การพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ 10 พ.ศ. 2562 ในพระราชพิธีเบื้องกลาง กำหนดวันที่ 2-6 พฤษภาคม ประกอบด้วย ประกอบพิธีตามโบราณราชประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมา ณ สถานที่สำคัญในพระบรมมหาราชวัง อันประกอบด้วย

1. พระที่นั่งไพศาลทักษิณ

พระที่นั่งไพศาลทักษิณสร้างต่อเนื่องกับท้องพระโรงหน้าพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ตั้งอยู่กลางระหว่างท้องพระโรงหน้าของ “พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน” กับ “พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย” มีลักษณะเป็นพระที่นั่งโถงยาวพื้นสูงจากพื้นดินประมาณ 2 เมตร ทอดยาวไปตามทิศตะวันออก-ตะวันตก ผนังทิศตะวันออกมีพระทวารสำหรับเสด็จพระราชดำเนินไปยังหอพระสุลาลัยพิมาน หน้าพระทวารประดิษฐานพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ภายใต้สัปตปฎลเศวตฉัตร (ฉัตร 7 ชั้น) 

ส่วนผนังด้านทิศตะวันตกมีพระทวารสำหรับเสด็จพระราชดำเนินไปยังหอพระธาตุมณเฑียร หน้าพระทวารประดิษฐานพระที่นั่งภัทรบิฐ ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร (ฉัตร 9 ชั้น) ผนังด้านทิศเหนือของพระที่นั่งเป็นผนังทึบและมีช่องพระทวาร 11 บาน ส่วนกลางของผนังด้านนี้เป็นพระวิมาน ที่ประดิษฐานพระสยามเทวาธิราชพร้อมเครื่องบูชาแบบจีน  สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง 

ภายในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ
ภายในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 10 พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นสถานที่สำคัญ โดยในวันที่ 2 พฤษภาคม 2562 รัชกาลที่ 10 เสด็จพระราชดำเนินทรงบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และในวันที่ 3 พฤษภาคม 2562 เชิญพระสุพรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพ และพระราชลัญจกรจากวัดพระศรีรัตนศาสดารามมายังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ จุดเทียนชัย พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ ประกาศการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

2. พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน

เป็นพระที่นั่งองค์ประธานใน “หมู่พระมหามณเฑียร” เป็นพระวิมานที่บรรทมของพระมหากษัตริย์ และเป็นมณฑล "พระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร" ในการพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก “พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน” มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมไทย 3 องค์แฝด ชั้นเดียว ก่ออิฐถือปูน ยกฐานสูง เรียงจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก แบ่งออกเป็น 3 หลัง คือ องค์กลาง องค์ตะวันออก และองค์ตะวันตก มีเฉลียงรอบและมีเสานางเรียงรับชายคาโดยรอบทั้ง 4 ด้าน

พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน
พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 10 พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานมีความสำคัญ อันได้แก่ ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2562 รัชกาลที่ 10 เสด็จพระราชดำเนินในการบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จากนั้นในวันที่ 3 พฤษภาคม 2562 พระสงฆ์ 5 รูป เจริญพระพุทธมนต์ ต่อมาในวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 เวลาฤกษ์ 10.09 น. รัชกาลที่ 10 สรงพระมุรธาภิเษก ณ ชาลา พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน และฤกษ์เวลา 13.19-20.30 น. เถลิงพระแท่นราชบรรจถรณ์ เฉลิมพระราชมณเฑียร

3. พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน

หรือ “พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย” เป็นพระที่นั่งอยู่ในหมู่พระมหามณเฑียรในพระบรมมหาราชวัง ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นท้องพระโรงสำคัญที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้เป็นที่ประกอบพระราชกรณียกิจสำคัญของบ้านเมือง เช่น เสด็จออกขุนนาง เสด็จออกมหาสมาคม ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ตลอดจนเสด็จออกรับทูตต่างประเทศที่เข้ามาเจริญพระราชไมตรีในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ที่ปลายสุดของท้องพระโรงเป็นที่ประดิษฐานพระที่นั่งบุษบกมาลามหาจักรพรรดิพิมาน และด้านหน้าพระที่นั่งนี้เป็นที่ประดิษฐานพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร

พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน
พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน
ภายในท้องพระโรง
ภายในท้องพระโรง "พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยฯ

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 10 พระท่ีนั่งอมรินทรวินิจฉัย มีความสำคัญ อันได้แก่ ในวันที่ 3 พฤษภาคม 2562 ฤกษ์เวลา 16.00 น. รัชกาลที่ 10 เสด็จพระราชดำเนินพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยทรงนมัสการพระรัตนตรัย 

ต่อมาในวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 ฤกษ์เวลา 14.00 น. เสด็จออกมหาสมาคม ณ พระท่ีนั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงรับการถวายพระพรชัยมงคลจาก พระบรมวงศานุวงศ์ คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่

4. พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นกลางทางฝั่งตะวันตกในพระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่เสด็จออกว่าราชการ ต่อมาเป็นที่ตั้งพระบรมศพพระมหากษัตริย์ รวมทั้งพระอัครมเหสี และพระศพพระบรมวงศ์บางพระองค์

พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท มีลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นพระที่นั่งก่ออิฐถือปูน ยกพื้นสูงรูปจัตุรมุข หลังคาทรงปราสาท มุขเด็จด้านหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเป็นมุขโถง มีพระที่นั่งบุษบกมาลาตั้งอยู่กลางมุขเป็นที่สำหรับเสด็จออกมหาสมาคม หรือเสด็จออกให้ประชาชนเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท

พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทมีความสำคัญโดย ในวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 รัชกาลที่ 10 เสด็จพระราชดำเนินด้วยขบวนราบใหญ่จากวัดพระศรีรัตนศาสดารามมายังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เพื่อถวายบังคมพระบรมอัฐิ และพระอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุพการี

5. พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท

ตั้งอยู่บนกำแพงพระบรมมหาราชวัง ระหว่างประตูเทวาพิทักษ์กับประตูศักดิ์ไชยสิทธิ์ สร้างในรัชกาลที่ 1 เพื่อเป็นที่ประทับทอดพระเนตรขบวนแห่ในพระราชพิธีสนานใหญ่ และการฝึกช้าง ลักษณะเป็นพลับพลาโถงทำด้วยเครื่องไม้ มีอัฒจันทร์ขึ้นลงทางทิศเหนือและทิศใต้ ต่อมาในรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้ก่อผนังอิฐฉาบปูนต่อเติมหลังคาเป็นยอดปราสาท พุทธศักราช 2492 มีการต่อเติมสร้างเฉลียงไม้ด้านตะวันออกเป็นสีหบัญชร

พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท
พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 10 พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท มีความสำคัญ โดยในวันที่ 6 พฤษภาคม 2562 ฤกษ์เวลา 16.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท ให้พสกนิกรเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล

6. พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อใช้เป็นสถานที่ออกว่าราชการ และเป็นที่ประทับส่วนพระองค์ มีทั้งหมด 11 องค์ แต่ภายหลังเกิดความทรุดโทรม และบางองค์ยากต่อการบูรณะ ปัจจุบันจึงเหลือทั้งหมด 5 องค์ด้วยกัน คือ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร และพระที่นั่งเทวารัณยสถาน

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 10 พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทมีความสำคัญ โดยในวันที่ 6 พฤษภาคม 2562 เวลาฤกษ์ 17.30 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรจะเสด็จออกพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทให้ทูตานุทูตและกงสุลต่างประเทศเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล

ที่มา : ข้อมูลและภาพ จากหนังสือประมวลองค์ความรู้พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และหนังสือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก กระทรวงวัฒนธรรม