"ทีมข่าวการเมือง" ขอต้อนรับสู่การเปิดศักราชใหม่ โดยคัดสรรบุคคลที่มองสถานการณ์โลกล้อมไทยได้อย่างรอบด้าน มาขยับมุมคิดจากวิกฤติปั่นป่วนโลก พลิกเป็นสร้างโอกาสทองของไทย

โดย นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ บอกว่าในปี 68 โลกปั่นป่วนจากหลายปัจจัยที่ล้อมไทย ประเดิมด้วยความปั่นป่วนด้านเทคโนโลยี โดยไทยพูดถึงเศรษฐกิจดิจิทัลมา 2-3 ปี

ปัญญาประดิษฐ์ ตามด้วยแชตจีพีที เจเนอเรทีฟเอไอก็เข้ามา เทคโนโลยีดิสรัปต์ปั่นป่วนกันและกัน เอไอดิสรัปต์ดิจิทัล เจเนอเรทีฟเอไอดิสรัปต์เอไออีกที ไทยตามทันในฐานะเป็นผู้ใช้หรือไม่ เพราะประเทศที่ใช้เอไอเป็นย่อมเจริญก้าวหน้าแบบก้าวกระโดด ชนะประเทศที่ใช้เอไอไม่เป็น ฉะนั้นทุกภาคส่วนควรมีนโยบายด้านนี้ชัดเจน

ก่อนถูกประเทศที่ใช้เอไอเทกโอเวอร์

ส่วนความปั่นป่วนด้านประชากรศาสตร์ ที่ถูกดิสรัปเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะมีผู้สูงอายุ 20 ล้านคน ส่งผลให้ขาดแคลนแรงงาน ในเอเชียมี 4 ประเทศที่เกิดปรากฏการณ์นี้ คือ จีน-ญี่ปุ่น-ไทย-สิงคโปร์ แต่จีน-สิงคโปร์มีวิธีดึงคนเหล่านี้เทรนนิ่ง หลักสูตรระยะสั้นก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน แต่ไทยไม่มี

เช่นเดียวกับความปั่นป่วนด้านการศึกษา มาพร้อมกับเจเนอเรชันใหม่ ไลฟ์สไตล์ เทคโนโลยี ตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไป ไทยพูดถึงการศึกษาตลอดชีวิต แต่หลักสูตรยังเป็นต่ำกว่าปริญญาตรี-ปริญญาตรี-สูงกว่าปริญญาตรี ค่อนข้างเป็นขั้นเป็นตอน

ควรปรับหลักสูตรปริญญาตรีลดเหลือ 3 ปี เรียนข้ามคณะหรือสาขาวิชาควรยืดหยุ่น ทำได้ง่ายทั้งภายในและระหว่างมหาวิทยาลัย ปรับหลักสูตรระยะสั้นให้มีมากขึ้น

เพราะเจเนอเรชันใหม่อาจเรียนปี 1 เสร็จออกไปทำงานและไม่กลับมาเรียนก็มี บางคนไปทำงานและกลับมาเรียนปี 2 เอาหน่วยกิตใส่ธนาคารหน่วยกิตไว้ ก่อนมาเรียนต่อจนจบ บางทีก็ไม่จบ เพราะไปเรียนหลักสูตรระยะสั้น ฝึกทักษะใหม่ รีสกิล อัปสกิล นิวสกิล และที่ผ่านมาเด็กไทยจบปริญญาตรีใน 5 ปีที่แล้ว ตกขบวนรถไฟเทคโนโลยี เพราะความรู้ไม่ตอบโจทย์ตลาดแรงงานปัจจุบัน

...

“มหาอำนาจอเมริกา-จีนแข่งขันกัน ทำให้บริษัทต่าง ๆ ย้ายฐานผลิตมาอาเซียน แต่ 5 ปีที่ผ่านมา มาไทยน้อยจากหลายเหตุผล หนึ่งในนั้นคือไม่มีบุคลากรเพียงพอทำงานด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย

ทั้งหมดเกี่ยวกับปฏิรูปการศึกษา พอลงไปดูเนื้อในจริง ๆ เราทำยังไม่พอ ต้องสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่ มีประสบการณ์ มีอาจารย์พันธุ์ใหม่ มีประสบการณ์ในภาคเอกชน ในภาคท้องถิ่น

เพราะการศึกษาเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจโดยตรง รัฐบาลต้องเข้าใจควรขับเคลื่อนอย่างไร”

โดยเฉพาะยุคดิจิทัลดิสรัปชัน เป็นในหนึ่งปัจจัยปั่นป่วนโลกและไทย การเมืองไม่ค่อยต่อเนื่องก็มีผลต่อนักลงทุนไทยและเทศในการตัดสินใจ สมมติการเมืองอยู่ครบวาระ นักลงทุนต่างประเทศก็ไม่มา เพราะปัจจัยคนไม่พร้อม

ฉะนั้นนโยบายเศรษฐกิจอาจไม่ทำให้ไทยพัง

แต่ไทยอาจลงเหวถ้าไม่ยกเครื่องการศึกษา

ขณะเดียวกันความปั่นป่วนด้านสิ่งแวดล้อมตกอยู่ในภาวะโลกเดือด เป็นความหายนะทางภูมิอากาศที่เปลี่ยนสภาพตลอด มี 3 เรื่องใหญ่ล้อมอยู่ คือ 1.การลดก๊าซเรือนกระจก มีเทคโนโลยี ทำไม่ยาก อยู่ที่ลงทุนแค่ไหน 2.ตลาดคาร์บอน ผลิตออกซิเจนขึ้นมาแทนบริษัทที่ยังลดก๊าซเรือนกระจกไม่ได้ 3.การปรับตัว ซึ่งปฏิบัติยากที่สุด

ฉะนั้นการระวังภัย-บรรเทาทุกข์-ฟื้นฟู ต้องเปลี่ยนสภาพหมดตามความหายนะทางภูมิอากาศที่เกิดขึ้น ควรมีรองนายกรัฐมนตรีดูความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ ในยุคที่มันล้อมโลก-ไม่ใช่ล้อมประเทศไทย

ส่วนความปั่นป่วนทางการเมือง ช่วงที่ผ่านมาผู้นำประเทศต่างๆเปลี่ยนเยอะมาก สิงคโปร์-เวียดนาม-อินโดนีเซีย มีผู้นำใหม่ ไทยเปลี่ยนผู้นำบ่อยมาก ผู้นำเยอรมนีต้องเลือกตั้งใหม่ ยุโรปก็ปั่นป่วนเรื่องผู้นำประเทศ

ล่าสุดผู้นำสหรัฐอเมริกา มหาอำนาจทางทหาร การเมือง เศรษฐกิจเบอร์หนึ่ง ขณะยังไม่ถึงวันสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี 20 ม.ค.68 โลกปั่นป่วนได้ขนาดนี้ หากสาบานตนแล้วโลกจะปั่นป่วนขนาดไหน

การเมืองโลกใบนี้ปั่นป่วนล้อมไทย

ความปั่นป่วนเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มีผลต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยแค่ไหน ต้องวิเคราะห์ ดูเกาหลีใต้อยู่ดีๆรัฐบาลที่เข้มแข็ง แต่วันนี้ไม่รู้ใครจะอยู่ใครจะไป เบื้องหลังมันเกี่ยวกับภูมิรัฐศาสตร์

รวมถึงภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนไป ทั้งภูมิศาสตร์ด้านการเมือง ภูมิศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ และสงครามแบบดั้งเดิมที่ใช้กำลังไปเอาดินแดนกับสงครามรูปแบบใหม่ ใช้สงครามเศรษฐกิจ สงครามเทคโนโลยี มันเกิดขึ้นพร้อมกัน ทับซ้อนกันอยู่แยกส่วนไม่ได้ ทั้งหมดมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยทันที

โดยเฉพาะสหรัฐฯกับจีนที่แข่งขันกันมานาน จะเกิดขึ้นต่อไป ยุโรปแซงก์ชันระบบโอนเงินระหว่างประเทศ ตีกันรัสเซียโอนระบบสวิฟท์ ปรากฏว่ากลุ่มบริกส์คิดระบบโอนเงินระหว่างประเทศใหม่ ซึ่งไทยเข้าร่วม ม.ค.68

มันมีทางเลือกในระบบเศรษฐกิจใหม่ อาทิ เงินสำรองระหว่างประเทศใช้เงินสกุลบริกส์ได้หรือไม่ ค้าขายไม่ใช้ดอลลาร์หรือไม่ ปกติใช้โปรดอลลาร์ซื้อขายน้ำมัน ตอนนี้ระหว่างจีนกับซาอุดีอาระเบียตกลงใช้เป็นเงินหยวน

ภูมิรัฐศาสตร์ปั่นป่วน ดิสรัปชันมาก

เริ่มเป็นระบบเศรษฐกิจทางเลือกที่กำลังฟอร์มตัว โดนัลด์ ทรัมป์ ได้เป็นประธานาธิบดี ประกาศเปรี้ยง อาทิ ใครอยู่กลุ่มบริกส์อย่าหวังได้เกิดทางเศรษฐกิจ แม้ไทยเข้าโออีซีดี (องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ) ของยุโรปและบริกส์ดูสมดุลดี แต่ไทยเอียงไปทางจีน วัน
นี้ไทยต้องคิดถึงวิธีเจรจากับสหรัฐฯ

โดนัลด์ ทรัมป์ยังเตรียมตอบโต้ประเทศที่เกินดุลทางการค้า ด้วยวิธีขึ้นภาษีนำเข้า ไทยเป็นหนึ่งในนั้น ต้องเตรียมรับมือ เชื่อสหรัฐฯขึ้นภาษีก่อน เพื่อเรียกมาเจรจาทีละประเทศเป็นแบบทวิภาคี

“ไทยจะเดือดร้อนมาก ขึ้นภาษีหลายหมวด มันอยู่คนละกระทรวง กลุ่มธุรกิจคนละกลุ่ม รมต.คนละพรรคถึงเวลาเจรจาก็ใช้วิธีเจรจาข้ามภาคธุรกิจ ต้องมีนักเจรจาที่เก่งเป็นตัวแทนประเทศ

ไทยต้องหันเข้าหาอาเซียน ดึงประเทศลุ่มน้ำโขง ดึงเอเปกที่มีสหรัฐฯอยู่ด้วย กลุ่มเอซีดี มาเป็นพลัง หากเจรจา 1 ต่อไทยชนะยาก แรงกดดันเยอะ

ระบบบริหารราชการในยามวิกฤติ การเจรจาการค้า ระหว่างประเทศควรยกเครื่องใหม่ มีนักเจรจาหลัก อาจเป็นภาคเอกชนที่เป็นเพื่อนกับสหรัฐฯ ตั้งเป็นผู้แทนพิเศษเจรจา”

ปัจจัยทางการเมืองในประเทศเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ นายสุรเกียรติ์ บอกว่า ขอผู้นำให้ความสำคัญที่สุดในด้านการศึกษา เตรียมคนให้พร้อม ที่ผ่านมาเห็นบริษัทใหญ่ ๆขึ้นเวทีกับผู้นำ ถึงเวลาไปลงทุนมาเลเซีย ถัดมาก็ขึ้นเวทีกับผู้นำอีก สุดท้ายไปลงทุนเวียดนาม เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก

ฉะนั้นหัวใจคือเตรียม คนให้พร้อมกับโลกอนาคต ใช้งบประมาณลงทุนไม่มาก ทำหลักสูตรรีสกิล อัป สกิล ทั้งผู้สูงอายุ นักศึกษาที่จบเมื่อ 5 ปีที่ตกขบวน ดึงกลับมาให้ทันกับยุคเอไอ ทำให้ไทยได้ทั้งงานและรายได้

เศรษฐกิจโตยั่งยืนกว่าดิจิทัลวอลเล็ต

ไทยมีโอกาสดีขึ้นด้วยวิธีไหน ทำให้คนไทยลืมตาอ้าปากได้ นายสุรเกียรติ์ บอกว่า ความปั่นป่วนทุกด้านเป็นโจทย์ใหญ่ ปฏิสัมพันธ์กันหมด อย่างความปั่นป่วนด้านเทคโนโลยี แต่ถ้าสามารถนำเอไอมาใช้ด้านการศึกษา ทำธุรกิจ เทคสตาร์ตอัพทั้งหลาย ระบบราชการ ทำให้เป็นรัฐบาลบริหารแบบทันสมัย

ถ้าติดขัดกฎหมายตัวไหนที่มีปัญหาเกี่ยวกับเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาเอไอ ทำกิโยตีนตัดหัวกฎหมายที่ล้าสมัย เปิดให้กฎหมายอำนวยความสะดวก ให้มีระบบที่ดี

ขณะที่ความหายนะด้านภูมิอากาศ ควรทำให้ไทยเป็นศูนย์กลาง ไคลเมต เทคโนโลยี โดยให้มหาวิทยาลัยจุฬา-มหิดล-เชียงใหม่-ขอนแก่น เป็นฮับไคลเมต เทคฯ รวมถึงทำให้ไทยเป็นเศรษฐกิจสีเขียว

โดยร่วมมือกันทั้งภาครัฐ เอกชน เอาเทคโนโลยีกับพัฒนาคนมาบวกกันให้ได้ เวียดนาม มาเลเซียสู้ไทยไม่ได้ ด้วยความเป็นไทยนักลงทุนอยากมาอยู่แล้ว กฎหมายก็ดีกว่า โครงสร้างพื้นฐานก็ดีกว่า

ท่ามกลางความปั่นป่วนที่เกิดขึ้น

ปี 68–70 นับเป็นโอกาสทองของไทย

นำโอกาสมาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม.

ทีมการเมือง

คลิกอ่านคอลัมน์ “วิเคราะห์การเมือง” เพิ่มเติม