12 ปี มาแล้ว นับตั้งแต่ปี 2548 กับการขับเคลื่อนกิจกรรม “ลดเมืองร้อน ด้วยมือเรา” ภายใต้ โครงการโตโยต้าเมืองสีเขียว ซึ่งบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ประเทศไทย จำกัด รวมพลังกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
เป้าหมายหลัก เพื่อให้ความรู้แก่เยาวชนและประชาชนได้ตระหนักถึงมหันตภัยจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งรณรงค์ลดการปล่อยก๊าซดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม และที่สำคัญคือขยายเครือข่ายด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเปิดโอกาสให้โรงเรียนและเทศบาลจากทั่วประเทศจัดทำแผนงานส่งเข้าประกวด เพื่อช่วยสนับสนุนลดภาวะโลกร้อนภายในชุมชนของตนเอง
และในปี 2559 โรงเรียนที่คว้ารางวัลชนะเลิศ จากการประกวดแผนงาน ได้แก่ ร.ร.กันตังพิทยากร จ.ตรัง รองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ ร.ร.วชิรวิทย์ จ.เชียงใหม่ และ รองอันดับ 2 เป็นของ ร.ร.ศรีโคตรบูรณ์ จ.นครพนม
ขณะที่ ประเภทชุมชน รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ชุมชนบ้านม่อนแห้ว อบต.บ้านสาง อ.เมือง จ.พะเยา รองอันดับ 1 ได้แก่ ชุมชนบ้านดอนแยง อบต.หงาว อ.เถิง จ.เชียงราย และ รองอันดับ 2 ได้แก่ ชุมชนบ้านดงมะปินหวาน อบต.ศรีเตี้ย อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน โดยทั้งหมดได้รับโอกาสลัดฟ้าไปดูงานและอบรมกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทีมข่าวสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมคณะไปสังเกตการณ์ด้วย

...
ในการศึกษาดูงานครั้งนี้ จุดหมายหลักอยู่ที่ เมืองนาโงยา ถือเป็นเมืองหลวงของโตโยต้า ซึ่งเยาวชนและชุมชนได้เรียนรู้การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับป่าอย่างสมดุลผ่านกิจกรรมที่หลากหลายใน ป่าโตโยต้า (Forest of Toyota) มีทั้งโซนเรียนรู้ป่าไม้ โซนอนุรักษ์ และโซนการนำมาใช้ประโยชน์ พร้อมชมเมืองจำลองรูปแบบการนำเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาผสมผสานกับการใช้ชีวิตและที่อยู่อาศัยได้อย่างกลมกลืน ภายใต้แนวคิดสังคมคาร์บอนต่ำ รวมทั้งบ้านอัจฉริยะที่กักเก็บพลังงานแสงอาทิตย์มาแปรเป็นพลังงานไฟฟ้าใช้ในบ้าน จากนั้นเดินทางต่อไปยัง สถาบันสิ่งแวดล้อมโตโยต้าชิราคาว-โก สถาบันการเรียนรู้การอยู่ร่วมกับธรรมชาติ นอกจากนี้ผู้ชนะโครงการยังได้นำเสนอผลงานให้ตัวแทนจากบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ก่อนที่จะเข้าชมวิวัฒนาการของรถยนต์ไฮบริค และการพัฒนาของรถยนต์อีโก้คาร์ ภายใน โตโยต้า ไคคัง มิวเซียม
นายฮิเดโอะ ฟูจีอิ ผู้จัดการโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า “บริษัทต้องการความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ในทุกประเทศ โดยเฉพาะเยาวชนที่จะเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้าได้ตระหนักถึงปัญหาโลกร้อนและมลภาวะที่เป็นพิษ การที่เยาวชนไทยได้มาดูงานและพรีเซนต์โครงการ ทำให้ได้เห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อม และได้เรียนรู้กิจกรรมต่างๆ เพื่อนำประสบการณ์ที่ดีกลับไปขยายผลที่เมืองไทย”

สำหรับประสบการณ์การทัวร์ด้านสิ่งแวดล้อมที่ญี่ปุ่นทริปนี้ นายอิทธิ อินทร์อ่อง นักเรียน ม.5 ตัวแทน ร.ร.กันตังพิทยากร ซึ่งคว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดโครงการลดเมืองร้อนด้วยมือเรา เปิดเผยว่า “โครงการที่เราทำเน้นเรื่องการดูดซับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยหาวิธีการบวกกับภูมิปัญญาใช้กิจกรรมลดขยะ ลดการใช้ไฟฟ้าและพลังงาน เพิ่มพื้นที่สีเขียว อนุรักษ์น้ำ เริ่มรณรงค์ในโรงเรียน ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดี สำหรับการเดินทางมาศึกษาดูงาน สิ่งแวดล้อมที่ญี่ปุ่นครั้งนี้ ได้เห็นบ้านเมืองญี่ปุ่นมีการจัดการอย่างเป็นระบบและเน้นปลูกต้นไม้มาก หากบ้านเราเอาจริงเอาจังกับการปลูกต้นไม้ อนุรักษ์พลังงาน จัดระบบขยะที่ดี คิดว่าทำได้แน่นอน ที่สำคัญ จะนำความรู้ที่ได้รับไปสร้างศูนย์เรียนรู้เผยแพร่แนวทางการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงานให้นักเรียนและชุมชนต่อไป”
ขณะที่ นายวีระทัศน์ ไชยวุฒิ นายกชุมชนบ้านม่อนแก้ว เจ้าของแชมป์ประเภทชุมชน เป็นตัวแทนทีมเล่าว่า “ปัญหาขยะและลักลอบตัดไม้ เป็นโจทย์ที่ชุมชนร่วมกันคิดโครงการลดโลกร้อน ด้วยวิถีพอเพียง เพื่อ สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน โดยใช้กิจกรรม 3 ลด 3 เพิ่ม เป็นแนวทางดำเนินงาน ได้แก่ ลดเมืองร้อนด้วยการลดขยะ โดยลดการใช้จากต้นทาง ปฏิเสธรับถุงจากร้านค้า ทำบุญตักบาตรด้วยถ้วยชามแทนถุงพลาสติกและคัดแยกขยะจากครัวเรือน ลดเมืองร้อนด้วยการลดใช้ไฟฟ้า ลดเมืองร้อนด้วยการเดินทางอย่างยั่งยืน ปรับการเดินทาง เช่น การเดิน ปั่นจักรยาน หรือทางเดียวกันไปด้วยกัน ส่วนกิจกรรม 3 เพิ่ม ได้แก่ เพิ่มพื้นที่สีเขียว เพิ่มการอนุรักษ์น้ำ และเพิ่มการใช้ชีวิตที่สอดคล้องกับภูมิปัญญา ในอนาคต จะขับเคลื่อนโครงการให้เกิดความยั่งยืน ด้วยการปลูกฝังจิตสำนึกให้เยาวชนและคนในชุมชนดูแลป่าชุมชน ป่ามิยาวาอิ ป่าม่อนเห็ด ให้เกิดความสมดุลและให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ทางธรรมชาติ”
...
“เด็กๆ และผู้นำชุมชนจะได้นำความรู้จากการศึกษาดูงานไปขยายผลและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในชุมชนให้เติบโตมากขึ้น เพื่ออยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างกลมกลืน” จุดประสงค์หลักของบริษัทโตโยต้า ที่ นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานคณะกรรมการบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวย้ำถึงการขับเคลื่อนโครงการ “ลดเมืองร้อน ด้วยมือเรา” ต่อไป
ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม มองว่า การปลูกฝังให้คนไทยได้คำนึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องดี และน่าสนับสนุน ซึ่งควรต้องทำอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
แต่สิ่งที่เราอดห่วงไม่ได้ ก็คือ หากในที่สุด ความตั้งใจในการสานต่อโครงการไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ก็คงเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ที่ทุกอย่างจบลงด้วยความสูญเปล่า.
ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม