รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า กทม. จัดโครงการตรวจสุขภาพฟรี 1 ล้านคน ทำให้ได้ทราบผลการตรวจสุขภาพประชาชนแบบเจาะกลุ่ม โดยพบผู้ใช้แรงงานอยู่ในแคมป์คนงานและผู้อยู่อาศัยแบบพักเดี่ยว มีแนวโน้มการเป็นโรคเบาหวานค่อนข้างสูง ขณะที่การตรวจคัดกรองสุขภาพจิตพบคนกรุงเทพฯ มีความเครียดมากกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศประมาณร้อยละ 10-11 ในจำนวนนี้มีความเครียดระดับปานกลางไปจนถึงมาก ในช่วงอายุ 15-35 ปี และเครียดมากที่สุด ในอายุ 15-25 ปี จึงได้มีการหารือกับจิตแพทย์ ของโรงพยาบาลสังกัด กทม.ในการช่วยแก้ปัญหา โดยจะเริ่มทำโครงการเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพจิต จับมือกับมูลนิธิและหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องรวมถึงมหาวิทยาลัย เพราะช่วงอายุ 15-25 ปี บางส่วนยังศึกษาในระดับอุดมศึกษาและอีกส่วนอยู่ระหว่างหางาน เป็นช่วงจุดเปลี่ยนของการใช้ชีวิต จึงทำให้เกิดภาวะเครียดได้ง่ายขึ้น ส่วนกลุ่มที่เป็นนักเรียนหรือกลุ่มเปราะบาง จะมีการอบรมครูสังกัด กทม.ร่วมกับจัดพยาบาลอนามัยโรงเรียนจากศูนย์บริการสาธารณสุขไปให้ความรู้ เพื่อให้ได้รับการดูแลตรงกับที่เป็นอยู่

รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าจิตแพทย์ของ รพ.สังกัด กทม.มีอยู่น้อยมากเพียง 23 คน เมื่อมีคนเครียดก็ต้องการที่ปรึกษา ซึ่งหากประเมินแล้วอาจจะยังไม่ต้องถึงขั้นไปพบจิตแพทย์จะมีการเพิ่มจำนวนนักจิตวิทยาที่สามารถให้คำปรึกษาได้ รวมทั้งเปิดให้ประชาชนสามารถตรวจสอบคัดกรองเบื้องต้นได้จากทางแอปพลิเคชันหมอ กทม. เพื่อให้ทราบว่าสภาพจิตใจของเราเป็นยังไง ซึ่งหากพบว่า มีอาการกระทบต่อสุขภาพจิตจะมีลิงก์ข้อมูลเพื่อไปพบนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ แต่หากกรณีมีสัญญาณ ส้มแดงหรือภาวะเสี่ยงสูง จะมีการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่มีแผนกดูแลรักษาผู้ป่วย ซึ่งมี 6-10 เตียง แยกผู้ป่วยชายและหญิง สามารถรับผู้ป่วยจิตเวช และผู้ป่วยจากยาเสพติด ซึ่งจะประสานการทำงานกับกรมสุขภาพจิต สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา และสถาบันราชานุกูล

...

“เราจะผลักดันให้มีจิตแพทย์ประจำโรงพยาบาลให้มากขึ้น เพิ่มนักจิตวิทยาให้คำปรึกษาเบื้องต้นและมีแผนที่จะจัดทำ Telemedicine เชื่อมต่อจิตแพทย์เข้ามาให้บริการมากขึ้นต่อไป” รศ.ทวิดากล่าว.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่