หากไก่ตาเจ็บ คนสมัยก่อนใช้เถาตำลึงตัดเป็นท่อน แล้วเป่าน้ำจากเถาตำลึงเข้าไป ไม่นานอาการเจ็บตาก็หาย
แต่ปัจจุบันกระบวนการผลิตยาพัฒนาไปมากแล้ว มียาสารพัดรักษาสัตว์ แต่นั่นก็นำมาซึ่งผลข้างเคียง จนกระทั่ง “เดี๋ยวนี้มีการห้ามใช้ยาบางตัวในสัตว์เลี้ยงแล้ว” ทางออกของเรื่องนี้คือ “สมุนไพร ในปัจจุบันเรามีการใช้สมุนไพรในสัตว์แล้ว” ภญ.สุภาภรณ์บอก
ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี อธิบายต่อว่า เราต้องหาสมุนไพรแทนยาปฏิชีวนะเพื่อจะช่วยโลกช่วยสัตว์ “เดี๋ยวนี้เรากินไก่ที่มีรสชาติเหมือนกันหมด เพราะการเลี้ยงการดูแลระบบใหม่ เป็นองค์ความรู้อยู่ในบริษัทใหญ่ๆ ดังนั้น ถ้าเราทำองค์ความรู้ให้ชาวบ้าน ให้ชาวบ้านมีความรู้ในเรื่องนี้ องค์ความรู้ของเราก็จะเป็นอิสระจากทุน และมีตลาดย่อยสำหรับสัตว์เลี้ยงเหล่านี้ด้วย”
การผลิตยาสัตว์ “เจ้าพระยาอภัยภูเบศร” เริ่มจากไก่ชน
“เพราะว่าไก่ชนเป็นไก่พื้นบ้านพื้นเมือง และเดี๋ยวนี้ราคาแพงตัวหนึ่งต้อง 2-3 ล้านบาท เราเลี้ยงด้วยสมุนไพรของบรรพชน และพร้อมเผยแพร่ เราเอาความรู้จากจุดนี้ก่อน แล้วไปศึกษาร่วมกับปศุสัตว์ และทำในแล็บร่วมกัน ตอนนี้จะทำเรื่องไก่ก่อน เรามีการเตรียมชุดความรู้ไปดูแล อย่างไก่ไข่เราลองเลี้ยงด้วยสมุนไพรอย่างดาวเรือง แล้วนำไข่ไปวัดคุณภาพว่าดีกว่าทั่วไปแค่ไหน อย่างไร และเรายังได้คุยกับโรงงานผสมอาหารด้วย เพื่อขยายความรู้ที่ได้นำไปสู่การปฏิบัติในวงกว้างต่อไป”
ด้วยความหวัง “เราต้องการทำให้เห็นว่า สมุนไพรเป็นอะไรได้บ้าง จะเห็นว่าตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 เป็นต้นมา วงการสมุนไพรไทยมีการพัฒนาไปไกลมาก” ดังจะเห็นได้จากงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 14 ณ เมืองทองธานีที่ผ่านมา “เดี๋ยวนี้มีห้างร้านมาออกร้าน เมื่อก่อนจำกัดอยู่แต่คนเล็กๆมีโอทอปมากกว่า แต่เดี๋ยวนี้มีการแต่งบูธสวยงาม โอทอปก็พัฒนาอย่างรวดเร็ว หีบห่อก็มีการพัฒนาได้มาตรฐาน ทำให้เราได้เห็นการพัฒนาสมุนไพรของประเทศ”
...
การพัฒนาเหล่านั้น “เกิดจากการเสริมความรู้เรื่องสุขภาพของชุมชน การให้ความรู้ว่าควรทำธุรกิจอย่างไร ทำให้เกิดเครือข่ายว่ามีใครทำอะไรตรงไหนบ้าง ใครจะทำได้บ้าง และเรื่องการพึ่งตนเองของประชาชน มีหมอยาพื้นบ้าน วัฒนธรรม การแพทย์ดั้งเดิม มีห้องประชุม ออกร้านขายของ งานมีเติบโตมาก สมุนไพรหลายตัวไปอยู่ในแพ็กเกจสวยๆ”
สมุนไพรของ “อภัยภูเบศร” ปัจจุบัน ภญ.สุภาภรณ์บอกว่า “ของเรามี 100 กว่าตัว เราเริ่มต้นมาราว พ.ศ.2524 แล้วพัฒนามาตลอด อย่างฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน เสลดพังพอน ว่านหางจระเข้ ชุมเห็ดเทศ ยาแก้ไอมะขามป้อม ยาแก้ริดสีดวง เราเริ่มต้นจากโรงพยาบาล ต่อมาเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี พ.ศ.2540 เราก็นำมาพัฒนาในหลากมิติเพื่อให้คนเห็น ให้ชาวบ้านได้สร้างรายได้”
ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมีทั้งยาคน สัตว์ เครื่องดื่ม และอาหารสัตว์
สำหรับงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ 14 ที่ผ่านมา ในสายตาของ ภญ.สุภาภรณ์มองว่า “รู้สึกดี คือบูธใหญ่มาลงเยอะ แสดงการแข่งขันและพัฒนาอย่างรวดเร็ว และอีกประการหนึ่งคือ การก้าวไปข้างหน้านั้น เราลืมข้างหลังไม่ได้ ขณะที่เราเดินไปสู่ 4.0 มนุษย์เราต้องมีความรัก ความเห็นใจ ความซื่อสัตย์ เราคิดว่าอภัยภูเบศรทำเรื่องนี้มาตลอด นี่เราคิดว่าเป็นจุดแข็งของความเป็นมนุษย์ เป็นเรื่องข้อมูลข่าวสาร ความจริงใจ และความเป็นเพื่อน”
และในงาน ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า “บูธที่แน่นคือบูธของชาวบ้าน แน่นอนว่า เราต้องทำความเป็น 4.0 ให้แข็งแรงและต้องทำความเป็นมนุษย์ให้แข็งแรงด้วย งานนี้จะเห็นว่า ส่วนที่เน้นความเป็นมนุษย์คนเต็มเลย เป็นเรื่องของจิตวิญญาณ เรื่องคนคุยกับคน คนไม่ใช่คนคุยกับกล่อง เราจะได้เห็นว่า เราใช้ความเป็นคนไทย สร้างความเป็นคนให้แข็งแรง นี่เป็นจุดขายของประเทศในเรื่องของการท่องเที่ยวและการเยียวยา”
สำหรับอภัยภูเบศร “เราต้องการให้ความรู้เรื่องสมุนไพร เราทำมาทุกอย่างไม่รู้หรอกว่าจะขายได้หรือไม่ได้ แต่ว่าปีหนึ่งเราต้องทำชุดความรู้ออกมาสู่สังคม”
อย่างปี พ.ศ.2560 นี้ ก็มีหนังสือ บันทึกของแผ่นดิน 10 สมุนไพรเพื่อสุขภาพ...ผู้บ่าว พ่อเรือน รวมสมุนไพรเพื่อสุขภาพของผู้ชาย ไม่ว่าจะเป็น กระถินหอม กวาวดำ กาสะลอง ขลู่ คัดเค้า ทานตะวัน ย่านางแดง ฟักทอง และความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการใช้สมุนไพร
การดูแลตัวเองด้วยสมุนไพร ภญ.สุภาภรณ์บอกว่า เรื่องเหล่านี้เป็นพื้นฐานง่ายๆที่คนโบราณทำกันมา อาทิ “1.ต้มให้กินเลย เป็นการสร้างประสบการณ์ อย่างหญ้าหนวดแมวต้ม เป็นต้น 2.สร้างความเชื่อมั่น ทางมูลนิธิให้เป็นเอกสารไป อธิบายว่าการใช้ที่ถูกต้องเป็นอย่างไร เราสกรีนมาถูกต้องแล้ว ดูทั้งเรื่องความปลอดภัย และทำให้คนเข้าถึงได้ มีศูนย์เรียกว่าคอลเซ็นเตอร์ ที่คนสามารถโทร.เข้าไปปรึกษาได้”
พลางสรุปว่า “ในอดีตแม่ทุกคนเป็นหมอ แม่จะรู้เรื่องยาสมุนไพร แม่เป็นหมอยา สามารถรักษาคนในครอบครัวได้ รักษาไม่ได้ก็แต่โรคที่รักษายากๆ ศักยภาพของมนุษย์สมัยก่อนไม่ใช่เอาไว้หุงข้าวกิน หรือก่อไฟได้ ศักยภาพพื้นฐานของคนสมัยก่อน ต้องดูแลสุขภาพพื้นฐานของตนเองได้ รู้ว่าเมื่อป่วยแล้วต้องทำอะไรบ้าง”
แต่ปัจจุบัน “เมื่อเราไม่รู้เรื่องนี้แล้ว เราก็พึ่งสารเคมี ทำให้เราเสียศักยภาพส่วนนี้ไป เพราะฉะนั้นเราต้องมีความเชื่อมั่น โลกมีสมุนไพรมากมาย สามารถชงชากิน ต้มยากิน ทั่วโลกหันกลับมาแล้ว การไปโรงพยาบาลเอาเข้าจริงเราไปอยู่กับหมอได้น้อย เอาเข้าจริงบางที่ก็ได้โรคภัยไข้เจ็บกลับมาอีก เราต้องทำให้คนไทยมีศักยภาพ มีความเชื่อมั่น และมีศักยภาพที่จะดูแลตนเองได้ โดยที่เราคืนความรู้ คืนสมุนไพร คืนศักยภาพของมนุษย์ให้เขาไป และเราต้องทำอย่างต่อเนื่อง”
...
และ “การทำเรื่องสมุนไพร เป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สังคมตื่นตัว อย่างภาพที่คนมางานมหกรรมสมุนไพร แสดงว่ามีคนสนใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น พี่คิดว่าการใช้ยาสารเคมีแต่ละปีค่ายาเพิ่มขึ้นๆ ปีนี้อาจจะถึงสองแสนล้านแล้ว เมื่อพูดถึงสิทธิบัตรยา ยาบางชนิดมีสิทธิบัตรเม็ดละ 20 บาท แต่เมื่อหมดสิทธิบัตรเหลือแค่ 50 สต. ต้นทุนทำยาราคานิดเดียว แต่ความเป็นสิทธิบัตรจะขึ้นราคาเท่าไรก็ได้ สิทธิบัตรยาเหมือนเรือกลไฟสมัย รศ.112 ที่พวกเขามาบังคับว่า เอาตังค์มาไม่งั้นตาย มันเป็นอันเดียวกันเลย”
เพราะฉะนั้น “การจะออกจากสิ่งเหล่านั้นได้ เราต้องรู้จักใช้เท่าที่จำเป็นจริงๆ และต้องพยายามพึ่งตนเองให้มาก”
สำหรับเรื่องสมุนไพรรักษาสัตว์ “ในอดีตเราอยู่บ้านนอกเราจะรู้ว่าสมุนไพรอะไรรักษาโรคสัตว์อะไรได้บ้าง เมื่อสัตว์เลี้ยงป่วยเราจะดูแลอย่างไร ต่อมาองค์ความรู้มันหาย เพราะเรากินไก่จากระบบการเลี้ยงแบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ทำให้เราสูญเสียองค์ความรู้เหล่านี้ไปหมด”
การใช้ยาที่เป็นสารเคมี ปัจจุบันนี้ถือว่ามากเกินไป และโลกกำลังจนมุมจากยาปฏิชีวนะตกค้างในสัตว์เลี้ยง ต่างประเทศเริ่มแบนแล้ว และควรจะยิ่งแบนเพราะการที่มีแอนตี้บอติกเล็กๆหลุดเข้ามาในร่างกายมันส่งผลให้ร่างกายเรามีแบคทีเรียในลำไส้ ร่างกายเราพอเห็นเชื้อที่มันเป็นศัตรู เราจะมีเชื้อบางอย่างต้าน ไม่ให้มันออกฤทธิ์ มันจะสร้างสารล็อกเอาไว้แล้วเชื้อมันคุยกันได้ พอเชื้อก่อโรคมามันแบ่งให้กันก็เกิดการดื้อยาอย่างมหาศาลทั่วโลก
ผลที่ตามมาก็คือทำให้คนปัจจุบัน แม้จะรวยแค่ไหนก็ตายด้วยโรคติดเชื้อในกระแสเลือด เพราะเชื้อมันดื้อยา
สำหรับการผลิตยารักษาโรคของ “สมุนไพรอภัยภูเบศร” “เราสืบทอดภูมิปัญญาของโลกคืนสู่มนุษย์ เราทำให้คนใช้ง่ายๆ มีกติกาว่า เมื่อเราทำของขาย เจ้าของตำรับต้องทำเองได้เสมอ ความรู้ของเราที่ได้มาไม่ใช่หน้าที่เพื่อเอามาทำขาย”
...
แต่ “เรามีหน้าที่ทำองค์ความรู้คืนสู่สังคม เพื่อให้สมุนไพรงอกงามได้กลับสู่ผองชน”.