อย่าหักด้ามพร้าด้วยเข่า "ประธานศาลฎีกา" กังขา รวยแล้วไม่โกงจริงหรือ

“ชวน” ชี้ รัฐธรรมนูญหลังรัฐประหารมักแฝงสืบทอดอำนาจ แม้แต่รัฐธรรมนูญปี 60 ฉบับ “มีชัย ฤชุพันธุ์” ที่ประกาศมาแก้คอร์รัปชัน แต่ก็ไม่ใช่ ซัดจุดอ่อนอยู่ที่คนละเมิดยอมรับเป็นหนึ่งในคนที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และเห็นด้วยต้องแก้ไข ด้าน “ไสลเกษ” ประธานศาลฎีกา ตอบข้อสงสัยสังคม “คุกมีไว้ขังคนจนจริงหรือ” ยกสถิติ คนถูกขังตามคำพิพากษามีไม่มากอย่างที่คิด ยอมรับคนรวยคนมีความรู้ มักก่อคดีซับซ้อนทำให้ถูกจับน้อยกว่า ต่างจากคนจน ก่อเหตุลักวิ่งชิงปล้นง่าย ชี้ยุคสื่อโซเชียล มีข่าวดราม่าชี้นำสังคม แนะขอให้รับฟังข้อมูลที่แท้จริง

ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 5 พ.ย. ชมรมเพื่อนโดมและสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานวันธรรมศาสตร์สามัคคี ครั้งที่ 20 เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ผู้นำนักศึกษายุค พ.ศ.2494 นำนักศึกษาขับไล่ทหาร ยึดอาคารเรียนท่าพระจันทร์ไว้เพราะความระแวงว่า ธรรมศาสตร์เกี่ยวข้องกับผู้ก่อการกบฏแมนฮัตตัน ซึ่งในงานมีการปาฐกถาจาก 2 บุคคลสำคัญทางการเมืองการปกครองคือ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา และนายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา โดยมีนายนรนิติ เศรษฐบุตร นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายมานิจ สุขสมจิตร บรรณาธิการอาวุโส นสพ.ไทยรัฐ และ กก.สภามหาวิทยาลัย มธ.ให้การต้อนรับ รวมถึงนายไมตรี สุเทพากุล ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการศาลยุติธรรม นายคมน์ทนงชัย ฉายไพโรจน์ เลขานุการศาลฎีกา ไปร่วมงาน

ทั้งนี้ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ความหวังสภาผู้แทนฯ ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560” ว่า ในรัฐธรรมนูญทั้ง 20 ฉบับ ตนผ่านมาแล้ว 18 ฉบับ ตั้งแต่ฉบับที่ 3 เป็นนักการเมืองมาแล้ว 50 ปี จะเห็นได้ว่าหากรัฐธรรมนูญใดที่ออกมาหลังการยึดอำนาจ จะมีบทเฉพาะกาลตอนหนึ่งเขียนไว้ในลักษณะให้ผู้ที่กำหนดรัฐธรรมนูญฉบับนั้นได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ เช่น สมัยจอมพลถนอม กิตติขจร ได้เป็นนายกฯ มีเสียง ส.ส.สนับสนุนจำนวนหนึ่ง แต่มีเสียง ส.ว.สนับสนุนจำนวนมาก หรือสมัย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ แต่บทเฉพาะกาลในอดีตมีระยะเวลาใช้ไม่นาน ใช้แค่ชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น จากนั้นปล่อยให้การเมืองเป็นไปตามกระบวนการปกติ และไม่ได้กำหนดตำแหน่ง จึงไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใดรัฐธรรมนูญบางฉบับที่เริ่มต้นไม่ค่อยสวย เช่น รัฐธรรมนูญปี 2521 แต่ใช้ได้มาถึงปี 2534 แต่รัฐธรรมนูญปี 2560 จะมีอายุนานเท่าไรไม่มีทางรู้

...

นายชวนกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญทุกฉบับจะระบุในมาตรา 3 ว่า อำนาจประชาธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย แต่รัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นครั้งแรกที่เขียนเพิ่มว่า ฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ต้องยึดหลักนิติธรรมในการบริหารประเทศ คือยึดหลักกฎหมาย ที่ต้องเขียนเช่นนี้เป็นผลจากการเรียนรู้รัฐธรรมนูญปี 2540 ที่มีการละเมิดหลักนิติธรรม ที่มาของการยกเลิกรัฐธรรมนูญไม่ได้มาจากจุดอ่อนรัฐธรรมนูญ แต่มาจากปัญหาตัวบุคคลที่ละเมิดรัฐธรรมนูญ ยกตัวอย่างเมื่อครั้งร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 นายสุพจน์ ไขมุกด์ รองประธานคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญ เชิญตนไปพบเป็นการส่วนตัวเพื่อขอความคิดเห็น บอกไปว่าปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดรัฐธรรมนูญ แต่เป็นเรื่องตัวบุคคลที่ละเมิดรัฐธรรมนูญ ไม่ยึดหลักนิติธรรม

ดังนั้นปัญหาการใช้รัฐธรรมนูญและการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ต้องพิจารณาไปควบคู่กัน พูดง่ายๆ คือ ปราชญ์โบราณที่คิดว่าบ้านเมืองจะปกครองได้ดี ต้องปกครองด้วยราชาแห่งปราชญ์ กำหนดคุณสมบัติไว้สูงมากแต่ในชีวิตจริงมันหายาก การปกครองที่เหมาะสมเป็นประโยชน์จริงๆต้องปกครองด้วยหลักนิติธรรม ถ้าผู้ปฏิบัติตามกฎหมายไม่ออกนอกหลักนิติธรรม จะไม่เกิดเหตุการณ์ปี 2549 และปี 2555

นายชวนกล่าวอีกว่า รัฐธรรมนูญ 2560 นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ประกาศว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแก้คอร์รัปชัน แต่จริงๆ มันไม่ใช่ แม้รัฐธรรมนูญกำหนดโครงสร้างและเงื่อนไข แต่หากผู้ปฏิบัติละเมิดและไม่ปฏิบัติ ผลที่อยากให้เกิดขึ้นก็จะไม่เกิด รัฐธรรมนูญไทยรับมาจากต่างประเทศมาก ทั้งที่ต่างประเทศปัจจุบันเขาไม่ใช้แล้ว เช่น ทูตเยอรมันมาพบและบอกว่าเคยมีประสบการณ์ มีพรรคการเมืองเกิดขึ้นมากมาย มีเสียงไม่กี่เสียงก็ได้เป็น ส.ส. แต่ปัจจุบันยกเลิกไปแล้ว แต่ของไทยไปรับของต่างประเทศมา จนมีพรรครัฐบาล 15-16 พรรค ฝ่ายค้าน 7 พรรค

“ผมเป็นหนึ่งในคนที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถ้าจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญก็เป็นสิ่งที่ควรจะทำ แต่สิ่งแรกที่ควรทำ คืออย่าเพิ่งไปหักด้ามพร้าด้วยเข่า ล้มให้หมด พังให้หมด มันไม่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ต้องมาคุยกันว่าประชาธิปไตยในความปรารถนาคืออะไร ควรมีสภากี่สภา มีวุฒิสภาไหม วุฒิสภาควรมีบทบาทอะไร ควรมาจากระบบแต่งตั้งหรือเลือกตั้งอย่างไร เพราะหน้าที่แต่ละคนไม่เหมือนกัน” นายชวนกล่าว

ด้านนายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “คุกมีไว้ขังคนจนจริงหรือ” ใจความว่าแม้มารับตำแหน่งประธานศาลฎีกาเพียง 1 ปี แต่ก็สัมผัสกับความทุกข์ยากของประชาชนมาตลอด พ่อตนเป็นเพียงเสมียนศาล และตนผ่านวิกฤติเหตุการณ์ 14 ตุลา 16, เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 เห็นคนบริสุทธิ์ถูกแขวนคอกับต้นมะขาม, 6 ตุลา, เหตุการณ์วิกฤติตุลาการปี 34 พบว่า สังคมเรายังมีความไม่ยุติธรรม ยังมีการเอารัดเอาเปรียบกัน ความที่เป็นชาวธรรมศาสตร์ มีสำนึกเสมอว่าเรารักธรรมศาสตร์เพราะธรรมศาสตร์ สอนให้เรารักประชาชน มันสะท้อนในใจเสมอมา

โดยตนยึดหลักต้องละเว้นจากการรับสินบน ต้องมีลมหายใจไว้เพื่อทำงานในช่วงดำรงตำแหน่ง หลักสำคัญคือรักษาคนบริสุทธิ์และปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน ขอรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและข้าราชการศาลยุติธรรม เพื่อนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดเป็นนโยบาย พบว่าทุกวันนี้ยังมีปัญหามากมายต้องแก้ไข จึงต้องลำดับความสำคัญของปัญหา ที่ต้องแก้ไขทำได้จริงในวันที่ 7 พ.ย.นี้ ตนจะแถลงนโยบายที่ศาลฎีกาต่อผู้พิพากษา และสื่อมวลชนเพื่อสะท้อนถึงประชาชน หัวใจสำคัญคือเรื่องสิทธิเสรีภาพของผู้เสียหาย เหยื่ออาชญากรรม ผู้ต้องหา จำเลยที่รอการพิสูจน์ว่าผิดหรือบริสุทธิ์

นายไสลเกษกล่าวอีกว่า มีกระแสความคิดว่า ศาลปล่อยผู้ต้องขังน้อย ไม่ให้โอกาสคนออกมาสู้คดี และคุกมีไว้ขังคนจนจริงหรือไม่ ขออธิบายว่า จากการ วิจัยของหลายหน่วยงานพบว่า คนที่ต้องขังส่วนใหญ่เป็นคนจน แต่ก็ไม่มีนิยามว่า อย่างไรจึงจะเรียกได้ว่าคนนี้จนคนนี้ไม่จน มีการตั้งสมมติฐานว่าคนที่มีความรู้การศึกษามีฐานะ มีโอกาสทางการศึกษา จึง รู้ว่าอะไรผิดถูกโอกาสติดคุกก็น้อยลง แต่เราแน่ใจหรือว่าคำพูดที่ว่า “ผมรวยแล้วผมไม่โกง” มันจริงหรือ การศึกษาสูง ทำให้คนทำผิดน้อยลง มันจริงหรือคนจนคนด้อยโอกาสทางการศึกษา ขาดสติยั้งคิด ไปก่อเหตุลักวิ่งชิงปล้นก็ง่าย คดีเกิดบ่อย จับได้บ่อย จริงหรือไม่ ส่วนคนรวยเป็นคนมีความรู้ทางการเงิน มักจะทำผิดข้อหาฉ้อโกง ฟอกเงิน ปั่นหุ้น มีวิธีการก่ออาชญากรรมที่ใช้องค์ความรู้ มีรายละเอียดสลับซับซ้อนกว่าการลักวิ่งชิงปล้น ทำให้ถูกจับยากกว่าจริงหรือไม่ และมีใครเคยเห็นคนจนทำผิดข้อหาปลอมใบกำกับภาษี หลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรนำเข้าส่งออกสินค้าบ้าง

นายไสลเกษกล่าวอีกว่า มีคำถามว่าแล้วในคุกมีคนจนกับคนรวยใครมากน้อยกว่ากัน จากรายงานของคณะทำงานของตน พบว่าปี 2561 มีผู้ต้องขังทั่วประเทศ 680,000 คนเศษ มี 90,000 คน ถูกศาล มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดให้จำคุก ที่เหลือนั้น ร้อยละ 42 ศาลปล่อยเพราะรอการลงโทษ รอการกำหนดโทษ และร้อยละ 58 ศาลสั่งปรับ กักขัง แสดงว่ามีคนติดคุกจริงๆ เพียงร้อยละ 16.5 ในจำนวนนี้

ยังไม่มีการวิจัยว่าเป็นคนรวยกี่คน อาจเพราะว่ายังไม่มีการนิยามว่าคนรวยคนจน หรืออาจจะไม่มีการแยกประเภทมาก่อน แต่ยอมรับหรือไม่ว่าอาชญากรที่เป็นคนรวยถูกจับยากกว่า และคนที่หลบหนีระหว่างศาลให้ปล่อยตัวชั่วคราวมากที่สุดคือ คนรวย คดีที่ฟ้องใหม่ จำเลยเป็นคนจนมากกว่า

พร้อมกันนี้ ประธานศาลฎีกาหยิบยกสถิติผู้ต้องขัง ปี 2562 นับถึงเดือน ต.ค.มีผู้ต้องขัง 360,000 คน แยกเป็นถูกขังในระหว่างช่วงการสอบสวน ก่อนฟ้องคดี 2 หมื่นกว่าคน คิดเป็นร้อยละ 5.5 ถูกขังไว้ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น 1 หมื่นคนเศษ คิดเป็นร้อยละ 2.8 ถูกขังในชั้นพิจารณาของศาลอุทธรณ์และฎีกา 2 หมื่นกว่าคน คิดร้อยละ 8 รวมๆแล้วคือร้อยละ 16 เศษ ที่เหลือร้อยละ 84 คือคนที่ถูกขังเพราะคดีเสร็จเด็ดขาด ให้ต้องรับโทษจำคุก ขณะที่การคุ้มครองสิทธิ์ผู้ต้องหาหรือจำเลย ซึ่งทุกคนมีสิทธิ์ขอปล่อยตัวชั่วคราว ปี 2560 มีการยื่นคำร้องขอปล่อยตัว 220,000 ราย ศาลพิจารณาปล่อยตัว 210,000 ราย คิดเป็นร้อยละ 93.6 และขังอยู่ระหว่างพิจารณาเพียงร้อยละ 16 เศษเท่านั้นเอง เพื่อตอบคำถามที่กล่าวกันว่า ศาลขังไว้ระหว่างพิจารณาเกินความจำเป็นจริงหรือ ซึ่งขอยืนยันว่า ที่พูดกันว่าศาลขังคนไว้โดยไม่จำเป็นนั้น ไม่เป็นความจริง

ประธานศาลฎีกากล่าวอีกว่า คนที่ยังถูกขังมีโอกาสจะได้ออกมาหรือไม่นั้น รัฐธรรมนูญมาตรา 29 บอกว่า ถ้ายังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้สันนิษฐาน ว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์ ตนเห็นว่าคำว่าผู้บริสุทธิ์นั้น เมื่อคนที่ถูกจับมายังถูกดำเนินคดีในชั้นสอบสวน ในศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องประทับฟ้อง อาจมองได้ว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ถ้าศาล ชั้นต้นพิพากษาแล้วว่าผิด ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนอีกอย่างนี้ยังจะเรียกว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่อีกหรือไม่ หันมาดู จากหลักการที่ว่า “คำพิพากษายังคงใช้ได้จนกว่าจะถูกยกเลิกเพิกถอนเปลี่ยนแปลง โดยคำพิพากษาในภายหลัง” ย่อมแสดงว่าคดีที่ศาลมีคำพิพากษาไปแล้วผ่านการสืบพยานชั่งน้ำหนักหักล้าง ต่อสู้กันอย่างเต็มที่แล้ว ต้องใช้บังคับได้

“ดังนั้นที่รัฐธรรมนูญยังพูดว่า ตราบใดถ้าศาลยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเขาผิด ให้สันนิษฐานว่าเขาบริสุทธิ์ ในขณะที่ศาลสูงพิพากษาแล้วว่าคนคนนี้เป็นผู้กระทำความผิด ยังจะต้องปฏิบัติต่อคนผู้นี้เช่นเดียวกับหลักคิดตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าเอาหลักสามัญสำนึกมาใช้ มันจะใช้กันได้หรือไม่ เราได้มองในมุมของผู้เสียหาย เหยื่ออาชญากรรม เด็ก สตรี คนชรา ที่ถูกทำร้าย ข่มขืนฆ่าบ้างหรือไม่ เรื่องการคุ้มครองสิทธิ์ จึงจะมองด้านผู้ต้องหา จำเลย ด้านเดียวไม่ได้ ต้องคำนึงถึงเหยื่ออาชญากรรมด้วย ตนเชื่อว่าศาลยุติธรรมจะไม่ปล่อยอาชญากรที่ปล้น ฆ่า ฆ่าข่มขืนอย่างแน่นอนต่อให้รวยแค่ไหนก็ตาม”

นายไสลเกษกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า ในยุคสื่อโซเชียล มีข่าวดราม่าชี้นำสังคมมากมาย ขอให้รับฟังข้อมูลที่แท้จริงตัวอย่างเช่น คดีตายายเก็บเห็ดถูกจับ ใครจะรู้บ้างว่าที่แท้จริงเป็นคดีที่คนที่ถูกจับเป็นนอมินีของคนรวยไปบุกรุกที่ดินกว่าสิบไร่ มีการครอบครองไม้ต้องห้าม การที่สังคมรับข่าวสารที่คลาดเคลื่อนทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนได้

ทั้งนี้ ก่อนปาฐกถามีการร้องเพลงพระราชนิพนธ์ “ยูงทอง” อันเป็นเพลงประจำของมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ร่วมกัน และหลังการปาฐกถา ผู้บริหารสภามหาวิทยาลัย คณาจารย์ ศิษย์เก่า นักศึกษาร่วมทำพิธีแสดงมุทิตาจิต ด้วยการมอบช่อดอกไม้ยินดีที่ศิษย์เก่าจากคณะนิติศาสตร์ มธ.ได้ดำรงตำแหน่งประมุขฝ่ายตุลาการและประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งเป็นเสาหลักสำคัญของประเทศ