร้นกับการให้สัมภาษณ์ในวันนี้
“อ้าว เหรอ เมื่อคืนพี่ก็นอนดึกเหมือนกัน มัวแต่ดู Beyond Evil”
“เอ๊ะ มันเกี่ยวกับอะไรนะพี่ ผมเคยเห็นคนแชร์ๆ กันอยู่” เขาสนอกสนใจกับซีรีส์ที่ผมเอ่ยถึง
“เป็นทริลเลอร์เกาหลีเกี่ยวกับตำรวจ-ฆาตกรอะไรพวกนี้แหละ สนุกดีนะ”
“ภาพสวยว่ะพี่” ฟังจากเสียงที่มาพร้อมดีกรีความตื่นเต้นที่เพิ่มขึ้นอีกนิด ดูเหมือนว่าเขากำลังกดเปิดตัวอย่างซีรีส์เรื่องนั้นคลอตามไปด้วย “ผมไม่ค่อยได้ดูซีรีส์เลย นานๆ ทีจะดูสักเรื่อง ปกติผมดูแต่หนัง เพราะพอดูซีรีส์ทีไร มันชอบขโมยเวลาชีวิตไปหมด” คำตอบของเขาคล้ายมีรอยยิ้มเจืออยู่
...
แปลกดีที่เราเริ่มต้นด้วยการแลกเปลี่ยนสิ่งที่เพิ่งดูกันไปเมื่อคืนราวกับเคยรู้จักกันมาก่อนหน้า อาจเพราะชายเจ้าของเสียงนี้ทำให้ผมรู้สึกเหมือนกำลังสนทนาอยู่กับ ‘เพื่อนรุ่นน้อง’ คนหนึ่ง เราจึงสามารถทำตัวตามสบายต่อกันได้ตั้งแต่แรก
เอม-ภูมิภัทร ถาวรศิริ คือชายหนุ่มปลายสาย-ผู้ไม่ค่อยได้ดูซีรีส์-ที่ผมกำลังยกหูคุยด้วย
ใครหลายคนคงคุ้นเคยกับชื่อนี้มากขึ้นตามหน้าสื่อออนไลน์ในช่วงเดือนที่ผ่านมา เพราะเขาคือนักแสดงอิสระวัย 28 ปี ที่เพิ่งเป็นที่รู้จักในวงกว้างจากการรับบท เค รุ่นพี่ว้ากสุดโหด -ผู้ถูกรุ่นน้องแก้แค้นด้วยการบังคับให้เขาเปลือยร่างอยู่ในกางเกงหนังสั้นกุดและถูกปฏิบัติอย่างไร้ศักดิ์ศรีราวกับเป็นสุนัขตัวหนึ่ง- ในซีรีส์ ‘เด็กใหม่’ (Girl from Nowhere) ซีซั่น 2 ที่เอมต้องปะทะพลังทางการแสดงกับ คิทตี้-ชิชา อมาตยกุล ผู้รับบท แนนโน๊ะ หญิงสาวปริศนาที่กลับมาลงทัณฑ์ผู้คนที่เธอตัดสินว่า ‘เลว’ อีกครั้ง -- ซึ่งบทเค ถือเป็นตัวละครที่โดดเด่นอย่างมากในตอน ‘รับน้อง’

เส้นทางการแสดงจากหนังสั้นนักศึกษา สู่ก้าวที่หนักแน่นกว่าใน ‘นคร-สวรรค์’
ขณะที่เราคุยกันนี้ เอมยังอยู่ในช่วงหยุดพักกองถ่ายที่ลากยาวมาเป็นเวลาหลายสัปดาห์แล้ว สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 “เอาจริงๆ ช่วงนี้ความเศร้ามันก็กัดกินจนเราไม่มีสมาธิจะเสพสื่ออะไรเหมือนกันนะพี่ หนังก็แทบไม่ได้ดู หนังสือก็แทบไม่ได้อ่าน” เขาเริ่มระบายความในใจ “แต่ผมก็ยังโชคดีกว่าคนอื่นตรงที่ตัวเองไม่ได้มีหนี้สินหรือภาระหน้าที่อะไร เพราะอย่างนักแสดงหรือทีมงานที่เขามีเรื่องต้องรับผิดชอบ ต้องห่วงมากกว่าผม เขาก็อาจต้องเจอศึกหนักหน่อย”
“เพื่อนนักแสดงหลายคนของผมนี่แย่ไปเลยนะ ยิ่งคนที่มีภาระด้วยนี่คือต้องต่อสู้มากกว่าผมอีกเป็นพันเท่า แล้วพวกนั้นดันเป็นนักแสดงที่เก่งกว่าผม เป็นนักแสดงที่ควรได้รับสปอตไลต์ตรงนี้มากกว่า แต่เขากลับต้องล้มเลิกไประหว่างทาง แล้วหันไปทำอย่างอื่นเพื่อเลี้ยงตัวเอง วงการเราสูญเสียคนเหล่านี้ไปเยอะมากในช่วงปีที่ผ่านมา ทุกคนประสบปัญหา แล้วมันก็เศร้าทุกครั้งที่ได้เห็นพวกเขาหายกันไปทีละคนสองคน มันเลยทำให้ผมรู้สึกว่า ในเมื่อเรายังมีโอกาส เราก็ต้องพยายามทำตรงนี้ให้ดี เพื่อทดแทนในส่วนของพวกเขาด้วย เวลามีผู้ชมกลุ่มใหม่ๆ ที่ได้รู้จักผมผ่านงานต่างๆ ผมเลยพยายามจะบอกเสมอว่า ในบ้านเรา มันยังมีศิลปินเก่งๆ ที่ไม่ได้รับโอกาสดีๆ อยู่อีกเต็มไปหมด”
ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน เอมเคยศึกษาด้านกราฟิกดีไซน์ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง แต่ขณะเดียวกัน ก็ยังไปคลุกคลีกับเพื่อนๆ ในสาขาภาพยนตร์ด้วย นั่นจึงทำให้เขามักถูกเรียกไปช่วยงานอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะในฐานะของ ‘นักแสดง’ ขาประจำ
...
“อะไรที่เป็นงานออกแบบ เป็นงานศิลปะ ผมก็ชอบหมดนะ ตอนเรียนผมเลยชอบโดดวิชาสาขาไปนั่งฟังเลกเชอร์วิชาฟิล์ม อาจเพราะผมโตมากับโทรทัศน์ กับช่องยูบีซีด้วยมั้ง ผมเลยเป็นคนชอบดูหนังและสนใจเรื่องพวกนี้ เวลาไปเจอเพื่อนฟิล์ม เราก็มักจะผลัดกันแนะนำหนังให้ดู หรืออย่างเวลามันทำงานส่งอาจารย์ผมก็ไปเล่นให้มัน” โดยในตอนนั้น เขาบอกว่าตัวเองแทบไม่ได้มีความรู้เรื่องการแสดง แต่เป็นการใช้ประสบการณ์ที่มาจากการดูหนัง ผนวกเข้ากับการทำไปตามสัญชาตญาณของวัยรุ่นที่อยากลองทำอะไรสนุกๆ มากกว่า
จนกระทั่ง โรส-พวงสร้อย อักษรสว่าง ไปเห็นผลงานการแสดงของเอมจากหนังธีสิสเรื่องหนึ่ง เขาจึงได้มีโอกาสก้าวเข้าไปทำงานในกองถ่ายภาพยนตร์อย่างเต็มตัวเป็นครั้งแรกใน ‘นคร-สวรรค์’ (2018 - หนังสารคดีกึ่งเรื่องแต่งที่ว่าด้วยความทรงจำและความสัมพันธ์ในอดีตของตัวผู้กำกับ รวมถึงนักแสดง-เช่นของเอมคืออุบัติเหตุตอนโดนรถมอเตอร์ไซค์ชนจนต้องเข้าห้องไอซียู) ด้วยบทของชายหนุ่มนัยน์ตาโศกที่ยอมบวชหน้าไฟแบบวันเดียวสึกให้แม่ของคนรักเก่า ซึ่งการเล่นหนังเรื่องนี้ก็ทำให้เอมได้สัมผัสกับเสน่ห์และความสนุกบนเส้นทางสายการแสดงอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น
“คือตอนไปเล่นหนังให้เพื่อน ผมไม่ได้มองว่ามันเป็นงานขนาดนั้นด้วยแหละ ถือว่าไปช่วยๆ กัน แล้วผมก็ไม่เคยรับเงินเลย แม้จะเป็นโปรเจกต์ต่างมหา’ลัย อย่างมากก็แค่ค่ารถ แล้วเวลามีคนมาถามว่าเรตค่าตัวเท่าไร ผมก็จะตอบไม่ได้ เพราะผมไปให้ฟรีหมด” เขาหัวเราะ “แต่การไปทำงานใน ‘นคร-สวรรค์’ มันจะเป็นกระบวนการที่จริงจังขึ้น เราเลยพยายามสำรวจการแสดงของตัวเองมากขึ้น ว่าเราสามารถทำอะไรได้มากกว่านั้นหรือเปล่า -- มันเป็นหนังที่ทำให้ผมมีความคิดแบบนี้เป็นครั้งแรก และมันก็เป็นหนึ่งในงานที่ผมชอบมากๆ ด้วย”
...
“ผมว่ามันเป็นเพราะช่วงวัยด้วยแหละ เพราะช่วงที่เล่นให้เพื่อน กับช่วงที่เล่นให้พี่โรส มันก็ค่อนข้างห่างกันมาก แล้วระหว่างนั้นผมก็ได้ไปทำงานโฆษณา ไปทำงานช่างภาพ ผมทำงานกำกับเป็นงานฟรีแลนซ์ เขียนบทความ เขียนบทด้วย เลยได้ค้นพบอะไรเพิ่มขึ้นอีกพอสมควร มันเหมือนเป็นการช่วยให้เราตกตะกอนทางประสบการณ์และความคิดไปด้วยในตัว”

ร่างกายที่ใช้ถ่ายทอดอารมณ์ และบทบาทที่สร้างชื่อใน ‘เด็กใหม่’
หลังจาก ‘นคร-สวรรค์’ คนในแวดวงหลายคนเริ่มเห็นแววทางการแสดงของเอม จึงชักชวนเขาไปร่วมแสดงในงานอีกหลายชิ้น ทั้งมิวสิกวิดีโอและซีรีส์
“งานแต่ละแบบมันก็มีวิธีการแสดงที่แตกต่างกันไปครับ แต่ถ้าให้ผมเลือกสิ่งที่ชอบที่สุดก็คงเป็นการเล่นหนังกับละครเวที” เขาว่า “แต่คือจริงๆ ทุกงานที่ทำมันก็ขึ้นอยู่กับทิศทางการทำงานของผู้กำกับด้วยแหละครับ ว่าเขาต้องการองค์ประกอบในการเล่าเรื่องแบบไหน แล้วเขาต้องการอะไรจากตัวนักแสดงอย่างเรา ซึ่งผมจะชอบทำงานที่มีไอเดียสร้างสรรค์ใหม่ๆ ผมเลยพยายามพาตัวเองเข้าไปในงานพวกนั้นเสมอ”
...
เขาจึงได้มีโอกาสไปปรากฏตัวอยู่ในงานซีรีส์ Sleepless Society ตอน ‘ลวง-ละเมอ-รัก’ (2020) ของผู้กำกับสายอบอุ่นที่เขาปลาบปลื้มอย่าง กานต์-ศิวโรจณ์ คงสกุล (จากหนังอิสระสุดละมุนเรื่อง ‘ที่รัก’) หรือแม้แต่งานประเภทอื่นๆ ที่มีความน่าสนใจในแบบของมันเอง “เวลารับงานผมจะดูภาพรวมของทุกอย่างเลยครับ คือถ้าเป็นทีมงานที่ผมรู้จัก หรือเป็นผู้กำกับที่ผมเคยดูงานเขา มันก็จะทำให้ผมตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ว่าจะเอายังไงกับงานชิ้นนั้น หรือถ้าผมไม่เคยรู้จักคนทำมาก่อน ผมก็จะพยายามศึกษาตัวงานให้ได้มากที่สุด ขอบทมาอ่าน ดูงานเก่าของผู้กำกับ หรือสอบถามถึงโปรดักชั่น เพื่อให้ตัวเองเห็นภาพว่ามันเป็นงานแบบไหน มันต้องการอะไรจากผม แล้วผมสามารถมอบสิ่งนั้นให้งานชิ้นนั้นได้ไหม”
“อย่าง ‘เด็กใหม่’ นี่ผมก็เคยดูมาก่อนนะ สัก 3-4 ตอนได้มั้ง แล้วพอไปเจอ พี่เอส (คมกฤษ ตรีวิมล - ผู้กำกับตอน ‘รับน้อง’ ที่เอมเล่น) ที่เขากำลังหาแคสต์ของตัวละคร เค อยู่พอดี เขาเลยชวนไปแคสต์แล้วเล่าบทให้ฟัง ซึ่งพอดีกับเมื่อปีที่แล้ว ผมกำลังสนใจงานที่ต้องใช้การแสดงผ่านทักษะทางกายภาพมากขึ้น เพราะที่ผ่านมา ผมใช้ร่างกายน้อยมากเวลาแสดง ไม่ค่อยรู้จักร่างกายตัวเองเท่าไร พอได้ยินว่าบทนี้ต้องมีฉากก้มกินอาหารแบบสุนัข มีฉากต้องเลียเท้าคน โดนใส่ปลอกคอล่ามโซ่ ผมเลยรู้สึกว่าน่าสนุกดี และก็โชคดีมากที่ไปแคสต์แล้วได้” ซึ่งเมื่อยิ่งได้เจอกับอุปกรณ์จริง สถานที่จริง และสถานการณ์จริงขณะถ่ายทำ มันก็ยิ่งทำให้เขาเข้าถึงบทบาทของ ‘พี่ว้ากจอมโหดที่ถูกแนนโน๊ะเอาคืนอย่างสาสม’ ได้ง่ายขึ้น
“ผมแค่อยากพยายามลองใช้ส่วนอื่นของร่างกายที่ไม่ใช่แค่ใบหน้าดูบ้าง เพราะเมื่อก่อนผมจะเล่นแข็งมาก อวัยวะส่วนอื่นตั้งแต่ไหล่ลงไปคือเก้ๆ กังๆ หมด ขนาด เอย (เอิงเอย-ประภามณฑล เอี่ยมจันทร์ นักแสดงร่วมจาก ‘นคร-สวรรค์’) ที่เคยดูผมแสดงมันยังบอกเลยว่า ทำไมแกไม่ใช้ร่างกายส่วนล่างบ้างวะ” เขาจึงตัดสินใจไปศึกษาเพิ่มเติม ด้วยการไปลงเรียนเวิร์กช็อปกับคณะละคร B-Floor ที่ช่วยให้นักแสดงตระหนักถึงการมีอยู่ใน ‘ทุกส่วน’ ของร่างกายขณะทำการแสดง
“หลังจากนั้น มันเลยทำให้เราเข้าใจมากขึ้นว่า ร่างกายก็เป็นเหมือนกับ ‘คนอีกคนหนึ่ง’ ที่เราต้องเคารพน่ะครับ แล้วมันก็จะมีช่วงเวลาที่กายเป็นนายและจิตกลายเป็นบ่าว ซึ่งเราควบคุมไม่ได้ก็มี เราเลยต้องฝึกฝนและเรียนรู้ที่จะควบคุมมัน ...แต่พอกลับไปทำงานจริงๆ ผมก็มักจะชอบลืมเรื่องพวกนี้ที่เรียนมา ยังคงเล่นแบบตัวแข็งๆ อยู่ (หัวเราะ) ซึ่งมันคงเป็นสิ่งที่นักแสดงต้องฝึกฝนและทำความเข้าใจไปทั้งชีวิตแหละมั้ง”
และเมื่อการแสดงในบท เค ทำให้เขาต้องแสดงผ่านสีหน้า/ร่างกายในการถ่ายทอดความรู้สึกอย่างเห็นได้ชัด จึงมีใครหลายคนนำการแสดงนี้ไปเทียบเคียงกับการแสดงของ น้อย วงพรู หรือ กฤษดา สุโกศล แคลปป์ ในหนังหลายเรื่อง ที่ก็มักใช้ร่างกาย-ใบหน้าในการสื่อสารอารมณ์เช่นกัน “อย่าเอาผมไปเทียบกับพี่น้อยเลยครับ ผมยังห่างไกลกับพี่เขามาก” เอมร้องเสียงหลง “คือผมชอบพี่น้อยมาก ผมชอบงานเขา ผมชอบวง พรู แต่ผมคิดว่ามันไม่ควรมีใครที่จะต้องถูกนำมาเปรียบเทียบกัน เพราะผมก็ยังเป็นแค่นักแสดงทั่วๆ ไป ไม่ได้เก่งอะไรเลย”
เอมยืนยันว่า เขายังคงทำการแสดงไปตามสัญชาตญาณเป็นหลักเหมือนที่เคยเป็นมา “เวลาแสดง ผมไม่ได้มีสูตรสำเร็จตายตัว มันแล้วแต่สถานการณ์ เพราะบางทีมันก็ไม่ใช่การแสดงแบบ ‘จาก A แล้วต้องไป B’ น่ะ มันไม่ใช่ลูกศรที่ต้องชี้ไปทางเดียวเสมอ บางทีร่างกายกับอินเนอร์ข้างในมันอาจรู้สึกไปพร้อมกัน หรืออาจไม่รู้สึกเลยทั้งคู่ก็ได้ ซึ่งเอาจริงๆ ผมก็ไม่ได้มีความรู้ทางการแสดงมากพอที่จะไปแยกแยะว่า ตอนที่ผมกำลังแสดงอยู่ เทคนิคที่ผมใช้คืออะไรบ้าง ใช้อินเนอร์ หรือใช้แค่ร่างกาย มันขึ้นอยู่กับงานด้วย บางฉากผมเข้าไปโดยมีภาพในหัวชัดมากๆ ว่าจะเล่นยังไง แต่บางฉากผมก็เข้าไปแบบสมองโล่งๆ เลยก็มี บางครั้งเล่นฉากบอกรัก ในหัวผมยังนึกถึงภาพหมูทอดทงคัตสึก็มี เพราะตอนนั้นผมหิวมาก” เขาหัวเราะร่วน
หลังจากผ่านการทำงานในวงการบันเทิงมาสี่ปี เขาไม่แน่ใจว่าตัวเอง ‘รัก’ การแสดงไหม แต่แค่แน่ใจว่ายังอยากเป็นนักแสดงอยู่ “ผมรักหมูกรอบมาก ผมรักกุนเชียงมาก อันนี้ผมกล้าพูด แต่ผมยังไม่กล้าพูดว่าตัวเองรักการแสดงขนาดนั้น ผมอาจแค่ยังอยากสำรวจงานศิลปะประเภทนี้อยู่ ซึ่งถ้าวันนี้ผมยังสนุกกับมัน ผมก็แค่ทำมันต่อไปเรื่อยๆ”
ตอนที่ผมลองถามถึงความใฝ่ฝันทางการแสดง เขาก็โพล่งออกมาโดยแทบไม่ต้องคิดว่า “ผมอยากโดนยิงตายในหนัง เควนติน ทารันติโน อะพี่ ผมอยากเป็นตัวละครคนส่งพิซซ่าโง่ๆ ที่เปิดประตูเข้ามาในฉากแล้วถูกปืนลูกซองยิงโป้งเดียวกระเด็น ผมอยากตายในหนังเขามาก อยากนอนจมกองเลือด มันคงน่าสนุกดี ถ้าได้ทำคือตายตาหลับแล้ว เพราะผมคิดว่าทุกความตายในหนังเควนตินมันมีความหมาย มันคือความรื่นรมย์ของเรื่องเล่าน่ะ เราแทบไม่เคยโศกเศร้ากับความตายของตัวละครตัวไหนในหนังเขาเลย แม้กระทั่งตัวเควนตินที่โผล่มาตายแบบรับเชิญใน Django Unchained (2012) ของตัวเองน่ะ มันคงสนุกมากๆ”

นักแสดงกับ ‘มาตรฐานความงาม’ และ ‘ความขลาดกลัว’ ในวงการบันเทิงไทย
แม้จะเริ่มมีชื่อเสียงขึ้นมาบ้างจาก ‘เด็กใหม่’ แต่เอมก็ยังเป็นนักแสดงอิสระคนเดิมที่ต้องกลับไปเวียนว่ายอยู่ในวัฏจักรการ ‘แคสติ้งงานแสดง’ ที่มีการแข่งขันกันอย่างสูงในบ้านเรา ผ่านการใช้รูปลักษณ์ที่ต้อง ‘ดูดี’ ตามมาตรฐานสังคม และตัวเลขความนิยมจากยอดผู้ติดตามในโซเชียลมีเดีย มาเป็นตัววัดคุณค่า
“ผมคิดว่าเรื่องมาตรฐานความงามหรือ Beauty Standard มันเป็นอีกหนึ่งหล่มที่ ‘เรา’ ต้องข้ามผ่านมันไปให้ได้ ไม่ใช่แค่นักแสดงนะครับ แต่รวมถึงทั้งคนดูและนายทุนด้วย เพราะหลายงานมันก็ไม่ได้ดูกันที่ทักษะหรือศักยภาพทางการแสดง มันอาจต้องการแค่ยอดวิวที่จะแปรไปเป็นเม็ดเงินให้ลูกค้า ซึ่งมันเป็นเรื่องที่น่าเจ็บปวดใจแหละ แต่หากจะแก้ เราก็คงต้องไปแก้อะไรอีกหลายอย่างเลย เช่น วิสัยทัศน์ของนายทุน หรือการปลูกฝังวัฒนธรรมการเสพสื่อศิลปะให้กับคนรุ่นใหม่ ซึ่งเรื่องพวกนี้มันก็ดูจะโยงกลับไปที่ปัญหาหลักอย่างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและการศึกษา ที่ยังทำให้คนมองโลกได้ไม่หลากหลายมากพอนั่นแหละครับ”
“แต่หากมองในมุมของทุนนิยม ก็แน่นอนว่า สำหรับการทำธุรกิจบันเทิง เขาก็ต้องอยากหาคนมาช่วยดึงดูดลูกค้าหรือผู้ชมเพื่อให้ได้ในสิ่งที่เขาต้องการอยู่แล้ว ซึ่งมันก็ไม่ใช่เรื่องผิด และผมว่าการที่นักแสดงคนหนึ่งจะสามารถมียอดวิวที่สูงขนาดนั้นเพื่อให้เขาเลือกได้ มันก็คือทักษะอย่างหนึ่งเหมือนกันนะ มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ไม่ใช่ว่าพอคุณหน้าตาดีแล้วจบ แต่มันต้องมีทักษะในการนำเสนอตัวเองเพื่อให้คนดูชื่นชอบด้วย และหลายครั้งก็ต้องยอมไม่เป็นตัวของตัวเองไปเลย ซึ่งมันยากมาก ผมจึงนับถือคนเหล่านั้น เพราะผมไม่สามารถที่จะทำอะไรแบบนั้นได้ มันไม่ใช่แนวทางของเรา ขณะที่เพื่อนหลายคนของผมทำได้ แล้วก็ทำได้ดีด้วย ผมเลยมองว่ามันต้องผ่านการทำงานอย่างหนักไม่ต่างกัน”
มาถึงตรงนี้ ผมรู้สึกว่าเอมเป็นนักแสดงที่ดูจะ ‘กล้าหาญ’ กับการแสดงออกทางความคิดและการใช้ชีวิตของตัวเอง แต่เขากลับรีบปฏิเสธ ‘ป้าย’ ที่ผมกำลังแปะให้เขาแทบจะในทันที
“อันที่จริง ผมเป็นคนขี้ขลาดมากๆ ครับ ขี้ขลาดในทุกแง่ของการใช้ชีวิตเลยด้วยซ้ำ”
ชายหนุ่มผู้รับเล่นบทบาทที่ท้าทายตัวเองมามากมาย-แถมยังอยากโดนยิงตายในหนังเควนติน-ราวกับไม่หวาดกลัวต่อสิ่งใด บอกกับผมเช่นนั้น เพราะเอมยังคงมองว่า ทั้งในแง่ของการใช้ชีวิตส่วนตัวและส่วนรวม เขายังเหลือ ‘ปัญหา’ อยู่อีกมากที่ไม่สามารถจะเผชิญหน้าและแก้ไขมันอย่าง ‘กล้าหาญ’ ได้เสียที
“ผมคิดว่า การพยายามยอมรับด้านที่น่ารังเกียจในตัวเองแล้วโอบกอดมันให้ได้ ถือเป็นความกล้าหาญอย่างหนึ่งนะ ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ผมยังทำไม่ได้” เขาขยายความ หลังจากนิ่งคิดอยู่นาน “แล้วเวลาที่ผมเห็นใครหรืองานชิ้นไหนที่สามารถทำแบบนั้นได้ ผมจะโคตรอิจฉาเลย ผมว่าพวกเขาเป็นมนุษย์ที่งดงามมากๆ เพราะยอมให้ตัวเองเรียนรู้และเติบโตจากด้านที่อัปลักษณ์นั้นได้”
“คือการจริงใจกับตัวเอง แล้วยอมรับว่าตัวเองเป็นใคร มันเป็นเรื่องยากมากๆ สำหรับผมนะ เราต้องยอมให้ตัวเองแตกสลายเพื่อที่จะประกอบสร้างมันขึ้นมาใหม่ให้งดงามกว่าเดิม มันคงเป็นการเดินทางที่น่ากลัวแหละ แต่มันอาจจะคุ้มค่าก็ได้ ซึ่งผมยังไม่มีโอกาสได้ทำงานที่ต้องไปแตะสิ่งนี้ของตัวเองขนาดนั้น แต่ถ้ามีโอกาส ผมก็อยากจะลองกระโจนไปแตะดูบ้าง มันคงท้าทายดีที่จะต้องสำรวจด้านที่เปราะบางเหล่านั้นของตัวเอง”

นอกจากเป็นนักแสดงที่เตรียมพร้อมจะสำรวจตัวเองผ่านผลงานต่างๆ ในอนาคตแล้ว เอมก็ยังเป็นหนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่อยากใช้งานของตัวเองเป็นแรงขับเคลื่อนเล็กๆ เพื่อผลักดันให้สังคมดีขึ้นเท่าที่พอจะทำได้ด้วย
“เราอยากเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในงานที่สั่นคลอนความคิดคน เพราะผมเองก็ไม่ใช่คนฉลาดพอที่จะทำงานสะท้อนสังคมแบบผู้กำกับคนนั้นคนนี้ออกมาได้ ผมแค่พอจะทำบางอย่างได้ ซึ่งมันคงเป็นเรื่องดีที่ถ้าบางอย่างที่เราทำได้นั้น มันสามารถช่วยใครสักคนไว้ หรือช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมขึ้นมาบ้าง ถ้ามันเกิดขึ้นได้แค่สักหนึ่งเปอร์เซ็นต์ ผมจะชื่นใจมาก เพราะผมเคยถามตัวเองว่า มันจะมีใครได้อะไรจากสิ่งที่เราทำบ้างไหม คือผมไม่สามารถไปเป็นทนายความให้ใครได้ ผมไม่สามารถผ่าตัดรักษาชีวิตใครได้ ผมเลยพยายามทำสิ่งที่ทำได้ผ่านงานแสดงหรือการแสดงออกทางความคิดเห็นบางอย่าง เพื่อให้ตัวเองรู้สึกผิดน้อยลงกับสภาพสังคมการเมืองในตอนนี้ ที่เราอาจลุกขึ้นมาทำอะไรไม่ได้มากเท่าไร”
“แล้วงานศิลปะมันก็งอกเงยมาจากเรื่องการเมืองนี่แหละครับ แม้กระทั่งงานที่บอกว่าตัวเองไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องพวกนี้ก็เถอะ -- ผมเชื่อว่าเราหนีมันไปไม่พ้นหรอก”
นี่คือคำพูดทิ้งท้ายการให้สัมภาษณ์ของเอม -ก่อนที่เราจะหันไปคุยเรื่องซีรีส์กันต่อแล้วค่อยวางสาย- ที่ผมยังคงคิดว่า ‘กล้าหาญ’ อยู่ดี ...แม้เขาจะไม่ปรารถนาการแปะป้ายเช่นนั้นจากใครก็ตาม