รถบัสคันใหญ่เคลื่อนตัวออกจากทำเนียบรัฐบาลนำคณะสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่สำนักโฆษกรัฐบาลรวมแล้วหลายสิบชีวิตมุ่งหน้าสู่สนามบินอู่ตะเภา เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อร่วมทำข่าวการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือที่เรียกว่าอีอีซี ซึ่งเป็นการประชุมนัดแรก
การเดินทางครั้งนี้นอกจากจะได้สัมผัสกับสถานที่จริงของกระดูกสันหลังอีอีซี อย่างสนามบินอู่ตะเภาแล้ว ยังได้รับประสบการณ์สัมผัสกับบรรยากาศแวดล้อมจริงในพื้นที่อีอีซีและใกล้เคียงด้วย
เปิดประสบการณ์แรกของการเดินทางด้วยปัญหารถติดหนึบ ช่วงทางเข้าท่าเรือแหลมฉบัง รถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่ประกบซ้าย-ขวารถบัส เคลื่อนตัวไปทีละนิดไม่ผิดแผกแตกต่างไปจากรถติดในกรุงเทพฯเลยแม้แต่น้อย
ออกจากทำเนียบเวลาประมาณ 17.30 น. พักรับประทานอาหารประมาณ 1 ชั่วโมง ถึงที่พักศูนย์ฝึกศึกษาบุคลากรด้านปิโตรเลียมและพลังงานทหาร จ.ระยอง ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากสนามบินอู่ตะเภาเท่าใดนักในเวลาประมาณ 24.00 น. รวมใช้เวลาเดินทางไม่รวมพักรับประทานอาหาร 5 ชั่วโมงครึ่ง กับระยะทางประมาณ 200 กิโลเมตร
การเดินทางไปภาคตะวันออกมีปัญหาเรื่องการจราจรเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะบริเวณทางเข้านิคมอุตสาหกรรม แม้จะแก้ปัญหาโดยการตัดถนนเพิ่มก็ใช่ว่าจะช่วยแก้ปัญหาได้เบ็ดเสร็จ
ยิ่งอนาคตจะดึงการลงทุนมาอีอีซีเพิ่มใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายด้วยแล้วจะยิ่งไปกันใหญ่ นั่นจึงเป็นที่มาของการอนุมัติโครงสร้างพื้นฐานของกรรมการอีอีซีใน 2 โครงการ ซึ่งจะช่วยให้อีอีซีดูดีมีเสน่ห์น่าลงทุน ปิดริ้วรอยขี้เหร่ของความไม่สะดวกในการเดินทางประกอบด้วย
โครงการแรก การประกาศให้พื้นที่ 6,500 ไร่ ของสนามบินอู่ตะเภา เป็นเขตส่งเสริมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือเป็น “เมืองการบินภาคตะวันออก” ส่วนหนึ่งในแผนคือการปรับปรุงเพิ่มศักยภาพของสนามบินอู่ตะเภาให้รองรับผู้โดยสารให้มากขึ้น โดยได้รับความร่วมมือจากทหารเรือเป็นอย่างดี
...
ภาพความหรูหราโอ่อ่าที่ปรากฏให้เห็นสำหรับใช้เป็นสถานที่ประชุมครั้งนี้ คือ อาคารที่พักผู้โดยสารแห่งใหม่ ที่เนรมิตขึ้นภายใน 1 ปี มีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อมสรรพ และมีแผนจะเปิดใช้อย่างเป็นทางการประมาณเดือน ส.ค.นี้
เปรียบเทียบกับอาคารเดิมที่ใช้อยู่ในปัจจุบันซึ่งเป็นอาคารชั้นเดียวแล้วจะเห็นความแตกต่างของยุคสมัยอย่างชัดเจน
ขณะเดียวกันจะเพิ่มรันเวย์ที่ 2 มารองรับด้วย คุณกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พาคณะสื่อมวลชนกลุ่มหนึ่งไปลงดูสถานที่สร้างรันเวย์ หลังจากนั้นก็กลับมาเล่าให้เพื่อนๆฟังพร้อมเปิดภาพให้ดูว่า มีรถแทรกเตอร์ปรับดินอยู่ 2 คัน พื้นที่ส่วนใหญ่ยังเป็นป่ารกอยู่ แต่เริ่มไถปรับเป็นดินแดงๆบ้างแล้ว
รันเวย์เดิมสร้างมาตั้งแต่สงครามอินโดจีน โดยเป็นความร่วมมือกันของสหรัฐอเมริกาและรัฐบาลไทย จึงมีความแข็งแรงเป็นพิเศษสามารถรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ทุกลำในโลกนี้ได้ เช่น Boeing 747 หรือ A380 ยกเว้นก็เพียงยานอวกาศเท่านั้น
โครงการที่ 2 คือ โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง เชื่อม 3 สนามบิน คือ ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา ความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้เวลาเดินทางจากอู่ตะเภามาสุวรรณภูมิเพียง 45 นาทีเท่านั้น อนาคตนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ นักลงทุน พนักงานบริษัท สามารถเลือกโดยสารเครื่องบินมาลงที่ไหน หรือ พักที่ไหนก็ได้ตามความพึงพอใจ ทั้งที่ระยอง หรือกรุงเทพฯ เพราะไม่มีปัญหาเรื่องเวลาในการเดินทาง
พ่อแม่ลูกสามารถพักอยู่ด้วยกันได้ที่กรุงเทพฯ เช้าก็นั่งรถไฟความเร็วสูงไปทำงานที่ระยองได้ ไม่ต้องจากบ้านจากคนในครอบครัว ไปเช่าที่พักอยู่ คุณภาพชีวิตก็จะดีขึ้น
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้โอกาสในการประชุมครั้งนี้ เชิญผู้บริหารบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ทั้งในและต่างประเทศจำนวน 16 บริษัท มาพูดคุยและให้คำมั่นสัญญาว่า โครงการอีอีซีเกิดแน่นอน ภาคเอกชนเองก็มีท่าทีตอบรับกันเป็นอย่างดี
เมื่อปักหมุด ลงเสาเอก ปักเสาเข็ม ส่งสัญญาณชัดเจนกันขนาดนี้ ก็ไม่ต้องแปลกใจที่ราคาที่ดินจะขยับกันขึ้นยกแผง เอกชนบางรายถึงขั้นวางแผนจะไปสร้างโรงพยาบาลในอีอีซีกันแล้ว
เป็นการเปิดประสบการณ์ที่ทำให้เห็นอนาคตประเทศในอีกมิติหนึ่ง แทบจะเป็นครั้งแรกที่ทำให้รู้สึกคึกคักและมีความหวังขึ้นมาบ้าง หลังจากที่ห่อเหี่ยว สาละวนกันอยู่แต่เรื่องทะเลาะตบตีกันมานาน.
สมพิศ ศรีนาค รายงาน