ย้อนอดีต พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในสมัยรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 9 มีการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมาแล้ว 11 ครั้ง ตามประวัติศาสตร์ ในหลวง 3 รัชกาล รับ "พระราชพิธีบรมราชาภิเษก" 2 ครั้ง ..
นับเป็นความปลื้มปีติยินดีของพสกนิกรชาวไทยทั้งแผ่นดิน กับพระราชพิธีอันเป็นมหามงคลยิ่ง อีกหนึ่งประวัติศาสตร์สำคัญของประเทศไทย กับ “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” พระราชพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ และสำคัญที่สุดของการเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 ของ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562
ทั้งนี้ ตามประวัติศาสตร์ "พระราชพิธีบรมราชาภิเษก" ของพระมหากษัตริย์ไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 9 มีการประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมาแล้ว 11 ครั้ง ดังนี้

รัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จำนวน 2 ครั้ง โดยครั้งแรก พุทธศักราช 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ประดิษฐานพระบรมราชจักรีวงศ์และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบการพระราชพิธี ปราบดาภิเษกแต่โดยสังเขป และครั้งที่สอง พ.ศ. 2328 เมื่อพระราชมณเฑียรสถานที่สร้างขึ้นใหม่แล้วเสร็จ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอีกครั้งหนึ่งให้สมบูรณ์ตามแบบแผนอันตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 9 เคยมีมาแต่เก่าก่อน

รัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จำนวน 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 17 กันยายน พุทธศักราช 2352

รัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน 1 ครั้ง เมื่อ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พุทธศักราช 2367

รัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน 1 ครั้ง เมื่อ 15 พฤษภาคม พุทธศักราช 2394

รัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน 2 ครั้ง โดยครั้งแรก วันที่ 12 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2411 เมื่อทรงครองราชสมบัติสืบต่อจาก สมเด็จพระบรมชนกนาถขณะมีพระชนมพรรษาเพียง 15 พรรษา ในระยะเวลา 5 ปีแรกของรัชกาล สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ครั้งที่ 2 วันที่ 16 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2416 เมื่อทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 20 พรรษา ทรงบรรลุพระราชนิติภาวะแล้ว

รัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน 2 ครั้ง โดย ครั้งแรกวันที่ 11 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2453 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ประกอบ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียร เนื่องจากยังอยู่ในช่วงไว้ทุกข์งานพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้งดการเสด็จเลียบพระนครและการรื่นเริง ครั้งที่ 2 วันที่ 2 ธันวาคม พุทธศักราช 2454 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช เพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง และให้นานาประเทศที่มีสัมพันธ์ทาง พระราชไมตรีมาร่วมในงานพระราชพิธี

รัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2468

รัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช จำนวน 1 ครั้ง เมื่อ 5 พฤษภาคม พุทธศักราช 2493

รัชกาลที่ 10 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในการ "พระราชพิธีบรมราชาภิเษก" มีหมายกำหนดการในวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 นี้ โดยพระราชพิธีเบื้องกลาง ฤกษ์เวลา 10.09-12.00 น. เริ่มจากพระราชพิธีถวาย “สรงพระมุรธาภิเษก” ที่ชาลาพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน
การสรงพระมุรธาภิเษกนี้ เป็นน้ำอภิเษกจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ 9 แหล่งน้ำ ประกอบด้วย น้ำจากแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ 5 สาย เรียกว่า “เบญจสุทธคงคา" เริ่มใช้ครั้งแรกในพระราชพิธีราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งการสรงน้ำพระมุรธาภิเษก หมายถึง การยกให้ หรือการแต่งตั้งโดยการทำพิธีรดน้ำ ซึ่งตามคติความเชื่อของพราหมณ์ ถือว่าการยกให้เป็นใหญ่ ทรงสิทธิ์อำนาจนั้นจะต้องทำด้วยพิธีรดน้ำศักดิ์สิทธิ์
จากนั้นจะเสด็จไปประทับทรงรับ “น้ำอภิเษก” ซึ่งตักมาจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์จำนวน 108 แหล่งน้ำ ประกอบด้วย แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัด 76 จังหวัด และน้ำศักดิ์สิทธิ์จากหอศาสตราคม ในพระบรมมหาราชวัง จำนวน 1 แหล่งน้ำที่พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ซึ่ง “อภิเษก” หมายถึง การรดน้ำที่พระหัตถ์ เสมือนผู้น้อยรดน้ำอวยพรผู้ใหญ่ หรือเป็นการยอมรับผู้ที่ขึ้นมาเป็นใหญ่
อนึ่ง พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ในหลวง รัชกาลที่ 8 เสด็จสวรรคตก่อนการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ที่มา : ข้อมูลจาก ประมวลองค์ความรู้พระราชพิธีบรมราชาภิเษก กระทรวงวัฒนธรรม และส่วนหนึ่งจากเอกสาร คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และการบรรยายโดย ศ. ดร. ม.ร.ว. สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ ประธานอนุกรรมการ ด้านสารัตถะ และสร้างสรรค์ผลิตสื่อ ในการอบรมเชิงปฏิบัติการ “งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ.๒๕๖๒” วันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๒