เป็นเรื่องวิพากษ์วิจารณ์กันสนุกปาก ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในสาระสำคัญที่ว่า สามารถที่จะพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ เมื่อจำเลยหลบหนีก็ไม่จำเป็นต้องจำหน่ายคดีชั่วคราว และคดีก็จะไม่ขาดอายุความ หลังจากที่กฎหมายฉบับนี้ได้รับความเห็นชอบจาก สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. มีเสียงที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ขึ้นอยู่กับทัศนคติและอคติของแต่ละฝ่าย
หลักกฎหมายทั่วไปแล้ว การออกกฎหมายที่จะบังคับใช้กับประชาชนต้องเป็นธรรมกับทุกฝ่ายและใช้บังคับกับทุกคนในประเทศนี้ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การออกกฎหมายจะต้องไม่มากเกินความจำเป็นและจะต้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้เสนอความเห็น จากนั้นนำความเห็นมาสรุปเป็นรายงานเพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบต่อไป
กฎหมายสาธารณะ จะต้องเผื่อทางเลือกไว้ให้กับประชาชนด้วย ไม่เช่นนั้นก็จะกระทบกับหลักสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยทั่วไป โดยมีข้อบังคับไว้ว่า การออกกฎหมายสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของประชาชนจะต้องทำประชาพิจารณ์เสียให้เรียบร้อยก่อน
เผอิญว่า ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่อยู่ภายใต้การพิจารณาของ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้เหตุผลว่า เปิดโอกาสให้นักการเมืองได้ต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรมและป้องกันการหลบหนีคดีเพื่อรอให้ขาดอายุความ จึงให้สามารถพิจารณาคดีลับหลังจำเลยในกรณีที่ไม่สามารถนำตัวจำเลยมาเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีได้ มีคำถามในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมอยู่หลายคำถาม
เช่น การบังคับใช้กฎหมายย้อนหลัง ตามหลักกฎหมายทั่วไปจะนำไปใช้ได้ เฉพาะที่เป็นคุณ เท่านั้น จะนำไปใช้ ให้เกิดโทษกับจำเลยไม่ได้ ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นว่าออกกฎหมายเพื่อเอาผิดจำเลยรายหนึ่งรายใดโดยเฉพาะ หรือ การให้อำนาจศาลพิจารณาคดีลับหลังจำเลย ใช้บังคับเฉพาะศาลนักการเมืองเท่านั้น
...
ไม่เป็นธรรม เพราะความผิดคดีอาญาในลักษณะเดียวกันที่ไม่ใช่นักการเมือง แต่เป็นคนธรรมดาทำความผิดลักษณะเดียวกันแต่ไม่สามารถพิจารณาคดีลับหลังได้ ถือว่าเป็นการเว้นการปฏิบัติ ซึ่งจะกระทำไม่ได้และเป็นความเหลื่อมล้ำทางกฎหมายที่ชัดเจน เช่นคดีการชุมนุมทางการเมืองจะบอกว่า ให้เอาผิดเฉพาะแกนนำ แต่ผู้ร่วมชุมนุมไม่มีความผิดก็จะกลายเป็นช่องโหว่ของกฎหมายทันที
เพราะฉะนั้น โจทย์ที่ สนช. จะต้องตอบคำถามประชาชนก็คือ กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีการแก้ไขที่เป็นไปตามหลักกฎหมายสากลหรือไม่ และ เจตนารมณ์ของการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้เพื่ออะไร จะอ้างว่าเป็นแค่วิธีพิจารณาความอาญาไม่ใช่สาระสำคัญในการลงโทษ ดูจะตะแบงไปหน่อย
กระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ จะต้องโปร่งใสและมีความเป็นธรรมกับประชาชนทุกคนในประเทศนี้ ตลอดเส้นทาง ไม่ใช่ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่พอเหลาลงไปกลายเป็นบ้องกัญชา อย่างนี้ถือว่าใช้ไม่ได้.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th