สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯพระราชทานอภัยโทษและลดโทษผู้ต้องขังในโอกาส มหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีนักโทษในเรือนจำทั่วประเทศ เข้าข่ายได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระ 4-5 หมื่นคน รวมแกนนำกลุ่มพันธมิตร 5 คนเข้าข่ายได้รับการอภัยโทษจากคดีบุกทำเนียบรัฐบาล ยกเว้น “สนธิ ลิ้มทองกุล” ขณะที่ “ธาริต เพ็งดิษฐ์” เข้าข่ายได้ลดโทษ ส่วน “ไผ่ ดาวดิน” ได้เฮ เข้าข่ายได้รับการปล่อยตัวด้วย ทั้งนี้ ต้องเสร็จสิ้นภายใน 120 วัน

เมื่อวันที่ 3 พ.ค. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2562 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ให้ไว้ ณ วันที่ 21 เม.ย.2562 เป็นปีที่ 4 ของรัชกาลปัจจุบัน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราช โองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่ทรงพระราช ดำริเห็นว่า ในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก นับเป็นอภิลักขิตกาลสำคัญ เพื่อเป็นการแสดง พระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมควรพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ เพื่อให้โอกาสแก่บุคคลเหล่านั้นกลับตัวประพฤติตนเป็นพลเมืองดี อันจะเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติสืบไป

ทั้งนี้ พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2562 มีทั้งสิ้น 20 มาตรา ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มีมาตราสำคัญดังนี้ ตามมาตรา 6 นักโทษเด็ดขาดดังต่อไปนี้ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป (1) ผู้ต้องโทษจำคุก ไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดี ซึ่งมีโทษจำคุกตามกำหนดโทษ ที่จะต้องได้รับต่อไปเหลืออยู่ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ (2) ผู้มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(ก) เป็นคนพิการโดยตาบอดทั้งสองข้าง มือหรือเท้าด้วนทั้งสองข้าง หรือเป็นบุคคลซึ่งแพทย์ของทางราชการไม่น้อยกว่าสองคนได้ตรวจรับรองเป็นเอกฉันท์ว่าเป็นคนทุพพลภาพมีลักษณะอันเห็นได้ชัด

(ข) เป็นคนเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อน โรคไตวายเรื้อรัง โรคมะเร็ง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (โรคเอดส์) หรือโรคจิต ซึ่งทางราชการได้ทำการรักษามาแล้วไม่น้อยกว่าสามเดือนในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ และแพทย์ของทางราชการไม่น้อยกว่าสองคนได้ตรวจรับรองเป็นเอกฉันท์ว่า ไม่สามารถจะรักษาในเรือนจำให้หายได้ และไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดี ต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้วถึงวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับไม่น้อยกว่าสามปี หรือไม่น้อยกว่า 1 ใน 2 ของโทษตามกำหนดโทษ

(ค) เป็นคนเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งระยะสุดท้ายหรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (โรคเอดส์) ระยะสุดท้าย ซึ่งแพทย์ของทางราชการไม่น้อยกว่าสองคนได้ตรวจรับรองเป็นเอกฉันท์ว่าเป็นระยะสุดท้าย และไม่สามารถจะรักษาในเรือนจำให้หายได้ (ง) เป็นหญิงซึ่งต้องโทษจำคุกเป็นครั้งแรก และไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดี ต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้วถึงวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับไม่น้อยกว่า 1 ใน 2 ของโทษตามกำหนดโทษ

(จ) เป็นคนมีอายุไม่ต่ำกว่าหกสิบปีบริบูรณ์ในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ตามที่ปรากฏในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร หรือทะเบียนรายตัวของเรือนจำ ในกรณีไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน และไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดีซึ่งมีโทษจำคุก ตามกำหนดโทษที่จะต้องได้รับต่อไปเหลืออยู่ไม่เกินสามปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ หรือเป็นคนมีอายุตั้งแต่เจ็ดสิบปีขึ้นไป

(ฉ) เป็นผู้ต้องโทษจำคุกเป็นครั้งแรก และมีอายุยังไม่ครบยี่สิบปีบริบูรณ์ในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับตามที่ปรากฏในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร หรือทะเบียนรายตัวของเรือนจำในกรณีไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน และไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียว หรือหลายคดี ต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้วถึงวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับไม่น้อยกว่า 1 ใน 2 ของโทษตามกำหนดโทษหรือ

(ช) เป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยม และไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดี ซึ่งมีโทษจำคุกตามกำหนดโทษที่จะต้องได้รับต่อไปเหลืออยู่ไม่เกิน 2 ปี นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ

มาตรา 7 นักโทษเด็ดขาด ซึ่งมิได้รับพระ ราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไปตามมาตรา 6 ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษดังต่อไปนี้ (1) ผู้ต้องโทษคุกตลอดชีวิต ให้เปลี่ยนเป็นกำหนดโทษจำคุกห้าสิบปี แล้วให้ลดโทษตามลำดับชั้นนักโทษเด็ดขาดตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์ หรือกฎหมายว่าด้วยเรือนจำทหารดังต่อไปนี้ ชั้นเยี่ยม 1 ใน 2 ชั้นดีมาก 1 ใน 3 ชั้นดี 1 ใน 4 ชั้นกลาง 1 ใน 5 โดยให้นับโทษจำคุกนั้นตั้งแต่วันที่ต้องรับโทษ เว้นแต่กรณีที่จะต้องนับโทษต่อจากคดีอื่น ให้นับโทษต่อจากคดีอื่นนั้น (2) ผู้ต้องโทษจำคุกไม่ถึงตลอดชีวิต ให้ลดโทษจากกำหนดโทษตามลำดับชั้นนักโทษเด็ดขาดตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์หรือกฎหมายว่าด้วยเรือนจำทหารตาม (1) ผู้ต้องโทษจำคุกเพราะความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท ไม่ว่าจะมีความผิดอื่นร่วมด้วยหรือไม่ ให้ลดโทษจากกำหนดโทษลง 2 ใน 3 เฉพาะความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท

มาตรา 8 นักโทษเด็ดขาดซึ่งต้องโทษตามบัญชีลักษณะความผิดท้ายพระราชกฤษฎีกานี้ ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษดังต่อไปนี้ (1) ผู้ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต ให้เปลี่ยนเป็นกำหนดโทษจำคุกห้าสิบปีแล้วให้ลดโทษ ตามลำดับชั้นนักโทษเด็ดขาดตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์หรือกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์หรือกฎหมายว่าด้วยเรือนจำทหารดังต่อไปนี้ ชั้นเยี่ยม 1 ใน 3 ชั้นดีมาก 1 ใน 4 ชั้นดี 1 ใน 5 ชั้นกลาง 1 ใน 6 โดยให้นับโทษจำคุกนั้นตั้งแต่วันที่ต้องรับโทษ เว้นแต่กรณีที่จะต้องนับโทษต่อจากคดีอื่น ให้นับโทษต่อจากคดีอื่นนั้น (2) ผู้ต้องโทษจำคุกไม่ถึงตลอดชีวิต ให้ลดโทษจากกำหนดโทษตามลำดับชั้นนักโทษเด็ดขาด ตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์หรือกฎหมายว่าด้วยเรือนจำทหารตาม (1) มาตรา 18 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแห่งท้องที่ ผู้พิพากษาศาลแห่งท้องที่หรือตุลาการศาลทหารแห่งท้องที่หนึ่งคน และพนักงานอัยการแห่งท้องที่ หรืออัยการทหารแห่งท้องที่หนึ่งคนรวมสามคนเป็นคณะกรรมการ มีหน้าที่ตรวจสอบผู้ซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษและส่งรายชื่อต่อศาลแห่งท้องที่ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ เพื่อความสะดวกแก่ศาลแห่งท้องที่นั้นพิจารณาออกหมายสั่งปล่อย หรือลดโทษ หรือออกคำสั่งยกเลิกการทำงานบริการสังคม หรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับแล้วแต่กรณี

ในส่วนที่เกี่ยวกับผู้ซึ่งถูกลงโทษจำคุกตามคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษ ให้คณะกรรมการมีหน้าที่ตรวจสอบและส่งรายชื่อต่อนายกรัฐมนตรีให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้บังคับใช้ เพื่อให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาออกคำสั่งปล่อยหรือลดโทษ แล้วแต่กรณี

ด้าน พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรม ราชทัณฑ์ เผยว่า พระราชกฤษฎีกาอภัยโทษที่ออกมา เป็นการดำเนินการตามโบราณราชประเพณีเนื่องในโอกาสมหามงคล ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ มีสาระสำคัญ 2 ส่วนคือ ให้ปล่อยตัวเลย และให้ลดโทษแก่ผู้ต้องขังตามลำดับชั้น

“การปล่อยผู้ต้องขังจะเกิดขึ้นภายใน 120 วัน มีผลใช้บังคับ นับจากวันถัดไปที่พระราชกฤษฎีกาประกาศ แต่ละเรือนจำจะตรวจสอบคุณสมบัติผู้ต้องขังของตัวเองว่า ผู้ต้องขังรายใดมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ปล่อยตัวหรือลดโทษหรือไม่ และมีจำนวนเท่าไหร่ จากนั้นจะส่งให้คณะกรรมการ 3 ท่านประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้พิพากษา และอัยการในแต่ละจังหวัด เป็นผู้ตรวจสอบผู้ได้รับพระราชทานอภัยโทษ และส่งรายชื่อต่อศาลออกหมายปล่อย จากนั้นจึงส่งเอกสารให้กรมราชทัณฑ์ และให้แต่ละเรือนจำจะเป็นผู้ดำเนินการต่อไป” พ.ต.อ.ณรัชต์กล่าว

มีรายงานด้วยว่า เบื้องต้นคาดว่าจะมีผู้ต้องขังที่เข้าข่ายได้รับพระราชทานอภัยโทษประมาณ 40,000-50,000 คนทั่วประเทศ ขณะที่ 5 แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ประกอบด้วย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อายุ 83 ปี นายพิภพ ธงไชย อายุ 72 ปี นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ อายุ 68 ปี นายสมศักดิ์ โกศัยสุข อายุ 72 ปี และนายสุริยะใส กตะศิลา อายุ 45 ปี ศาลพิพากษา จำคุก 8 เดือน คดีบุกทำเนียบรัฐบาลปี 51 เมื่อวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา อยู่ในข่ายได้รับการอภัยโทษปล่อยตัวจากเรือนจำด้วย ยกเว้นนายสนธิ ลิ้มทองกุล แม้จะมีอายุเกิน 70 ปีแล้ว ถูกศาลพิพากษาจำคุก 20 ปี คดีทำเอกสารรายงานการประชุมเท็จ ค้ำประกันกู้เงินธนาคารกรุงไทยกว่าพันล้านบาท เมื่อ 6 ก.ย.59 จึงไม่อยู่ในข่ายได้รับการปล่อยตัว

ส่วนคดีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก 42 ปี คดีทุจริตการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) เมื่อวันที่ 25 ส.ค.60 ไม่อยู่ในข่ายได้รับการปล่อยตัว ขณะที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ ต้องโทษหลายคดี ล่าสุด 21 มี.ค.62 ศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 1 ปี คดีสั่งย้ายลดตำแหน่งโดยมิชอบ อาจได้พิจารณาลดวันต้องโทษ ส่วนนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน ถูกศาลจังหวัดขอนแก่นพิพากษาจำคุก 2 ปี 6 เดือน ข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ 15 ส.ค.60 ปัจจุบันนายจตุภัทร์รับโทษจำคุกมาแล้วกว่า 2 ปี เหลือโทษจำคุกอีกไม่ถึง 6 เดือน ทำให้มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่จะได้รับการพิจารณาพักการลงโทษด้วย