เครื่องตรวจวัตถุระเบิดจีที 200 กลับมาเป็นข่าวอีกครั้ง หลังจากที่เงียบหายไปนาน ศาลแขวงดอนเมืองพิพากษาให้จำคุกพนักงานบริษัทผู้แทนจำหน่ายในประเทศไทย 9 ปี เนื่องจากศาลเห็นว่าจำเลยในฐานะผู้ขาย คงทราบว่าสินค้าใช้การไม่ได้ แต่ยังขายให้กรมราชองครักษ์ จึงมีความผิดฐานฉ้อโกง และศาลยังนัดอ่านคำพิพากษาอีกหนึ่งคดี ในเดือนหน้า
ก่อนหน้านี้พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องพนักงานบริษัท ผู้เป็นตัวแทน จำหน่ายเครื่องจีที 200 ที่กรมสรรพาวุธเป็นผู้เสียหาย โจทก์ฟ้องให้ลงโทษจำคุกจำเลย 10 ปี สืบเนื่องจากการขายจีที 200 จำนวน 12 สัญญา มูลค่า 600 ล้านบาท และอ้างถึงการทดสอบของสถาบันการศึกษา ระบุว่าจีที 200 ไม่สามารถใช้งานได้จริงตามคู่มือและคำโฆษณาของบริษัท
เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่หน่วยราชการไทย 15 แห่ง จัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดจำนวน 1,398 เครื่อง มูลค่า 1,134 ล้านบาท กองทัพบกเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุดในช่วงที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีมหาดไทยคนปัจจุบัน เป็น ผบ.ทบ. อยู่ในขณะนั้น วัตถุประสงค์สำคัญเพื่อนำไปตรวจวัตถุระเบิด เพื่อปกป้องชีวิตเจ้าหน้าที่ในชายแดนภาคใต้
ผลการทดสอบของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เมื่อปี 2553 เป็นการทดสอบหาสารตัวอย่าง 20 ครั้ง แต่เครื่องจีที 200 หาตำแหน่งสารได้อย่างถูกต้องเพียง 4 ครั้ง และเมื่อทหารนำไปตรวจที่แห่งหนึ่งในภาคใต้ แจ้งว่าไม่พบระเบิด แต่เมื่อตำรวจไปตรวจสอบพบว่าระเบิดยังทำงานอยู่ และเกิดระเบิดขึ้น เป็นที่มาของฉายา “ไม้ล้างป่าช้า” ที่สื่อมวลชนมอบให้
คนไทยในชนบทบางพื้นที่ใช้ไม้ล้างป่าช้าเพื่อค้นหาหลุมฝังศพเพื่อทำพิธีล้างป่าช้า แต่ไม้ก็คือไม้ ชี้มั่วส่งเดช เช่นเดียวกับจีที 200 ตำรวจหาสารตัวอย่าง 20 ครั้ง แต่ชี้ได้ถูกต้องแค่ 4 ครั้ง ชี้ผิดพลาดถึง 16 ครั้ง แต่เจ้าหน้าที่รัฐบาลชี้แจงว่า เรื่องนี้ชี้ผิดชี้ถูกยาก เพราะเป็นเรื่องของความเชื่อเหมือนกับเชื่อมั่นในพระเครื่อง เจ้าหน้าที่ บางคนเชื่อว่าจีทีใช้การได้
...
คล้ายกับรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ที่ยืนยันว่ากองทัพไม่ได้ทำผิด และไม่ถือเป็นบทเรียนอะไร เพราะขณะนั้นหน่วยงานทดสอบแล้วใช้การได้ และคล้ายกับนายกรัฐมนตรี เมื่อถูกนักข่าวเรียนให้ทราบว่าศาลอังกฤษพิพากษาลงโทษเจ้าของบริษัทผู้ขายจีที 200 ทั้งจำคุกและปรับ รัฐบาลไทยจะดำเนินการอย่างไรกับหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ไทยผู้จัดซื้อ
ได้รับคำตอบจากนายกรัฐมนตรีว่าเขาลงโทษ “ผู้ขาย” เพราะเป็นผู้ทำผิด หลอกขายของเก๊ให้ต่างประเทศ ส่วนเจ้าหน้าที่ไทยเป็น “ผู้ซื้อ” ไม่ได้ทำผิด แม้ว่ารายการล้างป่าช้านี้รัฐต้องเสียค่าโง่ไปกว่าพันล้านบาท แสดงว่าเลิกพูดถึง “ธรรมาภิบาล” ที่ชอบเอ่ยอ้าง ธรรมาภิบาลมีองค์ประกอบสำคัญเช่น ความโปร่งใส ความรับผิดชอบ และความคุ้มค่า เป็นต้น.