แม่ค้าหมูมาอธิบายเอง ไขข้อข้องใจ ทำไมถึงไม่ ฆ่าสัตว์ ชำแหละเนื้อ ในวันพระ พร้อมเผยพฤติกรรมผู้บริโภคชอบสดๆ มากกว่าแช่เย็น

จากกรณีข่าวฝ่ายความมั่นคง อำเภอท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช สืบทราบว่าที่บริเวณโรงฆ่าสัตว์ไม่มีเลขที่ หมู่ 7 ต.ตลิ่งชัน แอบลักลอบฆ่าสัตว์และมีการลักลอบขายเนื้อสัตว์ในวันพระโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามที่ได้รายงานข่าวก่อนหน้านี้ (หนุ่มใหญ่ ลอบฆ่าชำแหละสัตว์วันพระ รวบคาของกลางเนื้อ 70 กก.หัวหมู 1 หัว)

อย่างไรก็ตาม ในโลกออนไลน์มีข้อสงสัยเกี่ยวกับ การฆ่าสัตว์ในวันพระ รวมไปถึงโรงฆ่าสัตว์เถื่อน ล่าสุด "เจ๊โอ๋" แม่ค้าขายหมูรายหนึ่ง เปิดเผยกับ "ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์" ว่า โรงฆ่าสัตว์ที่ได้มาตรฐานส่วนใหญ่จะไม่มีการฆ่าสัตว์ หรือชำแหละเนื้อสัตว์ในวันพระแค่เพียงวันเดียว ซึ่งก็เป็นธรรมเนียมปฏิบัติมานานแล้ว ส่วนวันโกนก็จะมีการฆ่าและชำแหละขายตามปกติ

ทั้งนี้ หากวันนี้เป็นวันพระส่วนใหญ่ในตลาดก็จะมีหมูสดขาย แต่ถัดไปอีกวันก็จะเป็นเนื้อหมูที่แช่ไว้ เพราะคืนวันพระจะไม่มีการฆ่าสัตว์ แต่อย่างไรก็ตาม ลูกค้าส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยนิยมเนื้อหมูแช่ตู้ ทำให้โรงฆ่าสัตว์บางแห่งชำแหละหมูตามปกติแบบไม่มีวันหยุด แต่ส่วนใหญ่แล้วเขาจะหยุดกัน

"หมูสดกับหมูแช่เย็น ต่างกันตรงที่ ถ้าเนื้อหมูสด จะสีแดง ไม่มีน้ำ แต่ถ้าเป็นหมูแช่ตู้มาเนื้อจะซีดขาว และมีน้ำออก ทำให้ลูกค้าบางคนไม่ชอบ เพราะบางเมนูที่ลูกค้าเอาไปใช้ประกอบอาหารต้องใช้แบบสดๆ ในวงการนี้ก็มีบางคนที่ไปใช้บริการโรงฆ่าสัตว์ที่อาจจะไม่ได้มาตรฐาน หรืออาจจะเป็นแบบเถื่อนก็ได้ เพราะต้องการเนื้อหมูสดๆ"

เจ๊โอ๋ บอกอีกว่า ส่วนใหญ่ที่ตนรับเนื้อหมูมาจากโรงฆ่าสัตว์ที่ได้มาตรฐาน ทั้งการควบคุมโรค การตรวจหาสาร และเชื้อโรคต่างๆ ก่อนที่จะมาชำแหละ เพราะเราอยากให้ลูกค้าได้แต่ของที่ดีและมีมาตรฐาน ส่วนโรงเชือดเถื่อน ทางร้านไม่คิดจะใช้บริการเลย หากมีปัญหาเพียงนิดเดียวหมายถึงเราจะต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่จะตามมาในอนาคต 

...

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2555 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีประกาศเรื่อง กําหนดวันสําคัญ และเวลาที่ต้องหยุดทําการฆ่าสัตว์ เช่น วันโกน วันพระ วันเข้าพรรษา โดยอาศัยอํานาจตามความในมาตรา 10 และมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์และจําหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2535 แต่ พ.ร.บ.ดังกล่าวก็ถูกยกเลิกไป และมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจําหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559 แทน