ผ่านความเห็นชอบเรียบร้อยโรงเรียนสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปแล้ว สำหรับร่างแก้ไข วิ.อาญาฯเพิ่มเติม มาตรา 131/2 อนุญาตให้ตำรวจดักฟังโทรศัพท์
เห็นตอนแรกถึงกับสะดุ้ง! ขนาดที่ผ่านมากฎหมายยังไม่อนุญาต แต่วิธีปฏิบัติที่เค้าปิดกันให้แซ่ด...ตำรวจก็ดักฟังโทรศัพท์กลุ่มผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหากันมานานแล้ว!
แต่เพื่อเอาข้อมูลมาเป็นไกด์ในการสืบสวนสอบสวนว่า ต้องหาความเชื่อมโยงอะไร ตัวละครมีกี่ตัว หรือเข้าตรวจค้นที่ไหนถึงได้หลักฐานสำคัญมาใช้มัดตัวกลุ่มผู้ต้องหา
แค่เอามาเป็นหลักฐานในศาลไม่ได้ เพราะมันผิดกฎหมาย...
แต่ใช่ว่ากฎหมายอนุญาตให้ดักฟังโทรศัพท์ในประเทศไทยจะไม่มี มันมีให้เฉพาะเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ ที่เป็นเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550
ร่างแก้ไข ป.วิอาญาฯมาตรา 131/2 เรียกว่าทำมาให้ตำรวจโดยเฉพาะ ระบุว่า “กรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งการสืบสวนคดีความมั่นคงของรัฐ ความผิดที่มีลักษณะเป็นองค์กรอาชญากรรม คดีที่มีความยุ่งยากสลับซับซ้อนที่มีโทษเกิน 10 ปี
นายตำรวจระดับผู้บังคับการ (พล.ต.ต.) ยื่นคำร้องต่ออธิบดีผู้พิพากษา หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล เพื่อให้มีคำสั่งอนุญาตเข้าถึงและได้มาซึ่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือข้อมูลข่าวสาร เช่น การตรวจสอบหรือการดักรับข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลการติดต่อสื่อสาร หรือข้อมูลทางการเงินของบุคคลที่น่าจะเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดได้”
คำอนุญาตของศาลจะอนุญาตเป็นคราวๆ คราวละไม่เกิน 15 วัน ไม่เกิน 4 คราว กรณีมีเหตุอันสมควรศาลอาจขยายระยะเวลาให้ได้ แต่รวมแล้วต้องไม่เกิน 90 วัน
ยอมรับว่าในข้อกฎหมายมีการถ่วงดุลระหว่างตำรวจกับศาลอยู่...
...
แต่ยังมีคนหนาวๆร้อนๆ ขยาดพฤติกรรมของตำรวจบางคนจะเอามาใช้พร่ำเพรื่อ สงสัยจะต้องมีคนติดคุกติดตะรางกันบ้าง?!?
เพราะมี พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม 2544 มาตรา 74 ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆเพื่อดักรับไว้ใช้ประโยชน์ หรือเปิดเผยข้อความข่าวสาร หรือข้อมูลอื่นใดที่มีการสื่อสารทางโทรคมนาคมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ต่อไปใครคุยโทรศัพท์วางแผนชั่ว...แชตต่อรองผลประโยชน์ผิดกฎหมาย...จงระวัง!
สหบาท