วันเสาร์สบายๆวันนี้ผมมีข้อห่วงใยต่อสุขภาพของเกษตรกรไทยที่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิด พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส รวมถึงคนไทยทั้งประเทศที่บริโภคพืชผักผลไม้ที่มีสารเคมีอันตรายเหล่านี้ตกค้างอยู่ ที่จริงไทยควรจะสั่งแบนห้ามใช้สารพิษ 3 ชนิดนี้ไปตั้งนานแล้ว แต่ด้วยผลประโยชน์มหาศาลของธุรกิจนี้ จึงมีอิทธิพลครอบงำหน่วยงานภาครัฐ การตัดสินใจสั่งแบนก็เลยถูกเตะถ่วงเรื่อยมา ทำให้คนไทยยังต้องเสี่ยงโรคภัยตายผ่อนส่งเหมือนเดิม หนำซ้ำนักวิชาการที่ออกมาเคลื่อนไหวก็ถูกขู่ฆ่าเอาด้วย

กรมควบคุมโรคได้เผยแพร่ผลวิจัยที่บ่งชี้ถึงพิษภัยของสารเคมี 3 ชนิดนี้มาโดยตลอด หรือแม้แต่หนังสารคดีของฝรั่งก็เคยไปสัมภาษณ์ เหยื่อผู้เคราะห์ร้ายชาวต่างชาติที่ป่วยเป็นมะเร็ง เป็นโรคพาร์กินสัน จากการใช้สารพิษเหล่านี้ ซึ่งศาลตัดสินให้บริษัทสารเคมีชื่อดังจ่ายชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์รายละนับพันล้านบาท และยังมีคดีที่ฟ้องร้องค้างคาอยู่อีกนับหมื่นคดี

จากข้อมูลพื้นฐานที่ผ่านการตรวจพิสูจน์แล้วพบว่า พาราควอตเป็น สารพิษเฉียบพลันสูง ต่อมนุษย์ แค่จิบเดียวก็ตายได้ โดยไม่มียาถอนพิษ ทั้งยังเป็น สารพิษเรื้อรัง ก่อให้เกิดโรคพาร์กินสัน ส่งผลต่อ ระบบสืบพันธุ์ การตั้งครรภ์ และ การพัฒนาของตัวอ่อนในครรภ์ แม้ผู้ใช้มีการป้องกันอย่างดี ใช้อุปกรณ์สะพายหลังฉีดพ่น แต่ก็ยังทำให้มีการสัมผัสสารเกินค่ามาตรฐานถึง 60 เท่า ซึ่งเกษตรกรไทยใช้เครื่องฉีดแบบสะพายหลังมากถึง 80% นอกจากนี้พาราควอตยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำลายจุลินทรีย์ในดิน คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เคยค้นพบสารตกค้างในหอย กบ ปู ปลา ในบริเวณใกล้เคียงพื้นที่ที่มีการใช้พาราควอต

สำหรับ ไกลโฟเซต สถาบันมะเร็งระหว่างประเทศ (IARC) กำหนดให้เป็น สารก่อมะเร็ง และเมื่อไกลโฟเซตรวมตัวกับโลหะหนักจำพวกสารหนูในน้ำบาดาล จะทำให้เกิดโรคไตเรื้อรัง สารเคมีตัวนี้ยังรบกวนการทำงานของ ต่อมไร้ท่อ ส่วน คลอร์ไพริฟอส ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของระบบประสาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่แม่ได้รับคลอร์ไพริฟอสในระหว่างตั้งครรภ์ จะมีพัฒนาการช้า ความจำสั้น ไอคิวต่ำ สมาธิสั้น ตอบสนองช้า ควบคุมการเคลื่อนไหวแย่ลง

...

ที่สำคัญสารพิษทั้ง 3 ชนิดตกค้างอยู่ในซีรั่มของแม่และสะดือทารกแรกเกิดได้

ปัจจุบันมีเกือบร้อยประเทศที่แบนสารเคมีอันตรายเหล่านี้ เฉพาะพาราควอตมีถึง 51 ประเทศที่สั่งแบน และมีบางประเทศที่จำกัดการใช้ บางประเทศอนุญาตให้ใช้ได้ภายใต้ข้อจำกัดที่เข้มงวดมาก เช่น ห้ามมนุษย์ฉีดพ่น ให้ใช้เครื่องจักรเครื่องยนต์ฉีดพ่นแทน

ส่วนไทยรอแค่เพียงการตัดสินใจของ คณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งเอาแต่เตะถ่วงมาตลอด แม้กระทั่งการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อเดือนที่แล้ว คณะกรรมการก็ ลากเวลาออกไปอีก 60 วัน อ้างว่ามีบัญชาจากนายกรัฐมนตรีให้คณะกรรมการไปหารือ 4 ฝ่าย ภาครัฐ ผู้นำเข้า เกษตรกร และผู้บริโภค เพื่อสร้างความเข้าใจปัญหา วิธีการ ผลกระทบ และการหาสารอื่นมาทดแทน ทั้งๆที่เจตนารมณ์ของนายกฯคงไม่ได้ต้องการถ่วงเวลา เพราะข้อมูลต่างๆมีการพูดคุยกันจนตกผลึกแล้ว สามารถเสนอวาระแล้วลงมติได้เลย

ถึงวันนี้ผมเชื่อว่าทุกภาคส่วนรับรู้ถึงพิษภัยจากการใช้สารพิษดังกล่าวเป็นอย่างดี นักวิชาการและภาคสังคม ได้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องอย่างหนักในช่วง 2-3 ปีนี้ และ ผู้ตรวจการแผ่นดิน เคยมีมติส่งหนังสือถึงนายกฯ เสนอให้แบนสารเคมี 3 ชนิดนี้ก่อนวันที่ 1 ม.ค.63 ห้ามนำเข้า ห้ามจำหน่าย และห้ามครอบครอง แม้แต่การอภิปรายในสภาที่ตั้งแง่ใส่กันทุกครั้ง แต่กรณีนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ ฝ่ายค้านและรัฐบาลมีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาแนวทางควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตร

ในการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายครั้งหน้า ขออย่าเล่นโยกโย้กันอีกเลย เสนอวาระแล้วลงมติเถอะครับ และผมอยากให้เป็นการลงมติแบบเปิดเผย เพื่อให้สาธารณชนรับรู้ว่ากรรมการทั้ง 29 คน มีใครบ้างที่ยืนฝั่งนายทุน ใครยืนอยู่ข้างเกษตรกรและผู้บริโภค.

ลมกรด