ปริศนาลิ้นจี่ (Litchi) ที่เริ่มเป็นจุดสนใจทั่วโลก เกิดจากมีปรากฏการณ์ที่คิดว่าเป็นสมองอักเสบในเวียดนาม โดยไม่ได้เกิดจากไวรัส JE (Japanese encephalitis Virus) ตั้งแต่ปี 1999 ทั้งนี้ เนื่องจากมีการปูพรมฉีดวัคซีน JE ต่อเนื่อง และการตรวจไม่พบว่าเกิดจากไวรัส JE ที่แปลกก็คือถิ่นระบาดอยู่ในภาคเหนือในจังหวัด Bac Giang และอยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคม มิถุนายน และกรกฎาคม โดยที่ 88% เกิดในกลุ่มเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี อาการคล้ายคลึงกัน โดยมีไข้ฉับพลัน อาการรวดเร็วทำให้โคม่าและเสียชีวิตมากมายกว่าไวรัส JE ด้วยซ้ำ

ลักษณะโรคที่อุบัติขึ้นทับซ้อนกับช่วงเวลาที่มีการปลูกลิ้นจี่ โดยในปี 1985-1989 ซึ่งมีจำนวน 870 ตัน เพิ่มเป็น 400,000 ตัน ในปี 2000-2005 และจังหวัด Bac Giang ปลูกลิ้นจี่ขายในประเทศและส่งออกประเทศจีนเป็นอันดับต้นๆ

จากการที่มีคนป่วยตายหลายร้อยรายในช่วงเวลาสั้นๆ คนเวียดนามเรียกชื่อว่า Ac Mong Encephalitis (AME) แปลว่า “ฝันร้าย” (Nightmare) โดยปวดหัวและมีไข้ ตามด้วยชัก ซึ่งส่วนใหญ่เกิดในตอนกลางคืน และประมาณ 30% โคม่าจนเสียชีวิต

จากการศึกษาวิเคราะห์ผู้ป่วย 88 ราย (2004-2009) รวบรวมในวารสารโรคอุบัติใหม่ (EID ปี 2012) พบว่าลักษณะอาการ ผลตรวจเลือดและน้ำไขสันหลังคล้ายคลึงกับสมองอักเสบจากไวรัส Chandipura ที่ระบาดในอินเดีย และเกิดจากไวรัสในกลุ่มครอบครัว Rhabdoviridae (รายงานในวารสาร Lancet 2004) โดยเกิดในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม และในปี 2003 มีเด็กเกิดสมองอักเสบจากเชื้อนี้ 329 ราย เสียชีวิต 183 ราย

ความคล้ายคลึงของโรค การดำเนินโรค ภาพคอมพิวเตอร์สมองที่ไม่ผิดปกติมาก และมีเซลล์อักเสบในน้ำไขสันหลังไม่มากนัก ทำให้มุ่งประเด็นไปที่ไวรัสกลุ่มใหม่ๆ แต่จนแล้วจนรอดไม่สามารถตรวจหาไวรัสได้

...

ในขณะที่เวียดนามตอนเหนือยังประสบภัยโรคสมอง “ฝันร้าย” ในอินเดียที่แคว้น Muzaffarpur แขวง Bihar ก็มีกลุ่มอาการเกิดขึ้นคล้ายคลึงกัน โดยมีการระบาดสูงสุดในเดือนมิถุนายน และในแคว้นนี้ก็มีการปลูกลิ้นจี่เช่นกัน การสืบสวนโรคในปี 2013 และ 2014 พบว่า คนป่วยมักมีระดับน้ำตาลต่ำกว่า 70 มิลลิกรัม% เมื่อเข้ารับการรักษาและการหาเชื้อต่างๆ ไม่พบตัวการใดๆทั้งสิ้น ทำให้พุ่งประเด็นไปที่สารพิษ (Toxin) ดังที่เคยค้นพบมากันตั้งแต่ปี 1962 และมีการทดสอบในสัตว์ทดลอง

(ปี 1989 และ 1991) ชื่อ Methylene cyclopropyl glycine (MCPG) ในเม็ดลิ้นจี่ โดยมีกลไกการออกฤทธิ์เหมือนกับสาร Hypoglycin A ซึ่งเป็นสารพิษที่ทำให้เกิดอาการทางสมองและน้ำตาลต่ำแบบเดียวกัน โดยแพร่หลายในหมู่เกาะ West Indies และในแอฟริกาตะวันตก

หลังจากที่กินลูก Ackee ที่ยังไม่สุก และ Ackee นี้อยู่ในกลุ่มเดียวกับลิ้นจี่ เด็กที่มีอาการในอินเดียในปี 2013 ในจำนวน 133 ราย มีอาการชักถึง 94% และ 93% มีอาการซึม และ 39% มีอาการไข้ อัตราตายอยู่ที่ 44% ในปี 2014 มีเด็ก 390 รายเข้ารับการรักษาตัว และเช่นเดียวกันกับในปี 2013 มักเป็นเด็กเล็ก อายุเฉลี่ยประมาณ 4 ขวบ 94% มีอาการชัก 77% ซึม และ 39% มีไข้ มีตาย 31%

ข้อสังเกตคือ ชักอยู่ในช่วงตี 4 ถึง 8 โมงเช้า (รายงานในวารสาร MMWR 2015) รายงานที่พิสูจน์พิษของลิ้นจี่มาจากกลุ่มเดียวกับที่รายงานในปี 2015 โดยมีการสอบสวนเจาะลึกและพบสาเหตุว่าเกิดจากลิ้นจี่จริงๆ (วารสาร Lancet Global Health 2017) โดยสามารถตรวจพบสารที่เป็นผลของ Hypoglycin A และ MCPG ในปัสสาวะ และพบหลักฐานที่มีการขัดขวางเมตาบอลิซึม การเผาผลาญของกรดไขมันในรูปของความผิดปกติของ Acylcarnitine ในเลือด และเมื่อเอาเนื้อลิ้นจี่มาวิเคราะห์พบว่า ลิ้นจี่ที่ไม่สุกจะมีปริมาณของ MCPG และ Hypoglycin A มากกว่าลิ้นจี่สุก 2-3 เท่า ปัจจัยที่เกิดมีอาการอีกประการคือการที่ไม่ได้กินข้าวและไปเก็บลิ้นจี่มากินตอนเย็น สภาพขาดอาหารของเด็ก

กลไกของพิษลิ้นจี่ไม่ได้อธิบายจากการที่ระดับน้ำตาลต่ำอย่างเดียว เกิดจากการที่มีการขัดขวางการทำงานของเอ็นไซม์ Dehydrogenase หลายตัวที่อยู่ในกระบวนการ Oxidation ของกรดไขมัน ทั้งนี้ จะคล้ายกับโรคกรรมพันธุ์ Glutaric acidemia type II ซึ่งพบได้น้อยมากคือน้อยกว่า 1 : 100,000 การตรวจในปัสสาวะของผู้ป่วยเหล่านี้และ

ที่เจอลักษณะแบบแผนความผิดปกติของกรด Organic ในปัสสาวะโดยมีการเพิ่มของ Ethylmalonic Acid Glutaric Acid และ Adipic Acid เป็นเครื่องยืนยันอีกประการ (ซึ่งเจอได้เช่นกันในกรณีของลูก Ackee) การที่มีความผิดปกติของการเผาผลาญกรดไขมันอาจเป็นตัวร่วมที่ทำให้เกิดอาการทางสมองอย่างรวดเร็วรุนแรง โดยการทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรด และนี่เป็นสาเหตุที่ผู้ป่วยมิได้มีน้ำตาลต่ำทุกคน จากการมีการขัดขวางการผลิตน้ำตาล (Gluconeogensis) ในร่างกายอย่างเดียว

...

ทั้งลิ้นจี่และผล Ackee อยู่ในตระกูลของ Soapberry (Sapindaceae) ซึ่งยังมีผลไม้อื่นๆ ได้แก่ เงาะ (Rambutan หรือ Nephelium lappaceum) และลองกอง (Longan หรือ Dimocarpus Longan) การที่เกิดอาการมากมายตามที่ปรากฏ นอกจากขึ้นกับการกินเนื้อลิ้นจี่และ Ackee ที่ยังไม่สุก ยังขึ้นกับปริมาณที่กิน อายุ ของคนที่กิน ภาวะโภชนาการ และขึ้นกับว่าก่อนหน้าที่จะกินผลไม้ดังกล่าว แทบจะไม่ได้กินอาหารตามปกติมาก่อนหรือไม่ ซึ่งทำให้ปรากฏอาการตอนกลางคืนถึงรุ่งสาง และทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นกับปริมาณของสารพิษข้างต้นในลูกไม้เหล่านี้

สารพิษเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องตอกย้ำอยู่เสมอว่ายังคงเป็นสาเหตุของอาการรุนแรงทางสมองถึงเสียชีวิต และเลียนแบบสาเหตุที่เกิดจากการติดเชื้อได้ และการที่มีอาการไข้ตั้งแต่ต้น ปวดหัว ตามด้วยชักจะทำให้เขวและรักษาหรือสืบสวนผิดทางไปได้.

หมอดื้อ