นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้ทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรม หรือ กมจ. ชี้แจงต่อหัวหน้าส่วนราชการในเรื่องนี้โดยตรงดังรายละเอียดที่กล่าวมาแล้ว 2 วัน

โดยค้างไว้จากเมื่อวานนี้ว่าตรงนี้อาจสรุปสักครั้งหนึ่งก่อนได้ว่า เรา ซึ่งหมายถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งหลาย มีมาตรฐานทางจริยธรรมที่จะต้องปฏิบัติตาม และเรามีคณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรมเป็นกรรมการใหญ่ในระดับชาติ

แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องและต้องรับลูกไปดำเนินการต่อก็คือ องค์กรกลางของเจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทต่างๆแล้วไล่ลงมาคือ ระดับหน่วยงาน ได้แก่ กระทรวง ทบวง กรม แต่ละแห่งที่จะต้องสร้างกลไกของตัวขึ้นมา อาจจะคิดมาตรฐานทางจริยธรรมของท่านเพิ่มเติมขึ้น ข้าราชการกรมป่าไม้อาจจะต้องมีอะไรมาก ข้าราชการกรมที่ดินอาจจะต้องเพิ่มเติม ข้าราชการกรมการปกครองซึ่งใกล้ชิดติดพันกับประชาชนมาก อาจจะต้องมีระมัดระวังมากกว่าข้าราชการในกรมอื่นอย่างนี้เป็นต้น รวมความคือมีสามระดับได้แก่ ระดับชาติ ระดับองค์กรกลาง และระดับหน่วยงาน

กลไกในการทํางาน ก็คือว่า เมื่อได้มีการกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมขึ้นแล้วอย่างน้อยก็เจ็ดข้อตามที่ได้เรียนให้ทราบแล้ว อย่างมากก็คือ สิ่งที่หน่วยงานไปเพิ่มเติมกันขึ้น แล้วก็ประกาศใช้ในหน่วยงาน ผมเชื่อว่า ตำรวจ ทหาร ครู ก็จะมีมาตรฐานเพิ่มเติมของตน

กลไกตรงนี้ก็คือว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องปฏิบัติตาม มิฉะนั้นแล้วอาจเกิดการร้องเรียนจากประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ หรือมิฉะนั้นแล้วอาจจะมีกลไกภายในหน่วยงานตรวจสอบและดำเนินการ หรือมิฉะนั้นผู้บังคับบัญชาอาจเป็นผู้สอดส่องดูแล และดำเนินการแก่ผู้ที่ล่วงละเมิดมาตรฐานทางจริยธรรม

...

ซึ่งการสอดส่องดูแลในเรื่องนี้ มันมีคำสองคำที่จำเป็นจะต้องเรียนให้ท่านทั้งหลายได้ทราบ ซึ่งก็เป็นคำที่ท่านอาจจะคุ้นเคยดีอยู่แล้ว ประการหนึ่งคือ วินัย และอีกประการหนึ่งคือ จริยธรรม เราคุ้นกับวินัย เช่น ครูมีวินัย ข้าราชการพลเรือนมีวินัย ตำรวจมีวินัย ทหารมีวินัย ซึ่งวินัยนั้น ส่วนใหญ่มีการกำหนดไว้ในกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้เป็นเครื่องมือกำราบหรือปราบปราม คือ เมื่อล่วงละเมิดก็เป็นความผิด บางครั้งเป็นความผิดวินัยธรรมดา บางครั้งผิดวินัยร้ายแรง สุดแท้แต่ว่าเป็นข้อกำหนดวินัยในเรื่องอะไร รวมความคือ วินัยมีไว้กำราบปราบปราม ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า suppression เมื่อผิดวินัยก็ต้องลงโทษ ซึ่งโทษนั้นมีหลายสถาน อาจจะลดขั้นเงินเดือน ตัดเงินเดือน โยกย้าย จนกระทั่งถึงไล่ออก ปลดออก ก็เป็นไปได้ทั้งสิ้น

วินัยก็ส่วนวินัย เช่นเดียวกับความผิดอาญาก็ส่วนความผิดอาญา ข้าราชการที่ไปทําร้ายร่างกายเขาเป็นความผิดอาญาก็อาจต้องติดคุกตามกฎหมายอาญา แต่ข้าราชการที่ไปทําร้ายผู้อื่นก็อาจจะผิดวินัยและต้องรับโทษทางวินัยด้วย

แต่วันนี้มีอีกเรื่องหนึ่งเข้ามา และต้องการให้ท่านทั้งหลายตื่นและตระหนักในเรื่องนี้คือ เรื่องจริยธรรม ซึ่งเป็นเรื่องของการป้องปราม เป็นการป้องกันมิให้กระทํา ภาษาอังกฤษไม่เรียกว่า suppression แต่เรียกว่า deterrence คือ รู้แล้วก็อย่าไปทํา ถ้ายังขึ้นไปทําอีก อาจไปถึงขั้นวินัย แล้วถ้าที่ทํานั้นเป็นความผิดตามกฎหมายอาญาก็ไปถึงขั้นผิดกฎหมาย ขึ้นโรงขึ้นศาลกัน แต่วินัยไม่ถึงกับขึ้นโรงขึ้นศาล มันเป็นเรื่องภายในหน่วยงาน

จริยธรรมก็ไม่ขึ้นโรงขึ้นศาลคือ เป็นเรื่องอยู่ในหน่วยงานเช่นกัน เป็นการเตือนใจอย่าไปกระทํา ซึ่งย้ำอีกครั้งก็คือ อย่างน้อยเจ็ดข้อที่ได้เรียนให้ทราบ ส่วนอย่างมากจะเป็นอย่างไรนั้น เป็นเรื่องที่ท่านต้องไปกำหนดเพิ่มเติม

เพราะฉะนั้น วันนี้เราเชิญท่านทั้งหลายมาเพื่อที่จะมารับฟังคำแนะนำ เตรียมแนวทาง เตรียมกลไก และปรับตัวให้เข้ากับเรื่องนี้ เพราะเรื่องนี้เป็นสิ่งที่รัฐธรรมนูญกำหนด และเป็นสิ่งที่สังคมเรียกร้อง

รองวิษณุตบท้ายว่า เชื่อว่าถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งหลายได้รับทราบ และปรับตัวให้เข้ากับสิ่งเหล่านี้ ท่านจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ดี เป็นที่หวัง เป็นที่พึ่งของประชาชนได้.

“ซี.12”