“วิเชียร ชุปไธสง” นายกสภาทนายความฯ ชี้เอกสารอาจถูกปลอมหรือแต่งเติมข้อความ พบสีความเข้มของหมึกตรงข้อความที่ว่า “ซ่อมแซมบาดแผล” กับข้อความ “ตัดเท้าซ้าย” แตกต่างกัน ต้องพิสูจน์อย่างละเอียดอีกครั้ง คดีนี้เหยื่อเป็นผู้ยากไร้ ไม่มีอาชีพ เงินเยียวยาความเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนมีความสำคัญต่อการดำรงชีพ เป็นไปได้ที่คดีอาจยุติด้วยการเจรจา ขณะที่ นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร รองปลัด กทม. อยู่ระหว่างสอบถามรายละเอียดกับ ผอ.โรงพยาบาลที่เกิดเหตุ ยืนยันหากไกล่เกลี่ยไม่ได้ก็ต้องว่าไปตามกฎหมาย

กรณีนายกฤษฎา สารสุข อายุ 48 ปี นั่งรถวีลแชร์มาพบนายวิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ นายสมพร ดำพริก อุปนายกฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย สภาทนายความฯ เพื่อขอความช่วยเหลือฟ้องโรงพยาบาลแห่งหนึ่งย่านจรเข้น้อย ทำการรักษาผิดพลาดตัดขาซ้ายออกตั้งแต่ช่วงหัวเข่า ทั้งที่มารักษาบาดแผลที่ฝ่าเท้าเพียงเล็กน้อย นอกจากนี้ในเอกสารการยินยอมให้รักษานั้น ผู้เสียหายยืนยันก่อนเข้าห้องผ่าตัดไม่มีข้อความ “ตัดเท้าซ้าย” แต่อย่างใด ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องพิสูจน์กันอีกครั้ง

ความคืบหน้าเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 17 พ.ย. นายวิเชียร ชุปไธสง นายกสภาทนายความฯ เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า ในส่วนคดีอาญาเรื่องการปลอมหรือแต่งเติมข้อความลงในเอกสารนั้น เท่าที่พิจารณาสำเนาเอกสารของนายกฤษฎา สารสุข ผู้เสียหาย พบความแตกต่างกันที่สีความเข้มของหมึกตรงข้อความที่ว่าซ่อมแซมบาดแผลกับข้อความตัดขา สีความเข้มของหมึกมันต่างกันคล้ายเขียนต่างเวลากันต้องพิสูจน์อย่างละเอียดกันอีกครั้ง สำหรับในส่วนคดีแพ่งการพิสูจน์ความรับผิดทางแพ่งของโรงพยาบาลนั้นที่ผ่านมา บรรดาเอกสารต่างๆมักอยู่ในความครอบครองของโรงพยาบาล จะนำมาอ้างเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายผู้เสียหายคงไม่ง่าย แต่สภาทนายความฯมีทางแก้โดยจะอ้างพยานบุคคลที่เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่เป็น “พยานคนกลาง” ซึ่งจะให้ความเห็นอย่างตรงไปตรงมา โดยเสนอเป็นพยานหลักฐานสำคัญในคดีอาจไม่ต้องเรียกพยานหลักฐานจากอีกฝ่ายเพราะเป็นที่ทราบว่าคดีแบบนี้เอกสารพยานต่างๆมักอยู่ในเงื้อมมือของโรงพยาบาลทั้งสิ้น

...

“เท่าที่ผมซักถามข้อเท็จจริงจากนายกฤษฎา เขาเป็นผู้ยากไร้และไม่ได้ประกอบอาชีพแล้ว ดังนั้นค่าเสียหายค่าสินไหมต่างๆเจ้าตัวยอมรับว่ามีความสำคัญต่อการดำรงชีพ การยุติคดีนี้อาจเป็นไปได้ที่ต้องมีการเจรจากันระหว่างโรงพยาบาลกับนายกฤษฎาอีกครั้ง ว่าทั้งสองฝ่ายจะพอใจแค่ไหน ยอมรับได้เพียงใด” นายวิเชียรกล่าว

นายวิเชียรยังกล่าวด้วยว่าสภาทนายความฯเป็นที่พึ่งของประชาขน เมื่อผู้เสียหายต้องการฟ้องร้องแพทย์พยาบาล สภาทนายความฯก็ต้องดำเนินการตามนั้นว่ากันไปตามพยานหลักฐานและยึดมั่นในหลักกฎหมาย แพทย์พยาบาลต้องทำหน้าที่รักษาพยาบาลคนไข้ทั่วไปอยู่แล้ว แต่เมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้น ต้องเยียวยาชดใช้ความรับผิดตามสมควรเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

วันเดียวกัน นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร รองปลัดกทม. กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ทราบเรื่องแล้ว อยู่ระหว่างสอบถามข้อเท็จจริงจาก ผอ.รพ.เกิดเหตุที่อยู่ในสังกัด กทม. กรณีดังกล่าวมีการเจรจาไกล่เกลี่ยไปถึงขั้นตอนไหนแล้ว สามารถตกลงกันได้หรือไม่ ให้ทำเรื่องชี้แจงข้อเท็จจริงให้ทราบ หากผู้เสียหายประสงค์จะยื่นฟ้องคดีจริง ต้องดูว่าจะฟ้องใครในความผิดอะไร สามารถเจรจายอมความกันได้หรือไม่ หากไม่สามารถตกลงกันได้ก็ต้องดำเนินไปตามกฎหมาย