แม้จะถือว่าเป็นกฎหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าทุกฉบับ แต่ร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติที่ผ่านความเห็นชอบ ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ด้วย คะแนนเสียงท่วมท้น 196 ต่อ 0 ดูเหมือน จะได้รับความสนใจค่อนข้างน้อย ทั้งจาก นักการเมือง นักวิชาการ และประชาชนทั่วไป สาเหตุส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะคนส่วนใหญ่ยังไม่ได้ศึกษาร่างกฎหมายอย่างจริงจัง
ร่าง พ.ร.บ.ที่ผ่านความเห็นชอบของ สนช.เป็นร่างกฎหมายสำคัญเพราะกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ เป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาล มีเสียงวิจารณ์ว่ากฎหมายดังกล่าว จะมีผลผูกพันไม่เฉพาะแต่คนไทยกว่า 65 ล้านคนที่มีอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น แต่จะผูกพัน คนไทยที่จะเกิดเพิ่มขึ้นมาอีกไม่รู้กี่ล้านคน ในช่วงเวลา 20 ปีข้างหน้า
ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นนโยบายสำคัญของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่ถูกหลายฝ่ายคัดค้านอย่างต่อเนื่อง เพราะมองว่าสถานการณ์ของโลกเปลี่ยน แปลงอย่างรวดเร็วแบบเดือนต่อเดือน ปีต่อปี แผนพัฒนาประเทศระยะยาว 20 ปี จึงไม่มีประเทศไหนทำกัน เพราะเสี่ยงต่อการเป็นกฎหมายตกยุคและล้าหลัง เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป
แผนยุทธศาสตร์ฉบับนี้เกิดขึ้นในช่วงที่บ้านเมืองยังไม่มีผู้แทนที่แท้จริงของประชาชนในสภา เกิดจากการริเริ่มของ รัฐบาลคณะรัฐประหาร คณะกรรมการยุทธศาสตร์อย่างน้อย 7 คน มาจากฝ่ายความมั่นคง อันได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผบ.สส., ผบ.ทบ., ผบ.ทร., ผบ.ทอ., ผบ.ตร. และเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นโดยตำแหน่ง
แม้กระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติจะให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมาย แต่ฝ่ายที่มีบทบาทอย่างแท้จริง ได้แก่ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี และ สนช. แต่ถ้า สนช.ต้องสิ้นสภาพไปก่อนให้ขอความเห็นชอบจากวุฒิสภา ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของ คสช.ทั้งสององค์กร
...
มีบทเฉพาะกาลให้คณะกรรมการ จัดทำยุทธศาสตร์ชาติใช้ร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่จัดทำขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2558 เป็นหลักในการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติ เบื้องต้นให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติโดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร แต่ให้ผ่านวุฒิสภา และไม่ต้องรับฟังความคิดเห็นประชาชน เพราะถือว่า สปท.ทำแล้ว
เมื่อประเทศเป็นยุทธศาสตร์ชาติแล้ว จะมีผลผูกมัดประเทศนาน 20 ปี รัฐบาลที่มาจากเลือกตั้งและหน่วยงานของรัฐจะต้องทำตาม รัฐบาลที่ฝ่าฝืนอาจถูกร้องต่อ ป.ป.ช.จนถึงศาลฎีกา และอาจถูกลงโทษให้ พ้นจากตำแหน่งและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์วิจารณ์ว่า จะทำให้สังคมไทยเป็นรัฐข้าราชการที่เข้มข้น สวนทางกับประชาธิปไตย.