ในขณะที่รัฐบาลกำลังเร่งรัดโครงการต่างๆให้เดินหน้าได้ก่อนการเลือกตั้งนี้ มีรายงานข่าวว่านายกรัฐมนตรีไม่พอใจทั้งฝ่ายการเมืองและข้าราชการ ในหลายกระทรวงที่รับผิดชอบโครงการไทยนิยมยั่งยืน เพราะไม่ได้ผลักดันอย่างเต็มที่ ประชาชนไม่รู้จัก ไม่มีผลงานอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งๆที่โครงการดังกล่าวเป็นผลงานภาพรวมและหน้าตาของรัฐบาล
รัฐบาลเปิดตัวโครงการไทยนิยมอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยอนุมัติงบประมาณเกือบแสนล้านบาทให้ชุมชนและหมู่บ้านกว่า 81,000 แห่ง แห่งละ 2 แสนบาทหรือมากกว่า วัตถุประสงค์สำคัญคือยกระดับมาตรฐานการครองชีพของประชาชนในระดับฐานราก นายกรัฐมนตรีกำชับให้เบิกจ่ายงบประมาณ ให้เสร็จสิ้นภายในเดือนกันยายน
มีข่าวเกี่ยวกับโครงการไทยนิยมเป็นระยะๆ ทั้งในด้านบวกและด้านลบ ตัวอย่างของข่าวด้านบวก ได้แก่ ที่กาฬสินธุ์ มีชุมชนเข้าร่วมโครงการ 169 ชุมชน ได้รับงบชุมชนละ 3 แสนบาท เน้นการส่งเสริมอาชีพการเกษตรเป็นกลุ่มๆ กลุ่มเพาะเลี้ยงจิ้งโกร่งประสบความสำเร็จดียิ่ง ทำให้จิ้งโกร่ง กลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจใหม่ มีบริษัทสั่งซื้อถึงเดือนละ 1 ตัน จนผลิตไม่ทัน
ส่วนข่าวในด้านลบ ตัวอย่างเช่นเมื่อหลายเดือนก่อนผลการสำรวจความเห็นประชาชนของสำนักโพล พบว่า คนส่วนใหญ่เคยได้ยินชื่อ “ไทยนิยม” แต่ไม่รู้ว่าโครงการนี้ทำอะไร และมีข่าวด้วยว่ามีหมู่บ้านเกือบ 1,500 แห่ง ไม่ยอมรับงบไทยนิยม เพราะไม่ตรงกับความต้องการของชาวบ้าน เช่น ทางการให้ส่งเสริมการท่องเที่ยว แต่ชาวบ้านต้องการถนนหนทาง
ผู้ใหญ่บ้านแห่งหนึ่งอธิบายให้นักข่าวฟังว่า งบส่งเสริมการท่องเที่ยวของทางการจะนำไปใช้จ่ายในการฝึกอบรม และเดินทางไปศึกษาดูงาน ซึ่งชาวบ้านเห็นว่าไม่มีประโยชน์ แสดงว่ารัฐบาลยังดำเนินโครงการตามวิธีการของข้าราชการตามบทเพลงผู้ใหญ่ลีที่ว่า “ทางการเขาสั่งมาว่า ให้ชาวนาเลี้ยงเป็ดและสุกร” ที่โด่งดังเมื่อหลายสิบปีก่อน
...
การจัดสรรงบประมาณให้ตำบลและหมู่บ้านที่ได้รับความนิยมจากประชาชนทั่วประเทศเป็นครั้งแรก ได้แก่ นโยบาย “เงินผัน” ในสมัยรัฐบาลคึกฤทธิ์ เมื่อกว่า 40 ปีมาแล้ว และมีการต่อยอดเป็นโครงการประชานิยมต่างๆจนถึงปัจจุบัน แต่ต้องเป็นโครงการที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น รวมทั้งการตรวจสอบตามหลักการประชาธิปไตย
มีคนไทยเป็นอันมากที่ยังสงสัย คำว่า “ประชานิยม” ตามความหมายของรัฐบาลคืออะไร ในทางการเมืองการปกครองตรงกับหลักการ “ทางการเขาสั่งมาว่า...” หรือไม่ แต่การปฏิรูปการเมืองตามรัฐธรรมนูญ 2560 ระบุว่า ต้องให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในหลักการประชาธิปไตย และมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเมือง รวมทั้งตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ.