เมื่อวานนี้ผมเขียนถึงศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล-ขับร้อง) สุเทพ วงศ์กำแหง ที่อำลาจากแฟนเพลงไปแล้วอย่างไม่มีวันกลับ ด้วยความรักความอาลัยในฐานะที่ผมเป็นแฟนคลับของพี่สุเทพคนหนึ่ง
เขียนแล้วก็นึกขึ้นมาได้ว่า นอกจากร้องเพลงได้อย่างยอดเยี่ยมและเป็นอมตะจนได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติดังกล่าวแล้ว พี่เทพยังเป็น “นัก” อื่นๆอีก 2-3 นัก ที่ควรแก่การบันทึกไว้เช่นเดียวกัน
นักแรกเลยก็คือ “นักวาดรูป” หรือ “จิตรกร” นั่นเอง แม้จะไม่ โดดเด่นนักสำหรับอาชีพนี้ แต่ความใฝ่ฝันที่จะเป็นนักวาดรูปนี่เองที่ทำให้พี่เทพก้าวมาสู่ความเป็นนักร้องระดับตำนานของประเทศไทย
พี่เทพให้สัมภาษณ์ไว้ในนิตยสารและหนังสือหลายฉบับว่า ช่วงที่พี่เป็นเด็กเรียนมัธยมอยู่ที่อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา พี่สนใจในวิชาวาดเขียนและชอบมากๆ ถึงขนาดวาดภาพวิวทิวทัศน์ หัวรถจักร หัวรถไฟ ของสถานีสีคิ้วจนคุณครูประทับใจแนะให้เรียนต่อทางด้านวาดรูป
เป็นเหตุให้ สุเทพ วงศ์กำแหง ตัดสินใจสอบเข้าเรียนต่อที่ โรงเรียนเพาะช่าง เมื่อ พ.ศ.2490 และจบเมื่อ พ.ศ.2493 จากนั้นก็ไปทำงานรับจ้างเขียนป้ายและออกแบบให้แก่ร้านทำบล็อกร้านหนึ่งแถวๆวงเวียน 22 กรกฎาคม
เผอิญมีบ้านพักอยู่ใกล้กับ “ครูไหล” ไสล ไกรเลิศ ครูเพลงและนักแต่งเพลงชื่อดังของยุคโน้น ก็เลยถือโอกาสไปฝากเนื้อฝากตัว เดินตามครูไหลในฐานะคนชอบร้องเพลงอยู่หลายปี
แต่ครูไหลก็ยังไม่แต่งเพลงให้ร้อง จนแล้วจนรอดจึงต้องไปเดินตาม ครู ป.ชื่นประโยชน์ นักแต่งเพลงอีกท่านหนึ่ง ปรากฏว่าได้ร้องเพลงอัดแผ่นเสียงครั้งแรก ด้วยเพลงของครู ป.ชื่นประโยชน์ นี่เอง
...
จากนั้น สุเทพ วงศ์กำแหง ก็ตัดสินใจเข้าวงการบันเทิงเต็มตัว อำลาอาชีพนักเขียนป้ายและออกแบบทำบล็อกตั้งแต่บัดนั้น
แม้พี่เทพจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ในฐานะนักวาดรูปหรือจิตรกร หรือช่างเขียน ช่างออกแบบก็เถอะ...แต่ถ้าไม่มีใจรักด้านนี้อยู่ก่อน พี่อาจจะไม่ลงมาเรียนเพาะช่างที่กรุงเทพฯ และก็คงจะไม่ได้เจอ ครูไสล หรือครู ป.ชื่นประโยชน์ จนทำให้ชีวิตแปรเปลี่ยนมาเป็นนักร้องผู้ยิ่งใหญ่ในภายหลัง
อีก “นัก” หนึ่ง ที่พี่เทพเคยเป็นอยู่พักหนึ่งก็คือ “นักเขียน” เคยเขียนคอลัมน์ให้หนังสือพิมพ์รายวันหลายฉบับ รวมทั้งไทยรัฐด้วย และล่าสุดเขียนให้กับ “ฟ้าเมืองไทย” ของพี่ อาจินต์ ปัญจพรรค์
สำนวนนุ่ม นิ่มนวล คล้ายๆเสียงพี่เวลาร้องเพลงยังไงยังงั้น
ก็มาถึง “นัก” สุดท้ายที่พี่เทพไปหลงเสน่ห์อยู่พักใหญ่ นั่นก็คือ “นักการเมือง” นั่นเอง
พี่เทพเคยเป็น ส.ส.ที่นครราชสีมา บ้านเกิดตัวเองมาแล้ว 1 สมัย ตอนหลังแม้จะได้คะแนนดีแต่ก็สอบตก เลยทำท่าจะเลิกเล่นไปพักหนึ่ง
ในที่สุดก็กลับมาเล่นใหม่ คราวนี้สมัครในสังกัดพรรคพลังธรรมของ พลตรีจำลอง ศรีเมือง ได้เป็น ส.ส.ของ กทม.เราอยู่ถึง 3 ปี (2531-2534) มีการปฏิวัติรัฐประหารอีกหน พี่เทพก็เลยประกาศเลิกเล่นการเมืองโดยเด็ดขาด ตั้งแต่บัดนั้น
ผมเองมาสนิทสนมจนถึงขั้นเรียกพี่เรียกเชื้อ ในช่วงที่เล่นการเมืองนี่แหละครับ เหตุเพราะพี่แวะมาคุยกับฝ่ายข่าวการเมืองที่ไทยรัฐบ่อยๆ และ พ.ศ.นั้น กอง บก.ของเราอยู่รวมกันในชั้นเดียว เวลาพี่จะไปโต๊ะการเมืองต้องผ่านโต๊ะผมก่อน ก็เลยสนิทสนมกันเรื่อยมา
แม้พี่เทพจะไม่ประสบความสำเร็จมากนักทางด้านการเมือง ถ้ามองว่าพี่ยังไปไม่ถึงตำแหน่งรัฐมนตรี หรือตำแหน่งการเมืองที่สำคัญต่างๆ
แต่ผมว่า ถ้ามองในแง่ของการเป็นนักการเมืองที่ดี ที่น่ายกย่อง มือสะอาด ไม่ซื้อเสียง (เพราะไม่มีเงินจะซื้อเหมือนใครอื่น) พี่เทพถือเป็นนักการเมืองที่สมบูรณ์แบบที่สุด
ถ้าประเทศไทยของเรามีนักการเมืองที่ดีอย่างพี่สุเทพ วงศ์กำแหง สักค่อนหนึ่งของสภาฯละก็ ระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยของเราไปไกลกว่านี้เยอะ
เพราะนักการเมืองน้ำดีมักอยู่ไม่ได้ นักการเมืองน้ำเน่ากับอยู่ได้ และอยู่ทน ระบอบประชาธิปไตยเมืองไทยถึงได้ลุ่มๆดอนๆอย่างที่เห็น และเป็นอยู่มาจนถึงปัจจุบัน เผลอๆจะทอดยาวไปในอนาคตข้างหน้า เอาด้วยซ้ำ.
“ซูม”