อโรคยา ปรมาลาภา ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ แต่จะมีมนุษย์คนไหนเล่าที่ใช้ชีวิตบนโลกโดยไม่ป่วยไข้
เมื่อครั้งยังหนุ่มฉกรรจ์ ผมสุขภาพแข็งแรง ปีปีนึงแทบจะไม่ป่วยไข้เลย แต่พออายุมากร่างกายเสื่อมโทรมก็เริ่มเจ็บป่วยบ่อย การทำงานของอวัยวะภายในด้อยประสิทธิภาพลง ต้องไปโรงพยาบาลหาหมอบ่อยขึ้น ซึ่งมีหลายครั้งที่โชคไม่ดีไปเจอ หมอที่ไม่ค่อยเอาใจใส่คนไข้ ทั้งๆที่เป็นหมอโรงพยาบาลเอกชน ถามประวัติซักอาการไม่ถึง 1 นาที แล้วสรุปอาการสั้นๆพร้อมกับเขียนใบสั่งยาเป็นอันจบพิธี
บางทีผมมี ข้อสงสัยเกี่ยวกับการปฏิบัติตัว เพื่อให้หายป่วยเร็วขึ้นและเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ไปซ้ำเติมภาวะเจ็บป่วย คุณหมอกลับทำหน้าเซ็งตอบด้วยน้ำเสียงราบเรียบเฉยเมย ก็เข้าใจนะครับว่าหมอต้องตรวจรักษาโรคเดิมซ้ำๆทุกวัน แต่สำหรับคนไข้แล้วอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยพบเจอ แถมยังมีความเครียดวิตกกังวลอีก หมอก็น่าจะให้เวลาและใส่ใจกับคนไข้บ้าง แม้ต้องอธิบายความซ้ำเดิมๆก็ตาม
เคยนึกเล่นๆว่าถ้าโรงพยาบาลมีปุ่มให้คนไข้กดให้คะแนนความพึงพอใจในการรักษาของหมอ ก็คงช่วยทำให้หมออ่อนโยนกับคนไข้มากกว่านี้ แต่ไม่มีโรงพยาบาลไหนกล้าทำเครื่องลงคะแนนให้หรอก เพราะเมืองไทยยังขาดแคลนหมออีกเยอะ ยังไงเสียโรงพยาบาลก็ยังต้องง้อหมอ
ที่ผมบ่นระบายให้ฟังวันนี้เพราะรู้สึกว่า หมอบางคน (ขอย้ำว่าบางคน) ไม่มีจิตวิญญาณความเป็นหมอสักเท่าไหร่ ผมต้องการ “หมอดี” มากกว่า “หมอเก่ง” ยิ่งถ้าเป็นผู้ป่วยวิกฤติโรคร้ายแรง การเอาใจใส่ดูแลจากหมอถือเป็นสิ่งสำคัญทีเดียว หมอที่ดีจะช่วยให้คนไข้มีใจฮึดสู้ มีมากมายหลายกรณีที่คนไข้รอดชีวิตเพราะได้หมอดี
วันเสาร์สบายๆวันนี้ผมเลยถือโอกาสขอประชาสัมพันธ์โครงการ “แพทย์ในดวงใจ 77 จังหวัด” จัดโดย แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพิ่งแถลงเปิดโครงการไปเมื่อวันจันทร์นี้เอง เนื่องจากแพทยสมาคมฯมุ่งเน้นการสร้างจิตสำนึกวิชาชีพแพทย์ และอยากเห็นความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์
...
นพ.รณชัย คงสกนธ์ นายกแพทยสมาคมฯ แถลงว่า โครงการนี้จัดขึ้นเพื่อเฟ้นหาแพทย์ที่มีจริยธรรม เป็นที่รัก ไว้ใจ และเชื่อมั่น ในสายตาของประชาชนจังหวัดนั้นๆ โดยเปิดให้ประชาชนทั้ง 77 จังหวัดเสนอชื่อแพทย์ในดวงใจของตน พร้อมบอกความรู้สึกผ่านสื่อช่องทางต่างๆ เช่น ส่งไปรษณียบัตรมาที่แพทยสมาคมฯ, แอปพลิเคชัน Doctor in my Heart, สแกนคิวอาร์โค้ด เปิดรับรายชื่อจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.
นพ.กีรติ เจริญชลวานิช ประธานคณะทำงานโครงการแพทย์ในดวงใจ กล่าวว่า แพทย์ที่ได้รับคัดเลือกจากประชาชนแสดงว่า มีความสัมพันธ์อันดีกับผู้ป่วย จนเป็นที่ไว้ใจ เชื่อมั่นและศรัทธา เสมือนหนึ่งสมาชิกในครอบครัวของประชาชน ซึ่งแพทยสมาคมฯจะมีการ เชิดชูเกียรติเพื่อสร้างความภาคภูมิใจ และขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ของแพทย์ และจะส่งเสริมโครงการนี้ต่อเนื่องทุกปี เพื่อเป็นรางวัลดวงใจให้แก่แพทย์ของไทย
(ผมชอบมากกับคำว่า “เสมือนหนึ่งสมาชิกในครอบครัว” ถ้าหมอคนไหนทำให้คนไข้รู้สึกอย่างนี้ได้ เชื่อว่าคนไข้หายเร็วแน่ หมอต่างจังหวัดที่ลงเลือกตั้งแล้วได้เป็น ส.ส.ก็เพราะชาวบ้านรักเหมือนคนในครอบครัวนี่แหละ)
ในเอกสารแถลงข่าวยังได้ระบุถึง ข้อมูลในเชิงคุณสมบัติแพทย์ ต้องประกอบด้วยคุณลักษณะของความไม่มีอคติแบ่งแยก เป็นผู้มีศีลธรรม สุภาพอ่อนโยน แต่งกายเหมาะสม มีวิธีคิดด้วยเหตุผลอย่างเป็นระบบ มีการตัดสินใจที่ดี บุคลิกภาพสงบ น่าเชื่อถือ มีความประพฤติดีงาม มีสติปัญญา สามารถแยกแยะความดีและความชั่ว ช่วยเหลือผู้อื่นโดยความสามารถ ไม่หลงงมงายในความเชื่อที่ผิด เป็นผู้มีความดีงามโดยที่มนุษย์ทั่วไปพึงมี
นี่เป็นครั้งแรกที่วงการแพทย์เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมโหวตเลือก ก่อนหน้านี้ที่ทำกันมาแพทย์ใช้วิธีตั้งคณะกรรมการแล้วคัดเลือกกันเอง ฉะนั้นครั้งนี้เรามาร่วมกันโหวตส่งเสริมหมอคนดีกันเถอะครับ.
ลมกรด