สถิติสถานการณ์ “คนร้าย” ลงมือ ก่อเหตุ “ลักพาตัวเด็ก” เพื่อวัตถุประสงค์นำไปเร่ร่อนขอทานขายสินค้า หรือการกระทำทางเพศแล้วมีบางรายถูกฆาตกรรมปิดปาก ดูเหมือนไม่เลือนหายออกจากสังคมไทยแม้แต่น้อยกลับหวนมามี “ตัวเลข” แนวโน้มสูงขึ้นอยู่เรื่อยๆ

อีกทั้งพฤติกรรม “การลงมือก่อเหตุก็มีลักษณะทำเพียงลำพัง” ออกตระเวนตามชุมชน แหล่งท่องเที่ยว และสถานที่จัดงานรื่นเริงประจำปี “เจอเหยื่ออยู่คนเดียว” มักเข้ามาพูดคุยตีสนิทหลอกล่อด้วยวิธีโน้มน้าวชักชวนพาซื้อของเล่น ซื้อขนม หรือเล่นเกมออนไลน์ ถ้าหากได้จังหวะก็พาออกจากพื้นที่ด้วยรถสาธารณะ

รูปแบบการก่อเหตุนี้มิใช่เป็น “แก๊งรถตู้จับเด็ก” ดังเคยฟังในอดีตต่อไป ที่คนร้ายตระเวนจับเด็กตัดแขนตัดขาเพื่อขอทาน ดังคำกล่าวอ้าง “บิ๊กราชการบางคน” มักพูดจน “สร้างความเชื่อต่อสังคม” เข้าใจผิดมาตลอดนี้

ข้อมูล “มูลนิธิกระจกเงา” ในปี 2563 รับแจ้งคนหายทั้งสิ้น 1,158 คน แบ่งช่วงอายุไม่เกิน 10 ขวบ 13 คน อายุ 11-18 ปี 190 คน อายุ 19-59 ปี 642 คน อายุ 60 ปีขึ้นไป 313 คน สามารถค้นหาพบ 684 คน และข้อมูล ณ วันที่ 1 เม.ย. 2564 มีคนหาย 308 คน แบ่งช่วงอายุไม่เกิน 10 ขวบ 5 คน อายุ 11-18 ปี 44 คน

และอายุ 19- 59 ปี 212 คน อายุ 60 ปีขึ้นไป 47 คน ค้นหาพบ 159 คน ปัจจัยการหายตัวไปมีตั้งแต่สมัครใจหนี จิตเวช โรคสมองเสื่อม ขาดการติดต่อ และในรอบ 10 ปีมานี้มีเด็กถูกลักพาตัว 39 คน พลัดหลง 15 คน...

...

เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หน.ศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา ให้ข้อมูลว่า ตอนนี้ตัวเลขเด็กหายมีแนวโน้มลดลงเฉลี่ยเหลือปีละ 200-300 คนต่อปีจากเดิมเมื่อ 4-5 ปีก่อนนี้มีสูงถึง 500 คนต่อปี สาเหตุตัวเลขที่น้อยลงอาจมาจาก “ประชากรการเกิดลดลง” อีกทั้ง “ผู้ปกครอง” หันมาสนใจระวังดูแลเอาใจใส่เด็กมากยิ่งขึ้นก็ได้

ทว่า...“เด็กหายอยู่ช่วงอายุ 11–15 ปี” ลักษณะสมัครใจออกจากบ้านจากความรุนแรงในครอบครัว โดยเฉพาะถูกลงโทษรุนแรง ด่าทอ การห้ามทำโดยไม่อธิบายเหตุผล ที่เป็นปัจจัยต่อการตัดสินใจหนีออกจากบ้าน และเชื่อมโยงให้ถูกชักชวนไปอยู่กับแฟน หรือคนรู้จักกันในโลกออนไลน์ง่ายขึ้น ทำให้เสี่ยงในการมีเพศสัมพันธ์ตามมา

สิ่งสำคัญนี้มี “เด็กช่วงอายุ 3–10 ขวบถูกลักพาตัว” แนวโน้มเกิดถี่ขึ้นเรื่อยๆไม่เกิน 10 รายต่อปี เพราะเป็นวัยหลอกลวงง่ายไม่สามารถขัดขืนต่อสู้คนร้ายได้ แม้ว่า “ตัวเลขเด็กถูกลักพาตัว” ค่อนข้างน้อยแต่มี “ความสำคัญเป็นอันตรายสูง” เพราะถ้าเกิดเหตุแล้วมักจบในแง่ “ถูกล่วงละเมิดทางเพศ” ในบางรายถูกฆาตกรรมปิดปากด้วยซ้ำ

หนำซ้ำยังสามารถเกิดขึ้นได้ทั้ง “เด็กหญิงและเด็กชาย” ตามข้อมูลอัตราส่วนเท่ากัน ส่วน “คนร้าย” มีลักษณะลงมือก่อเหตุลำพัง มักเป็นผู้เคยถูกดำเนินคดีนี้แล้วพ้นโทษมาก่อคดีซ้ำ เหตุนี้ “หน่วยงานรัฐ” อาจต้องมีระบบตรวจสอบ “บุคคลพ้นโทษคดีลักพาตัวเด็ก” ทั้งยังต้องประเมิน “สุขภาพจิต” เพื่อป้องกันเหตุอาจเกิดขึ้นซ้ำอีกทางได้

ในหลายกรณี “คดีลักพาตัวเด็กทำล่วงละเมิดทางเพศ” มีข้อสังเกตจากการพูดคุยสอบถาม “ผู้ก่อเหตุ” ลักษณะภายนอกบ่งบอกให้เห็นถึงพฤติกรรมบางอย่างของ “ความผิดปกติด้านสุขภาพทางจิต” เช่น ในปี 2563 “คนร้ายที่ก่อเหตุอย่างน้อย 2 ราย” เป็นผู้ถือบัตรผู้พิการความบกพร่องทางจิต และสติปัญญาด้วยซ้ำ

หลักวิธีรูปแบบ...“ก่อเหตุค่อนข้างคลาสสิก” ไม่มีความซับซ้อนอะไรมากมาย ด้วยการเข้าไปพูดคุยตีสนิทชักชวนเหยื่อให้ออกไปซื้อขนม และล่อลวงจูงมือพาออกไปเที่ยวเท่านั้น สะท้อนให้เห็นการก่อเหตุนี้มีรูปแบบตรงกันข้ามกับ “ทัศนคติสังคม” มักมองกันว่า “ลักพาตัวเด็ก” ต้องทำเป็นแก๊งมีพฤติกรรมกระชากลากถูจับตัวขึ้นรถตู้ไป

เรื่องนี้ทำให้ “ผู้ปกครองมักสอนบุตรหลาน” สร้างทัศนคติให้ต้องระวังเฉพาะ “กลุ่มคนนั่งรถตู้มาจับฉุดกระชากลากถูเด็กขึ้นรถ” ส่งผลให้เด็กมีภาพความจดจำรูปแบบนั้นอยู่เสมอ เมื่อเผชิญเหตุจริง “คนร้าย” กลับไม่เป็นตามที่ “พ่อแม่” เคยบอกสอนไว้ ทำให้ “เด็ก” หลงเชื่อไม่ระวังถูกลักพาตัวไปโดยง่ายขึ้น

ดังนั้น “ผู้ปกครอง” ต้องติดตั้งทักษะขออนุญาตจากพ่อแม่เสมอ เมื่อต้องออกจากบ้านไปกับบุคคลอื่น แม้แต่ “คนใกล้ชิด” ก็ต้องขอด้วยเช่นกัน เพื่อเด็กจะมีภูมิคุ้มกันการเอาตัวรอดจากสถานการณ์นั้นได้

แนะนำว่า “ควรสร้างภูมิคุ้มกัน” เน้นสอนเพิ่มทักษะให้จดจำพูดคุยกันบ่อยๆ เพราะครอบครัวลูกหายก็สอนไม่ให้รับของคนแปลก หรือออกไปกับคนไม่รู้จัก เมื่อเจอเหตุจริง “เด็ก” กลับมีข้อมูลไม่พอต่อการตัดสินใจนั้น

ประการต่อมา...“ผู้สูงอายุหายตัวออกจากบ้าน” ที่กำลังมีอัตราตัวเลขขยับสูงขึ้นทุกปี เพราะ “ประเทศไทย” เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์ในแต่ละปีต้องมี “ผู้สูงอายุ” เกิดการพลัดหลงออกจากบ้านอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 500 คน เชื่อว่า “ตัวเลขน่ามีมากกว่านี้” ด้วยซ้ำ หลักๆมักมาจาก “โรคสมองเสื่อม” ทำให้พลัดหลงออกจากบ้านนี้

สาเหตุเพราะ “ลูกหลาน” ไม่มีเวลาดูแลเต็มที่ที่ต้องออกไปทำงาน “ปล่อยให้ผู้สูงอายุที่ป่วยด้วยโรคสมองเสื่อมอยู่บ้านเพียงลำพัง” ทำให้มีอาการเกี่ยวกับ “พฤติกรรมคุ้นชินกับในอดีต” เดินออกจากบ้านไปยังสถานที่คุ้นเคยนั้น เช่น “ยายในภาคอีสาน” เคยชินการทำนาก็เดินออกไปท้องนานั้นจนพลัดหลงกลับบ้านไม่ได้

ต้องเข้าใจอย่างนี้ “ผู้สูงอายุป่วยโรคสมองเสื่อม” เดินออกจากบ้านเพียงระยะไม่ถึง 500 เมตร ก็สามารถเกิดการพลัดหลงกลับเข้าบ้านไม่ได้แล้ว ทำให้ยิ่งเดินออกไปไกลบ้านขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะ “พื้นที่ชนบท” ที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลเต็มด้วยป่าไร่นารกทึบมากมาย ทำให้กระบวนการติดตามตัวค่อนข้างลำบาก

แตกต่างจาก “ชุมชนเมือง” แม้เป็นลักษณะสังคมต่างคนต่างอยู่ แต่เมื่อพบเห็น “ผู้สูงอายุ” นั่งอยู่ลำพังตามป้ายรถเมล์ สวนสาธารณะ กลับให้การช่วยเหลือแจ้ง “หน่วยงานรัฐ” ดำเนินการส่งบ้านปลอดภัยอยู่เสมอ

“ตอนนี้พยายามทำ “ริสต์แบนด์หาย (ไม่) ห่วง” สำหรับ “ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมหลงลืม” ให้ตรวจสอบข้อมูลผ่านสแกนคิวอาร์โค้ด PIN ติดอยู่บนริสต์แบนด์ที่ระบุตัวตนให้พลเมืองดีนำผู้ป่วยส่งสถานีตำรวจใกล้ที่สุด เบื้องต้นนำร่องชุมชนเมืองก่อนด้วยการเปิดลงทะเบียนรับริสต์แบนด์ ผ่านแอปพลิเคชัน” เอกลักษณ์ว่า

เพราะเมื่อเกิดการพลัดหลงแล้วมักประสบอุบัติเหตุรถชน หรือตกร่องน้ำได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิตอยู่บ่อยๆ ดังนั้นการช่วยเหลือให้ได้กลับบ้านโดยเร็ว จะช่วยลดความเสี่ยงการสูญเสียได้ด้วยดี

ประเด็นในระยะหลังมานี้แนวโน้มของ “ผู้สูงอายุคนหาย” มักถูกก่อเหตุอาชญากรรมร้ายแรง กลายเป็น “ศพ” ไม่สามารถระบุตัวตน หรือติดตามในระบบหน่วยงานราชการได้เฉลี่ยประมาณ 30% ของจำนวนผู้สูญหายแต่ละปี โดยเฉพาะ “พื้นที่ชนบท” ผู้สูงอายุหายออกจากบ้านไปแล้วมักมีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูงมากด้วยซ้ำ

ตอกย้ำว่า “ผู้สูงอายุ” แม้สภาพร่างกายภายนอกดูเหมือนแข็งแรง แต่บางคนอาจมีโรคประจำตัวที่ไม่รู้ตัวเองก็ได้ เมื่อพลัดหลงออกจากบ้านย่อมเสี่ยงต่อการเสียชีวิตก็ได้ ส่วนการได้รับแจ้งคนหายอายุสูงสุด 100 ปี ใน อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่หายไปปี 2561 จุดหายเป็นพื้นที่เกษตรกรรมขนาดใหญ่ ปัจจุบันยังค้นหาไม่พบตัว

หลักการทำงานค้นหา...“กรณีในชุมชนเมือง” ต้องให้คำแนะนำญาติในการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นจากหน่วยงานรัฐ เพราะ “บางคน” มีโอกาสเข้าระบบรับการช่วยเหลืออยู่จุดใดก็ได้ หากไม่พบต้องใช้วิธีประกาศผ่าน “สื่อเครือข่าย” มักได้รับการแจ้งค้นหาพบอยู่บ่อยมาก ถ้าเป็น “ต่างจังหวัด” ค่อนข้างซับซ้อนต้องวางแผนอย่างดี

และลงพื้นที่ประสาน “ทุกภาคส่วน” ระดมกำลังมาช่วยกัน ทั้งใช้สุนัขดมกลิ่น ใช้โดรนบินสำรวจทำแผนที่วางแผนจัดทีมติดตามทุกตารางนิ้ว แต่ในเรื่อง “คนหาย” มักขึ้นอยู่กับกระแสกรณีสังคมสนใจ “หน่วยงานภาครัฐ” ก็จะกระตือรือร้นที จึงอยากเรียกร้อง “ภาครัฐ” ต้องมีข้อมูลคนหายฐานเดียวใช้ทั่วประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

อีกทั้งมีฐานข้อมูล “ศพนิรนาม” เพราะคนหายอาจประสบเหตุร้ายก็ได้ จึงต้องนำข้อมูลนี้มารวมกันเป็นฐานเดียว เพื่อ “ญาติผู้สูญหาย” สามารถติดตามได้ง่าย ไม่ต้องตระเวนไปหน่วยงานเยอะแยะ “ตำรวจ” ต้องมีหน่วยตรงในการบริหารจัดการคนหาย เพื่อง่ายต่อการสั่งการอย่างรวดเร็ว ในการรองรับเหตุคนหายในอนาคตด้วยนี้

ปัจจุบันนี้ “สตช.” มีหนังสือเวียนไป “ทุกโรงพัก” ที่ไม่ต้องรอคนหายให้ครบ 24 ชม. สามารถดำเนินการช่วยเหลือ “ผู้สูญหาย” ได้ทันที แต่ถ้า “ตำรวจพื้นที่ใด” ไม่ดำเนินการแนะนำ “แจ้งหัวหน้าสถานีนั้น” ดีที่สุด

เรื่อง “เด็กถูกลักพาตัว และคนหาย” ไม่ใช่สิ่งไกลตัว “อย่าประมาท” จนขาดความระมัดระวัง เพราะถ้าเกิดขึ้นกับครอบครัวแล้วย่อมนำสิ่งที่สูญเสียคืนมาไม่ได้ ดังนั้น “สังคมชุมชน” ต้องช่วยกันป้องกันก่อนการสูญเสียดีกว่ามาวัวหายล้อมคอกกัน...