บทเรียนกรณีกระทะยี่ห้อดังจากเกาหลีตกเป็นข่าวใหญ่ทั่วประเทศ จนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ต้องออกโรงคุ้มครองผู้บริโภคด้วยการสั่งให้หยุดโฆษณา หลังพบว่ามีการโฆษณาเกินจริง
ส่งผลให้แวดวงเครื่องสำอางไทย ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เริ่มตื่นตัวแบบสคบ. ด้วยการออกโรงคุ้มครองผู้ใช้เครื่องสำอางบ้าง
โดยหลังจากที่ไทยลงนามในข้อตกลงปรับกฎเกณฑ์ ระเบียบ ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องสำอางใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับกฎระเบียบของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน และเพื่อเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยให้มีศักยภาพสามารถแข่งขันได้ในระดับสากลรวมทั้งมีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค จึงเป็นที่มาของ
พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2558
กฎหมายแม่ฉบับนี้มีหลายส่วนที่ผู้บริโภคซึ่งใช้เครื่องสำอาง ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะมีหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับชีวิต สุขภาพ เนื้อตัว ร่างกาย รวมทั้งสิทธิอันพึงมีพึงได้ของผู้ซึ่งตกเป็นเหยื่อจากการใช้เครื่องสำอาง
เช่น กำหนดให้ผู้ประกอบการที่ผลิตเครื่องสำอางต้องรายงาน อาการไม่พึงประสงค์ ที่เกิดขึ้นจากการใช้เครื่องสำอาง มี มาตรการเรียกเก็บคืนเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้ จากท้องตลาด กำหนดให้ มีด่านตรวจสอบเครื่องสำอางนำเข้า
มีการ กำหนดอายุใบรับจดแจ้ง ไว้ 3 ปี และ ยังให้อำนาจในการเพิกถอนใบรับจดแจ้งเครื่องสำอาง กรณีที่เป็นเครื่องสำอางที่ผลิต หรือนำเข้าไม่ตรงตามที่ได้จดแจ้ง หรือไม่ปลอดภัย เป็นต้น
นอกจากนี้ กฎหมายยังได้เพิ่มโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนแรงกว่าเดิม เช่น ผู้ใดผลิตเพื่อขาย หรือนำเข้าเพื่อขาย หรือรับจ้างผลิตเครื่องสำอางที่มี สารห้ามใช้ เป็นส่วนผสม ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
...
ผู้ใดขายเครื่องสำอางที่มี สารห้ามใช้ เป็นส่วนผสม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นต้น
มาตรา 41 การโฆษณาเครื่องสำอางต้องไม่ใช้ข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค หรือไม่ใช้ข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม...
ยกตัวอย่าง ข้อความที่ถือว่าไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค หรือ อาจเกิดผลเสียต่อสังคมส่วนรวม
เช่น ข้อความที่เป็นเท็จหรือเกินความจริง, ข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง ไม่ว่าจะกระทำโดยใช้ หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อันไม่เป็นความจริง หรือเกินความจริงหรือไม่ก็ตาม รวมทั้งข้อความที่แสดงสรรพคุณที่เป็นการรักษาโรค หรือที่มิใช่จุดมุ่งหมายเป็นเครื่องสำอาง เป็นต้น
ในเคเบิลทีวี หรือ วิทยุต่างๆ ในส่วนกลาง สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะให้ผู้ประกอบการทำการบันทึกเทปรายการที่ออกอากาศส่งต้นฉบับให้พิจารณา
นอกจากนี้ อย.ยังได้ประสานความร่วมมือกับ กสทช.เขต ให้ดำเนินการกับเคเบิลทีวีและวิทยุในส่วนภูมิภาค ด้วยการส่งเทปให้ อย.พิจารณาว่ามีการใช้ข้อความ หรือถ้อยคำที่เป็นการโฆษณาเกินจริงหรือไม่ ทั้งในส่วนที่เป็นโฆษณาและการพูดในเนื้อรายการ หากพบว่ามีการใช้ข้อความเกินจริง จะมีความผิดทั้งผู้นำเสนอที่เป็น พิธีกรรายการ และ ดารานักแสดง หรือ พรีเซ็นเตอร์ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย เป็นต้น
ในเมื่อทุกวันนี้การโฆษณาเต็มไปด้วยปัญหาที่มากด้วยมายา เล่ห์เหลี่ยม หรือกลยุทธ์ชวนเชื่อ เพื่อล่อลวงให้ผู้บริโภคหลงกลตกเป็นเหยื่อปีละนับไม่ถ้วน
พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2558 จึงได้ล้อมคอกเพื่อสกัดกั้นปัญหาเอาไว้ค่อนข้างละเอียดยิบ ดังสังเกตได้จากคำนิยามต่างๆที่เขียนล้อมคอกเอาไว้แบบครอบจักรวาล
เช่น “เครื่องสำอาง” หมายความว่า วัตถุที่มุ่งหมายสําหรับ ใช้ทา ถู นวด โรย พ่น หยอด ใส่ อบ หรือ กระทําด้วยวิธีอื่นใด กับส่วนภายนอกของร่างกายมนุษย์ และ ให้หมายความรวมถึงการใช้กับฟัน และ เยื่อบุในช่องปาก
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อความสะอาด ความสวยงาม หรือเปลี่ยนแปลงลักษณะที่ปรากฏ หรือระงับกลิ่นกาย หรือปกป้องดูแลส่วนต่างๆนั้นให้อยู่ในสภาพดี และรวมตลอดทั้งเครื่องประทินต่างๆ สําหรับผิวด้วย แต่ไม่รวมถึงเครื่องประดับและเครื่องแต่งตัวซึ่งเป็นอุปกรณ์ภายนอกร่างกาย
(2) วัตถุที่มุ่งหมายสําหรับใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอางโดยเฉพาะ หรือ
(3) วัตถุอื่นที่กำหนดโดยกฎกระทรวงให้เป็นเครื่องสำอาง
“ข้อความ” หมายความรวมถึง การกระทำให้ปรากฏด้วยตัวอักษร ภาพ ภาพยนตร์ แสง เสียง เครื่องหมาย หรือการกระทำอย่างใดๆ ที่ทำให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าใจความหมายได้
“โฆษณา” หมายความว่า การกระทำไม่ว่าโดยวิธีการใดๆให้ประชาชนเห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความเพื่อประโยชน์ในทางการค้า
“สื่อโฆษณา” หมายความว่า สิ่งที่ใช้เป็นสื่อในการโฆษณา เช่น หนังสือพิมพ์ สิ่งพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ โทรศัพท์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือ ป้าย
“ผลิต” หมายความว่า ทำ ผสม เปลี่ยนรูป แปรสภาพ ปรุงแต่ง แบ่งบรรจุ หรือเปลี่ยนภาชนะบรรจุ “ขาย” หมายความว่า จำหน่าย จ่าย แจก หรือแลกเปลี่ยน ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในทางการค้า และให้ความหมายรวมถึงมีไว้เพื่อขายด้วย
...
“สารสำคัญ” หมายความว่า วัตถุที่ใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอางที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา 6 (3) หรือวัตถุที่ทำให้เกิดสรรพคุณตามข้อความที่กล่าวอ้างไว้ในฉลาก หรือตามที่ได้จดแจ้งไว้ต่อผู้รับจดแจ้งตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา 6 (4)
เฉพาะกรณีผ้าอนามัย ซึ่งมีขายในเมืองไทย 2 ชนิด คือ ชนิดที่ใช้ภายนอก กับ ชนิดที่ใช้สอดภายในช่องคลอด แต่เดิมผ้าอนามัยทั้ง 2 ชนิด ถือเป็นเครื่องสำอาง แต่หลังจากที่ พ.ร.บ.เครื่องสำอาง ปี 2558 ใช้บังคับ มีปัญหาตามมาว่า ผ้าอนามัยแบบใช้สอด ยังจะถือว่าเป็นเครื่องสำอางตามกฎหมาย ให้ อย.สามารถติดตามตรวจสอบได้อีกหรือไม่ เพราะรูปแบบการใช้ ไม่ได้อยู่ภายนอกร่างกาย
กระทั่งล่าสุด เพื่อมิให้เกิดช่องว่างในการควบคุมคุณภาพมาตรฐานสุขอนามัยของผลิตภัณฑ์และความปลอดภัยของผู้ใช้ กฎกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้ผ้าอนามัยชนิดสอด ถือเป็นเครื่องสำอางตามคำนิยามในมาตรา 4 (3) ซึ่งระบุไว้แบบครอบจักรวาลว่า วัตถุอื่นที่กำหนดโดยกฎกระทรวง ก็ให้ถือเป็นเครื่องสำอางด้วยเช่นกัน
ได้แต่หวังว่า สารพันปัญหาเครื่องสำอางในไทยคงจะไม่ซ้ำรอย กลายเป็นข่าวใหญ่เหมือนกระทะยี่ห้อดังจากเกาหลี.