ในแต่ละปีมีจำนวนผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุจากงูพิษกัดเป็นจำนวนมาก และหนึ่งในปัญหาสำคัญที่ส่งผลต่อการช่วยชีวิตผู้ป่วยที่ถูกงูพิษกัด คือการขาดแคลนเซรุ่มงูพิษ เพราะการให้เซรุ่มแก่ผู้ถูกงูพิษกัดจะต้องเป็นเซรุ่มงูพิษที่ตรงกับสายพันธุ์งู ที่กัดด้วย สยาม เซอร์เพนทาเรียม-พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้เรื่องงู จึงได้จัดโครงการนำเข้าเซรุ่มงูพิษ สายพันธุ์ต่างประเทศ เพื่อใช้ในการรักษาผู้ที่โดนพิษงูสายพันธุ์ต่างประเทศเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งนำร่องโครงการด้วยการส่งมอบ ให้กับสถานเสาวภา และโรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 เพื่อนำไปใช้รักษาผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากงูในกรณีฉุกเฉิน และพร้อมกันนี้ก็ได้เชิญ 2 นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญซึ่งมีผลงานด้านการวิจัยและการรักษาผู้ที่โดนพิษงู จนได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ได้แก่ รศ.ดร.สกอตต์ เอ ไวน์สตีนน์ และ ดร.อาหมัด คาลดุล อิสมาอิล มาให้คำแนะนำบุคลากรทางการแพทย์ของไทยด้วย

รศ.ดร.สกอตต์ กล่าวว่า งูเป็นสิ่งมีชีวิตที่มักจะซ่อนตัวอยู่อย่างเงียบๆ และไม่ค่อยใช้พื้นที่เดียว กันกับมนุษย์ แต่โอกาสที่วิถีชีวิตของมนุษย์และงูจะมาเชื่อมกันได้นั้นขึ้นอยู่กับภูมิประเทศที่อาศัย สภาพแวดล้อม และชนิดของงู เช่น คนเมือง จะมีโอกาสถูกงูกัดน้อยกว่าคนในชนบท ปัญหาสำคัญคือประเทศที่มีปัญหางูพิษกัดมากที่สุด เป็นประเทศที่ขาดแคลนเซรุ่มสำหรับใช้รักษา ดังนั้นบางประเทศการถูกงูพิษกัดจึงเป็นปัญหาที่ร้ายแรงมาก เช่นในเมียนมา ศรีลังกา แอฟริกา ฯลฯ ขณะที่ ดร.อาหมัด ได้ให้คำแนะนำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับผู้ที่ถูกงูพิษกัดว่า คนส่วนใหญ่เมื่อถูกงูพิษกัดจะกลัวและตกใจ บางคนมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น หน้ามืด เป็นลม ใจสั่น หายใจไม่ออก เหงื่อออก ปวดท้อง หรือช็อกได้ อาการต่างๆ เหล่านี้อาจเกิดจากความกลัว หรือเป็นผลจากสารคัดหลั่งต่างๆ ที่อยู่ในพิษงู ดังนั้น เมื่อโดนงูกัดจึงควรควบคุมสติ และให้รีบทำความสะอาดแผลที่ถูกงูกัดด้วยยาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ หรือ ทิงเจอร์ไอโอดีน ไม่ควรนำเอาสมุนไพรใดๆ มาใส่แผล เพราะจะยิ่งทำให้แผลสกปรก อาจเกิดการติดเชื้อ หรือเป็นบาดทะยักได้ และอวัยวะของร่างกายที่ถูกงูกัด เช่น ขาหรือแขน ควรจะเคลื่อนไหวให้น้อยที่สุด สามารถนำไม้กระดานหรือกระดาษแข็งๆ มารองหรือดามไว้ ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่า ได้ผลดีพอๆ กับการขันชะเนาะแน่น ถ้าจะขันชะเนาะต้องใช้ผ้า โดยรัดเหนือตำแหน่งที่ถูกงูกัด ให้แน่นพอที่จะใช้นิ้วมือ 1 นิ้ว สอดระหว่างผ้ากับผิวหนังที่รัดได้ จุดมุ่งหมายของการรัดแบบนี้เพื่อบังคับให้ส่วนที่ถูกกัดเคลื่อนไหวน้อยที่สุด และถ้าเป็นไปได้ให้นำเอาซากงูที่กัดไปด้วย เพื่อที่แพทย์จะได้รู้ว่าเป็นงูชนิดใด จะได้วิเคราะห์และวางแผนการรักษาได้ถูกต้อง ทันเวลา

...

สำหรับพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้เรื่องงูหนึ่งเดียวในเมืองไทย “สยาม เซอร์เพนทาเรียม” นอกจากจะจัดแสดงงูหลากหลายสายพันธุ์ ยังเป็นศูนย์การเรียนรู้ในรูปของนิทรรศการมัลติมีเดีย และนิทรรศการเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยที่ถูกงูพิษกัดอีกด้วย ผู้สนใจเข้าชมได้ที่เว็บไซต์ www.siamserpentarium.com  หรือโทร. 0-2326-5800.