จากที่ กทม.จัดระเบียบหาบเร่-แผงลอยบนทางเท้า โดยใช้หลักเกณฑ์ตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไขการค้าขายในพื้นที่ผ่อนผัน ลงวันที่ 18 ก.ค.2548 ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน เมื่อเร็วๆ นี้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. จึงได้ทบทวนรูปแบบ และมาตรฐานหาบเร่-แผงลอยให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบัน โดยได้ลงนามในประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขายหรือจำหน่ายสินค้าในที่สาธารณะ เมื่อวันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา ใช้บังคับแทน

“รายงานวันจันทร์” สัปดาห์นี้ ได้ไปพูดคุยกับรองผู้ว่าฯ กทม. “สกลธี ภัททิยกุล” เกี่ยวกับการดำเนินการภายหลัง ผู้ว่าฯ กทม.ลงนามในประกาศฯ ว่า แนวทางจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอยจะเปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งจุดที่ได้จัดระเบียบทางเท้า หรือห้ามทำการค้าไปแล้ว จะกลับมาขายได้หรือไม่

-------------

ถาม-กทม.มีแผนการจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอย ภายหลังผู้ว่าฯ กทม.ลงนามในประกาศ อย่างไรบ้าง

สกลธี - ภายหลัง ผู้ว่าฯ กทม.ลงนามในประกาศฯ สำนักเทศกิจ (สนท.) ได้สำรวจพื้นที่นำร่องให้ทำการค้าขายในพื้นที่สาธารณะของ กทม.จำนวน 10 จุด โดยมีกระบวนการสอบถามความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งเป็นไปตามประกาศของกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย 1.เจ้าของอาคาร หรือผู้ครอบครองอาคารที่อยู่ในพื้นที่ที่จะกำหนดเป็นพื้นที่ทำการค้า 2.ประชาชนผู้สัญจรและใช้ทางเท้าในบริเวณพื้นที่ที่จะกำหนดเป็นพื้นที่ทำการค้า 3.ประชาชนผู้พักอาศัยในรัศมี 500 เมตรของพื้นที่ที่จะกำหนดเป็นพื้นที่ทำการค้า และ 4.ประชาชนผู้มีสถานที่ทำงานในรัศมี 500 เมตรของพื้นที่ที่จะกำหนดเป็นพื้นที่ทำการค้าขาย

...

ผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนตามเงื่อนไขทั้ง 10 จุด มีเพียง 3 จุด ที่ผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนเกินร้อยละ 50 เห็นด้วยให้สามารถทำการค้าขายในที่สาธารณะได้ ประกอบด้วย 1.ถนนพระราม 2 ตั้งแต่พระราม 2 ซอย 69 ถึงห้างโลตัส เขตบางขุนเทียน 2.ถนนสรงประภา ขาเข้า ตั้งแต่ทางเข้าเมืองใหม่ดอนเมืองถึงอาคารเลขที่ 1/136 เขตดอนเมือง และ 3.ถนนสรงประภาขาออก ตั้งแต่หน้าตลาดสดสีกัน ถึงหน้าโรงเรียนสีกัน เขตดอนเมือง

ถาม-หลักเกณฑ์ เบื้องต้นในการทำการค้าขายบนทางเท้าตามประกาศมีอะไรบ้าง

สกลธี - หลักเกณฑ์การพิจารณาพื้นที่การค้า เช่น ถนนต้องมีช่องทางจราจรตั้งแต่ 4 ช่องจราจรขึ้นไป และทางเท้าสาธารณะ เมื่อจัดวางแผงค้าแล้วต้องมีที่ว่างให้ประชาชนสัญจรไม่น้อยกว่า 2 เมตร , ไม่มีผลกระทบต่อการจราจร และต้องได้รับการเห็นชอบจากเจ้าพนักงานจราจร, ไม่เป็นพื้นที่ที่มีกรณีพิพาทระหว่างผู้ค้ากับ กทม., ไม่เป็นพื้นที่หรือบริเวณที่ กทม.ประกาศห้ามเป็นพื้นที่ทำการค้าขาย, ต้องได้รับความเห็นชอบโดยส่วนใหญ่จากประชาชนในพื้นที่และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในบริเวณนั้น หรือใกล้เคียง โดยกระบวนการรับฟังความคิดเห็น

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาให้เป็นพื้นที่ทำการค้าขายเป็นการอนุญาตชั่วคราวเท่านั้น ต้องมีการทบทวนทุกๆ 1 ปี โดยผ่านคณะกรรมการจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอยระดับเขต เพื่อเสนอคณะกรรมการฯของ กทม.พิจารณา

ถาม-คุณสมบัติของผู้ค้าขายเป็นอย่างไร

สกลธี - ต้องมีสัญชาติไทย มีรายได้น้อยหรือมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือผู้มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ไม่ต้องเสียภาษี, ไม่มีแผงค้าหรือเป็นผู้ช่วยจำหน่ายสินค้าในแผงค้าอื่นในพื้นที่ที่ กทม.กำหนด, ไม่เคยถูกเพิกถอนการทำการค้าในพื้นที่ที่ กทม.กำหนด

ถาม-กรณีหาบเร่-แผงลอย 175 จุด ที่อยู่ในแผนการจัดระเบียบทางเท้าของ กทม.จะดำเนินการต่ออย่างไร

สกลธี - กทม.วาง 3 แนวทางสำหรับดำเนินการในจุดผ่อนผันที่ยังไม่ยกเลิก ดังนี้ 1.หากพื้นที่ใดเป็นไปตามหลักเกณฑ์ให้เสนอคณะกรรมการฯ กทม.กำหนดเป็นพื้นที่ทำการค้า แต่หากขัดกับหลักเกณฑ์ให้ทำการยกเลิก และหาพื้นที่รองรับผู้ค้าที่ได้รับผลกระทบ 2.ผ่อนปรนให้ทำการค้าต่อไปได้อีก 6 เดือน โดยพื้นที่ใดที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของประกาศฯให้เสนอคณะกรรมการฯกำหนดเป็นพื้นที่ทำการค้าต่อไป และให้ผู้ค้าเดิมได้สิทธิทำการค้าก่อน หากมีแผงค้าเหลือให้ผู้ค้ารายใหม่จับสลากเข้าทำการค้า และ 3. ผ่อนปรนให้ทำการค้าอีก 6 เดือน พื้นที่ใดเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของประกาศฯให้กำหนดเป็นพื้นที่ทำการค้า และเปิดโอกาสให้ผู้ค้าที่แจ้งความประสงค์มีสิทธิเท่ากันในการจับสลาก ส่วนพื้นที่ใดขัดกับหลักเกณฑ์ให้ทำการยกเลิก

...

อย่างไรก็ตาม ในการจัดระเบียบทางเท้า กทม.พิจารณาเลือกแนวทางที่เหมาะสมและมีผลกระทบต่อทุกฝ่ายให้น้อยที่สุด โดยยึดประโยชน์สาธารณะโดยรวมเป็นที่ตั้ง.