คำชี้แจงของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้ทำหน้าที่เป็นประธาน ก.ม.จ. ซึ่งเป็นการชี้แจงต่อหัวหน้าส่วนราชการในเรื่องนี้โดยตรงนั้น

อาจารย์วิษณุ ย้ำว่า วันนี้ถือเป็นการมาอธิบาย ซักซ้อมความเข้าใจ และแจ้งให้ท่านทั้งหลายได้ตระหนักรู้ว่า บัดนี้เรามีพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ.2562 ดังกล่าวแล้ว นอกจากนั้น เรายังมีคณะกรรมการกลางที่เรียกกันว่า ก.ม.จ.คือ คณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรมด้วย

แต่อันที่จริงหน่วยงานของรัฐต่างก็มีกรรมการทางจริยธรรมของตนเป็นการภายในอยู่ก่อนหน้าที่จะมีพระราชบัญญัตินี้แล้วเพราะฉะนั้นกรรมการทางจริยธรรมของหน่วยงานต่างๆของรัฐก็ทําหน้าที่ต่อไปพร้อมทั้งปรับบทบาทให้เข้ากับกฎหมายฉบับใหม่เท่านั้น

เรื่องสำคัญที่ต้องการเรียนให้ทราบก็คือว่าหัวใจหรือแก่นสารสำคัญที่อยู่ในพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ.2562 ได้กำหนดไว้ว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องมีมาตรฐานทางจริยธรรม คือ หลักเกณฑ์การประพฤติปฏิบัติอย่างมีคุณธรรม อย่างน้อย 7 ประการ เขาใช้คําว่า “อย่างน้อย” เพราะว่าที่จะมากเกินพ้นไปจากนี้ ก็ให้หน่วยงานต่างๆสามารถไปกำหนดกันเองในแต่ละหน่วยได้ เช่น ตํารวจอาจจะต้องกำหนดอย่างอื่นมากกว่าข้าราชการพลเรือน ครูอาจจะต้องมีมากกว่าข้าราชการธรรมดาทั่วไป ดังนี้เป็นต้น

มาตรฐานทางจริยธรรม 7 ข้อ ที่เป็นข้อใหญ่ใจความนั้น ข้อแรก เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งได้แก่ข้าราชการทั้งหลายจะต้องยึดมั่นในสถาบันหลักของประเทศ อันได้แก่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

...

ข้อที่สองก็คือ เจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งหลายจะต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตมีจิตสำนึกที่ดี มีความรับผิดชอบในหน้าที่ของแต่ละคน

ข้อที่สามคือ เจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องกล้าตัดสินใจและกระทําในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม คําว่าถูกต้องชอบธรรมในที่นี้ คือ ถูกกฎหมาย และถูกศีลธรรม

ข้อที่สี่ เจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องคิดถึงประโยชน์ส่วนรวมให้มาก หรือยิ่งกว่าประโยชน์ส่วนตัว และต้องมีจิตสาธารณะจิตอาสาที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Public Mind คือ จิตใจที่จะให้บริการประชาชน

ข้อที่ห้า เจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งหลายจะต้องรู้และทํางานชนิดมุ่งผลสัมฤทธิ์ คือ ความสำเร็จเรียบร้อยของงานในความรับผิดชอบของตน

ข้อหก เจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง

และข้อที่เจ็ด ซึ่งเป็นข้อสุดท้ายในเจ็ดข้อใหญ่นี้ คือ เจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องดํารงตนเป็นแบบอย่างที่ดี รักษาภาพลักษณ์ที่ดีของทางราชการ ไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ตนเอง แก่งาน และแก่ประเทศชาติโดยส่วนรวม

ตรงนี้อาจสรุปสักครั้งหนึ่งก่อนได้ว่า เรา ซึ่งหมายถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งหลาย มีมาตรฐานทางจริยธรรมที่จะต้องปฏิบัติตาม และเรามีคณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรมเป็นกรรมการใหญ่ในระดับชาติ

แล้ววันพรุ่งนี้เป็นช่วงสุดท้ายของการชี้แจงว่าจะขับเคลื่อนเรื่องนี้กันไปอย่างไร.

“ซี.12”