“พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” แสดงวิสัยทัศน์ก่อนโหวตนายกฯ วอน ส.ว. ต้องให้โอกาสกับประเทศไทย ชี้ต้องธำรงไว้ในระบอบพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ต้องไม่อนุญาตให้ใครใช้เป็นเครื่องมือโจมตีทางการเมือง เผยมีหลายกลุ่มขวางไม่ให้เป็นนายกฯ เพราะเสียผลประโยชน์
เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 13 ก.ค. 2566 ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคล ซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกล ได้กล่าวอภิปรายแสดงวิสัยทัศน์ โดยระบุว่า รู้สึกเป็นเกียรติสูงสุดในชีวิต ที่ถูกเสนอเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย โดยนิยามคำว่าวิสัยทัศน์ ซึ่งคนที่เป็นผู้นำที่ดีต้องรู้ว่ากำลังสื่อสารอยู่กับใคร ซึ่งสำหรับตนเองนิยามคำว่าวิสัยทัศน์ คือ เป้าหมาย ที่ต้องเข้าใจว่ามีโอกาสหรือความท้าทายอะไรที่รอเราอยู่ในฐานะรัฐบาล และต้องมองจุดแข็งจุดอ่อนของประเทศว่ามีอะไรบ้าง เพื่อจะใช้ยุทธศาสตร์อย่างไรในการไปสู่เป้าหมายนั้น โดยตนเองเชื่อว่าประชาชนเห็นวิสัยทัศน์ของตนเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในเรื่องปากท้องดี เศรษฐกิจดี ผ่านเวทีดีเบตมาแล้วในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา รวมถึงเรื่องการเมืองดี ทั้งเรื่องการปฏิรูประบบราชการ การปฏิรูปการศึกษา ทำอย่างไรให้การศึกษาเราดีขึ้น วันนี้จึงขอสื่อสารกับคนที่อยู่ในรัฐสภาแห่งนี้ จำนวน 750 คน และขอสื่อสารโดยตรงไปยังวุฒิสภา 250 คน ซึ่งครั้งนี้ปิดสวิตช์ไม่ได้ เพราะการงดออกเสียงจะทำให้การเลือกนายกฯ ไปต่อไม่ได้
“ครั้งนี้ถือเป็นประตูแห่งโอกาส ในการแก้ปัญหาร่วมกันต่อไป แต่ผมทราบดี ตัวท่านยังมีความคลางแคลงใจเกี่ยวกับตัวผม เรื่องนโยบาย จุดยืน เรื่องสถาบันเป็นส่วนใหญ่ ผมเชื่อว่าเป้าหมายในสภาของเราเหมือนกัน เพียงแค่การประเมินและการเข้าถึงนั้นต่างกัน แต่เป้าหมายที่เราเห็นตรงกันคือการธำรงไว้ในระบอบพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ต้องไม่อนุญาตให้ใครใช้เป็นเครื่องมือโจมตีทางการเมือง”
...
นายพิธา ยังกล่าวอีกว่า อยากให้มองไปในอนาคตและมองไปยาวๆ เพราะหากย้อนไปในปี 2549 ถือเป็นหมุดหมายความขัดแย้งในสังคมไทย สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกใช้มาเป็นเครื่องมือของคนบางกลุ่ม เพื่อล้มรัฐบาลมาถึง 2 ครั้ง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มการเมืองและกลุ่มธุรกิจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่พวกเราหรือไม่ ที่ผูกสถานการณ์จนมาสู่ปัจจุบัน
“ปัจจุบันยังมีคนหลายกลุ่มต้องการสกัดกั้นไม่ให้ผมเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ให้จัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้ เพราะเขากำลังจะเสียผลประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นสัมปทาน หรือผลประโยชน์ทางธุรกิจ ก็จงใจที่จะดึงสถาบันพระมหากษัตริย์มาใช้ปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง แล้วจับมาเป็นคู่ตรงข้ามในการลงคะแนนเสียงของประชาชน ในวันที่ 14 พ.ค.” นายพิธา กล่าว
นายพิธา กล่าวต่อว่า วันนี้จึงเชิญชวนวิญญูชนใช้สติไตร่ตรองให้ดีว่า การทำเช่นนี้มีราคาและต้นทุนอย่างไรต่อสังคม ถ้าไม่มีใครอิงแอบรัฐประหาร ถ้าไม่มีใครเอาเรื่องล้มล้างสถาบันมาปลุกปั่นทางการเมือง ให้คนเกลียดชังกันเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ถ้าไม่ใช้ ม.112 มาเป็นเครื่องมือมาทำลายล้างกัน ความขัดแย้งในสังคมไทยคงไม่มาถึงจุดนี้ ถึงเวลาแล้วที่จะยุติ เอาสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเครื่องมือทางการเมือง
“ต้องจัดวางพระราชสถานะ พระราชอำนาจให้เหมาะสม สอดคล้องกับประชาธิปไตยสมัยใหม่ ซึ่งการทำแบบนี้สถาบันพระมหากษัตริย์ถึงจะธำรงอยู่ได้อย่างสง่างามในสังคมไทย” นายพิธา กล่าว
นายพิธา เชื่อว่าสังคมไทยจะหาจุดลงตัวได้ โดยที่ไม่มีใครได้หรือเสียทั้งหมด เราต้องสร้างสังคมไทยให้พร้อมรับความแตกต่างหลากหลาย ทั้งทางเพศ เชื้อชาติ ศาสนา และความคิดเห็นทางการเมือง ซึ่งนี่คือฉันทามติใหม่ที่แก้ความขัดแย้งด้วยกระบวนการทางประชาธิปไตย ที่ไม่ได้แปลว่าทุกคนจะคิดเหมือนกัน แต่เป็นการยึดถือกระบวนการที่เป็นธรรมในการตัดสินใจเรื่องสำคัญของสังคม ไม่ใช่การมองประชาชนเป็นศัตรูของชาติ
โดยสิ่งที่จะลงมติไม่ใช่การเลือกตนเองและพรรค แต่เป็นการเลือกให้โอกาสกับประเทศไทย คืนความปกติให้กับการเมืองไทย คือการตัดสินประวัติศาสตร์ประเทศไทยที่ตนเองไม่สามารถทำให้สำเร็จเพียงคนเดียว ต้องอาศัยการตัดสินใจของสมาชิกรัฐสภา ที่ยึดหลักการกล้าหาญ และเห็นอนาคตของชาติที่เห็นประชาชนเป็นหัวใจ จึงขออย่าให้ความคลางแคลงใจต่อตนเอง มาขวางกั้นประเทศไทยไม่ให้เดินต่อตามเสียงและเจตนารมณ์อันแรงกล้าของประชาชน ขอให้การตัดสินใจสะท้อนความหวังของประชาชนและความหวังของตัวท่านเอง อย่าให้สะท้อนเป็นความกลัว
ทั้งนี้ นายพิธา ยังชี้แจงประเด็นที่ถูกอภิปรายว่า เป็นประเด็นเดิมๆ และยังเป็นเพียงคำกล่าวหา ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้ แต่ยังไม่มีการพิจาณณา ยืนยันว่าตนเองยังมีคุณสมบัติสมบูรณ์แบบ และพร้อมเป็นผู้นำที่ดีในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะทำหน้าที่อย่างดี ให้สถาบันอยู่คู่สังคมไทยในสมัยนี้แน่นอน
จากนั้นในเวลา 15.51 น. วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ได้กล่าวปิดการอภิปราย แล้วจึงเข้าสู่การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีตามขั้นตอนแบบเปิดเผย คือการขานชื่อตามตัวอักษรก่อนลงมติ.