คงเป็นความคลุมเครือคดี น.ส.ภัทรธิดา หรือแตงโม พัชรวีระพงษ์ ดาราสาว กว่า 4 เดือนหลังเสียชีวิต ถูกบรรดากลุ่มบุคคล “คนนอก” เข้ามาปั่นกระแส สร้างหลักฐาน ทำให้สังคมเชื่อว่าเป็นคดีฆาตกรรม

อาศัยความสงสัยบางจุดการทำคดีเพื่อมา “เกาะกระแส-สร้างข่าว-สร้างรายได้” ด้วยการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย นำภาพ-คลิป ทั้งที่จริงและเท็จออกมาปล่อยสื่อออนไลน์ แต่สุดท้ายใช้อะไรไม่ได้

แต่ตำรวจตกเป็นจำเลยทันที

ช่วงแรกพอได้ลุ้นกับข้อมูลที่ถูกเปิดกันในทุกช่องทาง เป็นกระแสที่อยู่ในความสนใจของสังคมที่ติดตามคดีการเสียชีวิตของดาราสาว “แตงโม” แต่พอนานวันเข้าสิ่งที่ผู้คนเฝ้ารอดูหลักฐานที่บอกว่าเป็น “คดีฆาตกรรม” ซึ่งหลายคนมาช่วยโหมประโคมข่าวพร้อมกับโจมตีเจ้าหน้าที่ สลับกับการด่าทออีกฝ่ายที่มีความเห็นต่าง

สุดท้ายไม่ได้ข้อมูลอะไรที่เข้ากับคดี จบกันที่ต่างฝ่ายต่างฟ้องร้องดำเนินคดีกันไปมา

จากเดิมที่แม่แตงโม นางภนิดา ศิระยุทธโยธิน จับมือ “ส.ส.เต้” มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ และทนาย อัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ รวมทั้งทีมทนายที่มีชื่ออยู่ในแวดวงโซเชียล สืบค้นหาความจริง ออกมาวิจารณ์การทำงานตำรวจ อัยการ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ เตรียมทำสำนวนคดีมาฟ้องเองเป็นคดีฆาตกรรม

ปล่อย ภาพ-คลิป ที่ว่าเป็นหลักฐานเด็ดโยงเหตุฆาตกรรมดาราสาว สวนสำนวนคดีตำรวจที่เสนออัยการสั่งฟ้อง ใช้กระแสโจมตีกรมสอบสวนคดีพิเศษที่ไม่รับคดีพิเศษ อัยการจังหวัดที่เห็นต่าง ฟ้องร้องตำรวจ ซึ่งคดียังเดินหน้าตามหลักฐานอธิบดีอัยการภาค 1 สั่งสอบเพิ่ม อัยการจังหวัดนนทบุรีนัดผู้ต้องหาฟังคำสั่งฟ้องวันที่ 7 ก.ค.

สุดท้ายวงแตกแม่ดาราสาวบอกว่า ยังไม่คิดที่จะยื่นฟ้องในฐานะผู้เสียหาย ด้วยหลักฐานหรือข้อมูลที่ได้เห็นพบว่ามีแค่ภาพคลิปเสียง ค่อนข้างมีน้ำหนักน้อย ไม่มีความเชื่อมโยงถึงขั้นที่ว่าเป็นการฆาตกรรมได้

...

สรุปสิ่งที่แม่แตงโมเห็นว่า พยานหลักฐานยังไม่ชัดเจน หากยื่นฟ้องไปแล้วและแพ้คดี คนที่จะเดือดร้อนถูกดำเนินคดีคือตัวแม่แตงโม สุดท้ายให้ทนายคนใหม่ทำเรื่องถอนฟ้อง ให้คำฟ้องเดิมตำรวจที่เสนออัยการ

เพราะแม่ไม่เชื่อมั่นหลักฐาน

ขนาดแม่แตงโมที่ได้เห็นหลักฐาน ยังไม่เชื่อถือ กระแสเลยเริ่มตีกลับกลุ่ม “คนนอก” ที่มีส่วนมาปั่นกระแสคดีหลายเดือนด้วยข้ออ้างหลักฐานแต่ไม่ยอมเปิด กำลังถูกสังคมเรียกร้องให้รับผิดชอบกับผู้ที่ได้รับผลกระทบ

หากมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์คดีแตงโมต้องเปิดออกมาเพื่อคลายข้อสงสัย เพราะตลอดเวลาหลายเดือนที่วิจารณ์ตำรวจที่สรุปสำนวนตามพยานหลักฐานที่มี ไม่ได้คิดสร้างพยานหลักฐานเท็จ ได้รับความเสียหาย

สิ่งที่อวดอ้าง สร้างกระแส กดดันตำรวจ อัยการ เปลี่ยนแปลงสำนวนสอบสวนคดี มีหลักฐานที่เปิดมาเข้าข่ายสร้างเรื่องเป็นเท็จ ทำลายความเชื่อมั่นหน่วยงานรัฐ เป็นเรื่องใหญ่ที่มีผลกระทบต่อขบวนการยุติธรรม
ต้องหาคนมาร่วมรับผิดชอบ.

“เพลิงพยัคฆ์”
pluengpayak@thairath.co.th