วันเสาร์สบายๆวันนี้ไปคุยกันเรื่อง “ความชรา” กันดีกว่านะครับ สภาพัฒน์ เพิ่งรายงาน ครม.ว่า เมืองไทยเข้าสู่ “สังคมชรา” เรียบร้อยแล้ว ปี 2562 ที่ผ่านมาเป็นปีแรกที่ประชากรเด็ก (ตั้งแต่แรกเกิดถึง 14 ปี) มีจำนวนเท่ากับผู้สูงอายุพอดี คือ 11.3 ล้านคน ปี 2563 เด็กเกิดใหม่จะเริ่มลดลง อีก 30 ปีข้างหน้า พ.ศ.2583 ประชากรไทยจะลดลงเหลือ 65.4 ล้านคน วัยแรงงานจะเหลือ 1.8 คนต่อผู้สูงอายุ 1 คน น่าเป็นห่วงครับ ความชราของคนไทย ไม่เพียงมีอายุขัยยาวขึ้นเฉลี่ยผู้หญิง 83.2 ปี ผู้ชาย 76.8 ปี สิ่งแวดล้อมรอบตัวก็ทำให้ชราเร็วขึ้น โดยเฉพาะ โทรศัพท์มือถือ ทำให้ “แก่เร็วขึ้น” เร็วมาก

ยิ่งคนไทยเป็น ชาติที่ใช้เน็ตมือถือมากที่สุดในโลก ก็ยิ่งแก่เร็วกว่าชาติอื่น

จากข้อมูลวิจัยล่าสุดของ มหาวิทยาลัยสแตมฟอร์ด สหรัฐฯ พิมพ์ใน วารสาร Nature Medicine ปลายปี 62 เปิดเผยว่า ความชราของมนุษย์ไม่ได้เป็นกระบวนการที่ค่อยๆเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกวัน อย่างที่เคยเข้าใจกัน แต่ร่างกายมนุษย์จะมีวาระที่เกิดการทรุดโทรมเสื่อมถอยในระดับเซลล์ครั้งใหญ่รวม 3 ครั้งในชีวิต

ทีมนักวิจัยได้เจาะลึก “ความชราภาพ” ลงในระดับ โปรตีนหลายพันชนิดในเลือด ที่เรียกกว่า โปรทีโอม (Proteome) ซึ่งสามารถทำนายอายุที่แท้จริงและระดับความแก่ชราที่เกิดขึ้นจริงกับอวัยวะส่วนต่างๆของคนเราได้ ทำให้พบว่า ความชราของคนเรานั้นไม่ได้เกิดขึ้นในอัตราเดียวกันตลอดทั้งชีวิต คือ ไม่ได้ค่อยๆแก่ลงไปทุกวัน

จากการวิเคราะห์ น้ำเลือดหรือพลาสมา ของกลุ่มตัวอย่าง 4,263 คน ที่มีอายุ 18–95 ปี ดูลึกลงไปถึง ระดับปริมาณของโปรตีนกว่า 3,000 ชนิดในน้ำเลือด พบว่า มีโปรตีน 1,379 ชนิด หรือ 1 ใน 3 มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปตามวัยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ เกิดความเปลี่ยนแปลงของโปรตีนครั้งใหญ่เมื่ออยู่ในวัยผู้ใหญ่ตอนต้น คือมีอายุได้ 34 ปี และ เกิดการเปลี่ยนครั้งใหญ่อีกสองครั้ง เมื่อมีอายุถึงวัยกลางคนตอนปลาย คือมีอายุ 60 ปี และ ในวัยชรา เมื่อมีอายุ 78 ปี

...

ทีมวิจัยยังไม่ทราบสาเหตุที่ทำให้ ร่างกายเกิดความชราอย่างไม่ต่อเนื่อง แต่ การตรวจโปรตีนในเลือด ทำให้รู้ถึง ความแข็งแรงหรืออ่อนแอที่แท้จริงของสุขภาพร่างกายได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ทำให้แพทย์สามารถเตือนให้คนไข้ทราบได้ว่า อวัยวะส่วนใดยังเยาว์วัยหรือมีความชราต่างไปจากอายุจริง ทีมวิจัยชุดนี้กำลังพัฒนา เครื่องมือตรวจโปรตีนในเลือด 373 ชนิด ซึ่งสามารถบ่งบอกอายุที่แท้จริงของคนเราได้อย่างแม่นยำและสะดวกรวดเร็ว คาดว่า จะทำสำเร็จในอีก 3 ปีข้างหน้านี้ ก็ต้องถือเป็นข่าวดีของมนุษย์เราเลยทีเดียว

แม้ร่างกายจะมีกลไกพิเศษทำให้ไม่แก่ลงไปทุกวัน แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้เราแก่ลงไปทุกวัน กลับเป็น โทรศัพท์มือถือ ที่เราก้มหน้าใช้กันอยู่ทุกวันนั่นแหละ ทีมนักวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยโอเรกอน สหรัฐฯ ได้ตีพิมพ์งานวิจัยใน วารสารการแพทย์ Aging and Mechanism of Disease ถึงผลการศึกษาวิจัยเรื่อง ผลกระทบจาก “แสงสีฟ้า” (Blue Light) ที่แผ่ออกมาจากหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ อาจไปเร่งกระบวนการแก่ชราของร่างกายมนุษย์ได้

ทีมวิจัยได้ใช้ แมลงวันทอง ในการศึกษา เนื่องจาก มีกลไกเซลล์และการพัฒนาแบบเดียวกับสัตว์หลายชนิด รวมทั้ง “มนุษย์” ด้วย

ผลการศึกษาพบว่า แมลงวันที่ได้รับแสงสีฟ้าเป็นเวลานานอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่ได้รับแสงเข้าตาโดยตรง ทำให้แมลงวันบางตัวตาบอด มีชีวิตที่สั้นกว่ามากเมื่อเทียบกับแมลงวันที่ไม่ได้รับแสง ทีมวิจัยสันนิษฐานว่า อาจเป็นผลจากการตอบสนองความเครียดที่เกิดขึ้นจากหน่วยพันธุกรรม การค้นพบนี้ยังสนับสนุนงานวิจัย “อันตรายของแสงสีฟ้า” ที่อาจส่งผลเสียต่อ “สายตา” และรบกวนการทำงานของ “นาฬิการ่างกาย” จนส่งผลเสียต่อการนอนอีกด้วย

ปี 2019 คนไทยติดโทรศัพท์มือถือสูงสุดในโลก ใช้เวลาอยู่หน้าจอมือถือนานถึง 9.11 ชั่วโมงต่อวัน เลยส่งผลให้ ชีวิตสั้นลงทุกวัน และ สายตาเสีย อีกด้วย.

“ลม เปลี่ยนทิศ”