ในหนังสือ เทศกาลจีน และการเซ่นไหว้ (สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ.2557) อาจารย์ถาวร สิกขโกศล เขียนเรื่อง เทศกาลกินเจไว้ ตั้งแต่หน้า 447 ถึงหน้า 503 ลึกซึ้งซับซ้อนราวงานวิจัย ผมเอาความรู้ท่าน เขียนไปก็หลายครั้ง

ครั้งนี้ เริ่มอ่านอีกที สะดุดคำถาม เจ คืออะไร?

เจ เป็นคำยืมจากภาษาจีนแต้จิ๋ว เสียงแต้จิ๋วเป็นเสียงกึ่งสระเอ กับสระแอ ลูกหลานจีนในไทยบางคน จึงออกเสียงเป็นแจ ซึ่งก็ไม่ควรต้องเถียงกันว่า เสียงไหนถูกกว่า

เพราะถ้าใช้ตามเสียงที่แพร่หลายว่า เจ คำนี้ในภาษาจีนกลาง ออกเสียงเป็น ไจ จาย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 นิยามคำเจว่า อาหารที่ไม่มีของสด คาว สำหรับญวนหรือจีนที่ถือศีลแจก็ว่า

ต่อมาพจนานุกรมฯฉบับ พ.ศ.2542 ปรับคำนิยาม เป็นอาหารที่ไม่ปรุงด้วยเนื้อสัตว์และผักบางชนิด เช่น กระเทียม กุยช่าย ผักชี ตามนิยามหลักการกินเจ ต้องงดผักกลิ่นฉุน ประเภท กระเทียม ผักชี ด้วย

จึงต่างจากมังสวิรัติ ซึ่งตามรูปศัพท์ แปลว่า งดเว้น (วิรัติ) เนื้อ (มังสะ เนื้อคนและเนื้อสัตว์)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 นิยามคำ มังสวิรัติ ไว้ว่า การงดเว้นกินเนื้อสัตว์ เรียกอาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์ มีแต่พืชผักว่า อาหารมังสวิรัติ

มังสวิรัติกับเจ ยังมีความแตกต่างจากกันอีก เช่น ผู้กินเจดื่มนมได้ แต่ไม่กินไข่

ผู้ถือมังสวิรัติกินไข่ได้ แต่ไม่ดื่มนม

อาจารย์ถาวร ยังค้นคว้าหาความรู้มาบอกต่ออีกว่า ในภาษาไทยเก่า เรียกอาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์ว่า กระยาบวช พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน นิยามคำ กระยาบวช ว่า เครื่องกินที่ไม่เจือด้วยของสดคาว

เครื่องกระยาบวช คนไทยใช้ไหว้เจ้าไหว้ผีตามปกติ ก็คือขนมต้มแดง ขนมต้มขาว กล้วยน้ำว้าหวีงาม...นิยายอิงพงศาวดารจีนรุ่นเก่า แปลคำ กินเจ ว่า ถือศีลกินกระยาบวช คำมังสวิรัติ เกิดขึ้นในยุคหลัง

...

เป็นอันว่า การกินเจกับการกินมังสวิรัติต่างกัน คนจีนในไทย ใช้คำเรียกต่างกัน กินเจ จีนแต้จิ๋ว เรียก “เจี๊ยะเจ” จีนกลางเรียก “ซือไจ” กินมังสวิรัติ จีนแต้จิ๋วเรียก “เจี๊ยะสู่” จีนกลางเรียก “ซือซู่”

คัมภีร์หลี่จี้ พูดถึงเรื่องเจสมัยราชวงศ์โจวว่า “เมื่อจะทำพิธีเซ่นสรวงบูชา ประมุขต้องกินเจ เจคือความเรียบร้อยบริสุทธิ์ ชำระกายใจที่ไม่บริสุทธิ์ให้บริสุทธิ์แน่วแน่ หากไม่มีเรื่องสำคัญ ไม่มีเรื่องต้องเคารพนบนอบ ประมุขจะไม่กินเจ

ครั้นถึงเวลากินเจ ต้องระวังความชั่วร้าย ระงับความอยาก หูไม่ฟังดนตรี ใจไม่ฟุ้งซ่าน อยู่ในวิถีแห่งธรรม กิริยาไม่ไร้ระเบียบ ต้องเรียบร้อยตามจารีต

เพื่อให้ประมุขมุ่งถึงธรรมอันประเสริฐ ฉะนั้นต้องกินเจพื้นฐาน 3 วัน สำรวมพฤติกรรมให้ใจสงบ แล้วกินเจเข้มงวดขัดเกลาจิตใจอีก 3 วัน เพื่อให้ใจผ่องใสแน่วแน่

ใจที่ผ่องใสแน่วแน่ เรียกว่า เจ จากนั้นจึงสามารถทำกิจเกี่ยวข้องกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้

ก่อนกินเจ 1 วัน ฝ่ายในต้องแจ้งเตือนชายาประมุข ชายาต้องกินเจพื้นฐาน 7 วัน เข้มงวด 3 วัน ประมุขกินเจที่ห้องฝ่ายหน้า ชายากินเจห้องฝ่ายใน

แล้วจึงไปบวงสรวงบรรพชน ที่หอพระเทพบิดร

ได้ความรู้เรื่องเจ...ไว้พอสมควรแล้ว ก็จะพอเห็นว่า จีนแต่โบราณนานมา ถือการกินเจเป็นเรื่องเคร่งครัด เข้มขลัง ทั้งกาย ทั้งใจ

หลักญาน 5 ของพุทธศาสนา เมื่อกายสะอาด ใจสงบระงับแน่วแน่ เป็นสมาธิได้ ใจจะได้รางวัลทันที ที่เรียกว่า ปีติ หรือความอิ่มใจ ต่อด้วยความสุข โดยไม่หวังพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆเลย

การกินเจให้เป็นจริงๆก็จะได้บุญกุศลจริงๆ ด้วยประการฉะนี้ นี่เอง.

กิเลน ประลองเชิง