หนังสือชุดประวัติศาสตร์สากล ผลงานอมตะของหลวงวิจิตรวาทการ ผมมีอยู่ในตู้หนังสือ สำนักพิมพ์แสงดาว ได้ลิขสิทธิ์พิมพ์ใหม่แบ่งเป็นห้าเล่ม จัดวรรคตอน ตัวหนังสือสบายตา...ก็ยั่วให้อ่านอีก

เล่มประวัติศาสตร์เอเชีย เรื่องพม่า ผมเลือก หลายปมเงื่อนที่สงสัยคาใจ

หัวข้อ นโยบายพระบรมโกศ อ่านแล้วก็ต้องย้อนไปอ่านซ้ำ เพราะเพิ่งรู้ เมื่อสยามไม่เดินแผนใช้ “มอญ” เป็นรัฐกันชน ผลร้ายก็เกิดกับกรุงศรีอยุธยาอย่างอเนกอนันต์

ระหว่างสงครามสามเส้า ไทย พม่า และมอญ หลายร้อยปี สมัยพ่อขุนรามคำแหง สมัยสมเด็จพระนเรศวร สมัยสมเด็จพระนารายณ์ ทรงถือว่า กำแพงแข็งแกร่งของไทย อยู่ที่เมืองมอญ

ตราบใดที่เมืองมอญแข็งแรง กั้นพม่าไว้ได้ ตราบนั้นไทยก็อยู่เป็นสุข

และถ้าพม่าปราบมอญได้เมื่อใด เมื่อนั้นไทยก็เดือดร้อน

แม้สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ก็ทรงทำองค์เป็นภราดา มหามิตรของพระธรรมเจดีย์ เจ้าแผ่นดินมอญ

แต่เป็นเคราะห์กรรมของกรุงศรีอยุธยา เมื่อกษัตริย์วงศ์บ้านพลูหลวง สมเด็จพระเพทราชา ไม่เดินตามบรรพบุรุษ สนับสนุนมอญ ทรงเปลี่ยนนโยบาย หันไปรับทางไมตรีของพม่า

เจ้าอังวะแห่งพม่าแต่งทูตานุทูต เชิญพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการ มายังกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2287 มาขอเป็นไมตรี สมเด็จพระเพทราชาก็ส่งทูตตอบทางไมตรีไปในทันทีทันใด

พระยายมราชเป็นราชทูต พระยาธนบุรีเป็นอุปทูต พระสุธรรมไมตรีเป็นตรีทูต เดินทางพร้อมทูตพม่า

พม่ารอเล่นบทไมตรีกับไทยมานาน จึงใช้โอกาสนี้แพร่ข่าว

ความปรากฏในพงศาวดารของเราเองว่า ทูตพม่าเดินทางอ้อมค้อมเพื่ออวดมอญ ตั้งใจเอาเราเป็นเครื่องโฆษณา ให้มอญเสียน้ำใจ ผูกมัดเราไว้ไม่ให้ช่วยมอญ

การเดินทางขากลับ พระยายมราชราชทูต พระยาธนบุรีอุปทูต ป่วยตายกลางทาง เหลือพระสุธรรมไมตรีตรีทูต กลับถึงอยุธยาคนเดียว

...

พงศาวดารว่า พระวิญญาณอดีตมหาราชของเราทรงกริ้ว ที่กษัตริย์อยุธยาเดินแผนต่างประเทศผิดพลาด

หลวงวิจิตรวาทการ เล่าเหตุการณ์ช่วงนี้ว่า ตอนนั้นมอญตั้งตัวเป็นอิสระ เมื่อรวบรวมกำลังได้มากพอ สมิงทอกับพระยาทะละก็ยกกองทัพขึ้นไปตีพม่า เมื่อกองทัพไปถึงชานเมืองอังวะ ทูตไทยไปถึงพอดี

มอญก็ขวัญเสีย ยกทัพกลับ

ตั้งแต่ต้นประวัติศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมอญ มอญเคยหนีร้อนมาพึ่งเย็นในดินแดนไทยเสมอ

ครั้งนั้น สมิงทอเจอภัยการเมืองจากพระยาทะละมอญด้วยกัน หนีมาพึ่งอยุธยา แต่พระเจ้าแผ่นดินไทยเป็นไมตรีกับพม่า ถือว่าสมิงทอเป็นศัตรูพม่า โปรดให้เอาไปจำขังไว้

ต่อมาก็ส่งลงเรือสำเภา พาไปปล่อยไว้ที่เมืองจีน

ผลจากการเดินแผนการเมืองครั้งนั้น มอญไม่มีไทยหนุนก็อ่อนกำลัง ถูกพม่าปราบลงได้ กำแพงเมืองมอญพัง พม่าก็ได้ทียกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาแตก เมื่อปี พ.ศ.2310

นับเวลาจากเมื่อไทยเลิกใช้มอญ เป็นรัฐกันชน ก็ 20 ปีพอดี

บทเรียน “รัฐกันชน” เหตุให้เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง...นั้น ดูเหมือนจะสอนให้นักการเมืองไทยรุ่นต่อมา เจนจบแผนรัฐกันชนมากขึ้น ใช้กันบ่อยมากจนซ้ำซาก

สามก๊ก การเมืองไทยรอบนี้ เล่นกันสับสน เสียจนจับทางไม่ได้ พรรคไหนถูกใช้เป็นรัฐกันชน พรรคไหนตั้งใจเล่นเป็นรัฐกันชนเสียเอง.

กิเลน ประลองเชิง