9 ปี ผ่านไป เหมือนเหตุการณ์ฝันร้ายการสูญเสียครั้งใหญ่ของคนไทยเพิ่งจะเกิดขึ้นมาไม่นานนี่เอง ทว่าในทางตรงกันข้ามใครอีกหลายคนก็อาจจะลืมเลือนห้วงเวลานั้นไปเสียหมดแล้ว "ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์" ย้อนเรื่องราวตำนาน "ม็อบก่อการร้าย" จับต้นชนปลายที่มาที่ไปให้ได้เข้าใจกันคร่าวๆ ว่า "มันเกิดอะไรขึ้น" ภายหลังวันนี้ (14 สิงหาคม 62) 24 แกนนำ-แนวร่วม นปช. เข้ารับฟังคำพิพากษาคดี ก่อการร้าย ปี 2553 ณ ศาลอาญารัชดา กระทั่งศาลชั้นต้นยกฟ้อง 24 แกนนำ 

จุดเดือดเกิดขึ้นจากม็อบทวงคืนสัญญาณทีวี 

ความคุกรุ่นรุนแรงของม็อบเสื้อแดงขับไล่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 27 ของประเทศไทย เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2553 ภายหลังกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ พากันเคลื่อนขบวนจากสะพานผ่านฟ้า (ซึ่งปักหลักมาตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 53) พากันเดินทางมายังสถานีดาวเทียมไทยคม ลาดหลุมแก้ว เพื่อขอทวงคืนสัญญาณโทรทัศน์ช่องพีเพิลชาแนล ที่ได้ถูกยกเลิกการเผยแพร่กลายเป็นจอดำ (ข่าวที่เกี่ยวข้อง แดงบุกยึดไทยคมปะทะเดือด หมายจับอีก17)

...

สถานการณ์ที่สถานีดาวเทียมไทยคมลาดหลุมแก้วกำลังตึงเครียด  พ.ต.อ.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ รรท.ผบก.ป.(ในขณะนั้น ชี้แจง ผ่านรายการโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ถึงการประกาศจากศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เกี่ยวกับบัญชีรายชื่อผู้ถูกออกหมายจับตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ได้มีการออกหมาย ณ วันที่ 8 เม.ย. 2553 ตามข้อกล่าวหาเป็นผู้ต้องสงสัยตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ตามมาตรา 11 (1) จำนวน 17 คน 

ทหารปะทะแกนนำไม่ทราบฝ่าย ส่งผล "พล.อ.ร่มเกล้า" ตายในหน้าที่  

คนไทยทั่วประเทศหวั่นเหตุการณ์ปะทะเดือดรุนแรง เนื่องจากม็อบได้มีการเผชิญหน้ากับทหาร ขณะเดียวกันแกนนำเสื้อแดง ประกาศจุดยืนชัด "พีเพิลแชนแนล" ต้องสามารถออกอากาศได้ภายใน 24 ชม. ต่อมาม็อบได้เคลื่อนขบวนกลับมาฐานที่ตั้ง ณ สะพานผ่านฟ้า ในคืนวันนั้นเองได้เกิดเหตุการณ์ขึ้นมากมาย รวมไปถึงชายชุดดำ และกองกำลังไม่ทราบฝ่ายเข้ามาปะทะเดือดกับเจ้าหน้าที่ทหาร 

ต่อมาหลังจากมีการขอคืนพื้นที่ "พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม" หรือ "เสธ.เปา" อดีตรองเสนาธิการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.21 รอ.) เสียชีวิตจากการปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ แดงทั้งแผ่นดิน (นปช.) ที่แยกคอกวัว เมื่อคืนวันเสาร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2553 

เปิดไทม์ไลน์ เช้าวันที่ 11 เมษายน 53 การเมืองเดือด 

เช้าวันต่อมา (11 เมษายน 53) เวลา 08.30 น. ศูนย์เอราวัณ สรุปยอดผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุการณ์ที่ทหารเข้าผลักดันกลุ่ม ผู้ชุมนุม ที่บริเวณถนนราชดำเนิน มีผู้บาดเจ็บรวมจำนวน 825 ราย ถูกนำส่งเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 15 แห่ง ส่วนยอดผู้เสียชีวิตมีทั้งสิ้นรวม 20 ราย แยกเป็นพลเรือน 15 ราย ทหาร 5 นาย  

เวลา 09.45 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ 750 นาย ตรึงเข้มรักษาความปลอดภัยสถานีภาคพื้นดินไทยคม ลาดหลุมแก้ว หลังแดงเริ่มเดินทางไปกดดันให้เปิด PTV, 10.30 น. "ปณิธาน วัฒนายากร" โฆษก ศอฉ. เผย รัฐบาลเร่งสอบสวนเหตุปะทะเสื้อแดง-ทหาร ขณะที่นักวิชาการ แนะรัฐบาลปล่อยพื้นที่ให้ผู้ชุมนุม และตั้งคณะกรรมการทางด้านกฎหมายร่วมกัน พร้อมเสนอตัวกลางเจรจา, 10.40 น. "จตุพร พรหมพันธุ์" เผย อดีตนายกฯ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" ได้พูดคุยทางโทรศัพท์กับตน โดยบอกให้ตัดสินใจเอง ว่าจะเดินหน้าต่อสู้ หรือจะยุติ

11.00 น. เสื้อแดงเตรียมจัดพิธีกรรมทางศาสนาให้กับผู้ชุมนุมที่เสียชีวิต พร้อมตั้งศูนย์เยียวยาผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต, 11.10 น. แกนนำกลุ่มเสื้อแดง ระบุ ไม่ต้องการเจรจากับนายกฯ "อภิสิทธิ์" ยืนยันจะเดินหน้าสู้ต่อไป มอบนายวิชาญ มีนชัยนันท์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ประสานงานกับโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อดูแลผู้ชุมนุมที่รักษาตัวในโรงพยาบาล, 11.15 น. ศอฉ.แถลงเร่งตรวจสอบเหตุปะทะที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ โดยยืนยันทำตามคำสั่ง และไม่ได้ยิงใส่ประชาชน เผย มีทหารถูกกลุ่มเสื้อแดงจับตัวไปทั้งสิ้น 4 นาย

12.00 น. โรงพยาบาลกลาง ส่งผู้เสียชีวิตจากเหตุปะทะ ให้สถาบันนิติเวชทั้งหมด 10 ราย โดยขณะนี้มีญาติมาติดต่อรับศพแล้ว 8 ราย แต่อยู่ระหว่างการผ่าชันสูตรของแพทย์, 12.26 น. พ.อ.นพ.พีรพล ปกป้อง ผอ.กองการแพทย์ฉุกเฉิน รพ.พระมงกุฎเกล้า ห่วงทหาร 4 นาย ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัส ซึ่งพักอยู่ในห้องไอซียู ย้ำดูแลใกล้ชิด ขณะที่ยอดผู้บาดเจ็บทั้งทหารและพลเรือนใน รพ.พระมงกุฎเกล้า มีทั้งหมด 220 ราย ก่อนส่งทหารผู้ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยจำนวน 100 นาย กลับวันนี้

เวลา 13.17 น. "พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ" โฆษก สตช. เผย จะมีการตั้งคณะกรรมการชันสูตรศพผู้เสียชีวิตจากเหตุปะทะ โดยมีแพทย์จากสถาบันนิติเวช 4-5 คน และกลุ่ม นปช. อีก 2 คน เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในขั้นตอนการดำเนินงาน ส่วนกรณีผู้สูญหายให้ทางญาติมาติดต่อ เพื่อบอกรูปพรรณสัณฐานของผู้สูญหายได้ทุกโรงพัก ทั้งนี้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะดำเนินการตรวจสอบต่อไป

13.20 น. "ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ" แกนนำเสื้อแดง แถลงเย็นวันนี้จะรวมตัวคนเสื้อแดง ไปทำพิธีสวดศพผู้เสียชีวิต ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย, 14.10 น. "พล.อ.อ.กำธน สินธวานนท์" องคมนตรี เข้าเยี่ยมผู้บาดเจ็บเหตุปะทะ ที่ รพ.พระมงกุฎฯ พร้อมเสนอให้ทุกฝ่ายใช้สติแก้ปัญหา ชี้การเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง ฝากกลุ่มผู้ชุมนุมให้เวลารัฐบาลคิด และขอให้ยุติชุมนุมเพื่อยุติปัญหา

14.30 น. "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" ออกแถลงการณ์ เสียใจกับเหตุปะทะ จนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิต ชี้ "อภิสิทธิ์" หนีไม่พ้นความรับผิดชอบ ย้ำยุบสภาคือทางออกที่ดีที่สุด, 14.35 น. "สุเทพ เทือกสุบรรณ" แสดงเสียใจที่ทหารได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต โดยระบุว่า พร้อมรับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เผยเตรียมนัดถกพรรคร่วมรัฐบาลในเวลา 17.00 น.

15.00 น. ศอฉ. แถลง รัฐบาลเสียใจต่อครอบครัวของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจาก เหตุการณ์ปะทะ ระบุจะดูแลและช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ยืนยันมุ่งหน้าคลี่คลายสถานการณ์เผยขณะนี้ทหารได้กลับเข้ามา เพื่อปรับกำลังพล และตรวจสอบอาวุธที่ถูกขโมยและหายไป พร้อมรวบรวมภาพถ่ายของสื่อมวลชน เพื่อดำเนินการชี้แจงข้อเท็จจริง ยืนยัน การใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่เป็นไปตามกฎหมาย คือการใช้อาวุธ ยิงขึ้นฟ้า และไม่มีหลักฐานอื่นใดที่เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธกับประชาชน เพราะสิ่งที่ใช้เป็นอาวุธเครื่องมือในการควบคุมฝูงชน

16.00 น. พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผบก.น.1 เข้ารับตัวทหารทั้ง 4 นาย ที่ถูกกลุ่มนปช. ควบคุมตัวอยู่ด้านหลังเวทีสะพานผ่านฟ้าฯ โดยใช้เวลาในการทำบันทึกรับตัวเป็นเวลา 10 นาที เบื้องต้นจะส่งทหารทั้งหมดกลับต้นสังกัด
16.20 น. แกนนำกลุ่มเสื้อแดง ระดับรอง ขึ้นเวทีปราศรัยที่เวทีสะพานผ่านฟ้าลีลาศ โดยตำหนิการทำงานของสื่อมวลชน ว่าเสนอข่าวแบบลำเอียง พร้อมไล่สื่อออกจากพื้นที่สะพานผ่านฟ้าฯ ทำให้สื่อมวลชนต้องออกจากพื้นที่เวทีปราศรัย มายังสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง

17.00 น. มติคณะกรรมการสิทธิ ตั้ง คณะกรรมการ 2 ชุด ตรวจศพและการละเมิดสิทธิ จากเหตุการณ์ม็อบแดงปะทะทหาร ป้อง มาร์ค หากผิด นปช.ก็ผิดด้วย เพราะมีการยกระดับจนสถานการณ์รุนแรงมากขึ้น

กลุ่มแกนนำยกระดับการชุมนุม มีผู้คนหลั่งไหลเข้ามาสมทบต่อเนื่อง 

ภายหลังวันที่ 12 เมษายน 53 กลุ่มแกนนำได้มีการแห่ศพของผู้เสียชีวิตซึ่งเป็นมวลชนคนเสื้อแดงร้องขอความเป็นธรรม วันที่ 13 เมษายน 53 ได้มีการหยุดปราศรัยให้ทุกคนแยกย้ายกันไปเล่นน้ำฉลองวันสงกรานต์ ทว่ายังมีมวลชนอีกจำนวนมากที่ปักหลักอยู่ตามจุดเวลาชุมนุมต่างๆ โดยเฉพาะแยกราชประสงค์ และร่วมกันเล่นน้ำสงกรานต์ที่นั้นอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง 

หลังผ่านพ้นช่วงเทศกาลวันหยุด กลุ่มผู้ชุมนุมยังเหนียวแน่น ขณะที่บนเวทีมีแกนนำสลับกันขึ้นปราศรัยเป็นระยะ ประเด็นหลักคือเรียกร้องให้มีการยุบสภา และนายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลาออกเพื่อรับผิดชอบการเสียชีวิตที่เกิดขึ้น เหตุการณ์ชุมนุมดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ม็อบทำสร้างกำแพงป้องกันพื้นที่หนาแน่นทั่วอาณาบริเวณ 

13 พ.ค. เสธ.แดง ถูกยิง ต่อมาทหารขอทวงคืนพื้นที่

ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้น กลุ่มคนเสื้อแดงได้ปะทะกับมวลชนฝ่ายคัดค้านไม่เห็นด้วยอยู่เป็นระยะๆ โดยเฉพาะบริเวณ 4 แยกศาลาแดง หน้าโรงพยาบาลจุฬาฯ ส่วนฝั่งตรงข้ามบนถนนสีลมก็กลายเป็นก็กลายเป็นพื้นที่ปักหลักของฝูงชนที่ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุม จึงเกิดการปะทะกันเป็นระยะๆ  

กระทั่งเข้าเดือนพฤษภาคม 53 เหตุการณ์รุนแรงที่สุดเกิดขึ้นหลังมีการลอบยิง เสธ.แดง พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ด้วยอาวุธปืนสไนเปอร์แรงสูง ขณะที่ พล.ต.ขัตติยะ กำลังให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนต่างประเทศบริเวณแยกศาลาแดง หลังจากนั้น พล.ต.ขัตติยะ ได้ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลหัวเฉียวและโรงพยาบาลวชิรพยาบาลตามลำดับ อย่างไรก็ตาม พล.ต.ขัตติยะ ได้เสียชีวิต เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ภายหลังสิ้น พล.ต.ขัตติยะ กลุ่มผู้ชุมนุมได้อ่อนแรงลง พื้นที่ถนนที่ม็อบเคยยึดไว้ตลอดทั้งเส้น ถูกทหารเข้าขอคืนพื้นที่ กระทั่งเข้าถึงจุดหลักคือหน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ แยกราชประสงค์ 

19 พ.ค. แกนนำยุติการชุมนุม มีคนตาย 8 ศพในวัด 

ในวันที่ 17 พฤษภาคม 53 ศอฉ. ยอมประกาศให้วัดปทุมวนารามเป็นเขตอภัยทานตามที่กลุ่มองค์กรสันติวิธีเรียกร้อง และได้มีการขึ้นป้าย “เขตอภัยทาน” ในวัดปทุมวนาราม จุดประสงค์หลักคือเพื่อใช้เป็นสถานที่พักและให้ความปลอดภัยแก่ผู้ชุมนุมที่เป็นเด็ก สตรีและผู้สูงอายุ โดยผู้ชุมนุมบางส่วนได้เข้าไปใช้พื้นที่ภายในวัดปทุมวนารามระหว่างการชุมนุมและก่อนวันที่ 19 พฤษภาคมแล้ว โดยในวันที่ 15 พฤษภาคม มีผู้พบเห็นชายฉกรรจ์ แต่งกายในชุดสีดำและลายพรางจำนวนหนึ่งอยู่ภายในวัดปทุมวนารามด้วย 

ในวันที่ 19 พฤษภาคม หลังจากแกนนำ นปช.ประกาศยุติการชุมนุมในเวลาประมาณ 13.20 น. บริเวณเวทีแยกราชประสงค์เต็มไปด้วยความโกลาหล ทำให้ผู้ชุมนุมบางส่วนราว 4000 คนได้ทยอยเข้าไปใช้พื้นที่ภายในวัดปทุมวนารามเป็นที่หลบภัย เหตุการณ์ความรุนแรงบริเวณวัดปทุมวนารามในวันที่ 19 พฤษภาคม ทำให้มีผู้เสียชีวิต 8 คน โดยถูกยิงบริเวณหน้าประตูทางออกวัดปทุมวนาราม 

ห้างถูกเผา หลังสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์

วันที่ 19 พ.ค. หลังแกนนำ นปช. บนเวทียุติการชุมนุม เหตุการณ์อลหม่านได้เกิดขึ้นตามมา ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ฝั่งศูนย์การค้าเซน ถูกลอบวางเพลิงภายใน จนทำให้มีกลุ่มควัน และเปลวไฟพวยพุ่งออกมา และมีการลอบวางเพลิงโรงภาพยนตร์สยามอีกแห่งหนึ่งเช่นกัน โดยเจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าสกัดเพลิงได้ 

นอกจากนี้ ยังมีการลอบวางเพลิง สถานที่อีกหลายแห่ง เช่น สาขาธนาคารออมสิน บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง และถนนวิภาวดีรังสิต, ร้านสะดวกซื้อ เซเว่น อีเลฟเว่น สาขาใกล้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ย่านดินแดง และสาขาหัวมุมวงเวียนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ส่งผลให้เพลิงลุกลามขึ้นไปยังร้านหนังสือดอกหญ้า ซึ่งเป็นชั้นบนของอาคาร รวมทั้งศูนย์การค้าเซ็นเตอร์วันที่อยู่ติดกัน

นอกจากนี้ ยังมีผู้ขว้างถังดับเพลิง เข้าใส่อาคารห้างสรรพสินค้าแพลทินัม ย่านประตูน้ำ แต่ไม่มีเหตุเพลิงไหม้เกิดขึ้นบริเวณดังกล่าว โดยเหตุเพลิงไหม้ทุกแห่ง รถดับเพลิงไม่สามารถเข้าควบคุมเพลิงได้ เป็นเวลาหลายชั่วโมงเช่นกันรวมทั้งการทำลายทรัพย์สินกระจกหน้าต่าง สถานีคลองเตย รถไฟฟ้ามหานคร 

และทั้งหมดนี้เป็นเหตุการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในห้วงเวลากว่า 3 เดือน โดยกลุ่มแกนนำ นปช. 24 รายถูกตั้งข้อกล่าวหาผู้ก่อการร้าย กระทั่งศาลชั้นต้น ได้ตัดสินให้มีการยกฟ้องคดีดังกล่าวในที่สุด