“เมื่อก่อนปลูกข้าวหอมมะลิ แต่ระยะหลังราคาเริ่มถูกลงเรื่อยๆ หากยังทำเหมือนเดิมคงไม่ต่างอะไรกับลูกจ้างโรงสี เพราะหักต้นทุน ค่าแรง การจัดการแทบไม่เหลืออะไร ครั้นจะเลิกทำนาต้องไปซื้อข้าวคนอื่นกิน ในเมื่อยังไงต้องปลูกข้าวไว้กินเอง เลยมาคิดใหม่ต้องทำนาในแบบครบวงจร ปลูกเอง แปรรูปเอง ขายเอง ไม่ใช่ขายเป็นข้าวเปลือกให้โรงสี”

ด้วยแนวคิดนี้ เชาวลิต พระชนะ เกษตรกรควบตำแหน่งบุรุษพยาบาล รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบลสีสุก อ.จักราช จ.นครราชสีมา จึงค้นหาวิธีปลูกข้าวแบบครบวงจร...จำได้ว่าสมัยคุณแม่ยังสาว ที่บ้านทำหมี่จักราชขาย แต่เดี๋ยวนี้หากินได้ยาก เพราะส่วนใหญ่จะใช้เส้นก๋วยเตี๋ยว รสชาติความหอมไม่เหมือนหมี่จักราชแท้ๆที่ทำมาจากข้าวพันธุ์เหลืองประทิว ภูมิปัญญาแปรรูปในครอบครัวมีพร้อม ตัดสินใจปลูกข้าวเหลืองประทิวแทนหอมมะลิ

...

“เราปลูกข้าวไว้กินเอง เลยทำนาแบบปลอดพิษ เอาต้นขี้เหล็ก ไม้โตไวมาปลูกบริเวณรอบนอกไว้เป็นแนวป้องกันละอองสารเคมีจากนาเพื่อนบ้านที่อาจถูกลมพัดเข้ามา แถวด้านในถัดมาลงหญ้าแฝกไว้คอยดูดซับสารเคมีจากที่อื่นๆที่ไหลเข้ามาในนา”

ส่วนการทำเส้นหมี่จักราช เชาวลิต บอกว่า หลังนำข้าวเปลือกไปสีเป็นข้าวสารนำมาแช่น้ำ 4 ชม. เอามาล้างด้วยน้ำเปล่า 5 ครั้ง เพื่อกำจัดกลิ่นอับ จากนั้นนำไปโม่น้ำให้เป็นแป้งเหลวๆ แล้วนำมาละเลงให้เป็นแผ่นบางๆแบบเดียวกับทำขนมปากหม้อ ได้เป็นแผ่นนำวางบนแผงไม้ไผ่ผึ่งแดดให้หมาดๆ ใช้น้ำมันพืชทาเพื่อไม่ให้แผ่นแป้งติดกัน จากนั้น เอาผ้าชุบน้ำห่อไว้ 2 ชม. แล้วถึงจะนำมาตัดให้เป็นเส้น จับให้เป็นมัด ผึ่งแดด 12 ชม. เป็นอันเสร็จขั้นตอน พร้อมใส่ถุงใส่กล่องเตรียมจำหน่าย

ข้าวสารเหลืองประทิว 10 กก. ราคา 200 บาท แปรรูปเป็นหมี่จักราชได้ 500 มัด มัดละ 5 บาท รวมแล้ว 2,500 บาท...

ดีกว่าปลูกข้าวหอมมะลิขายเป็นข้าวเปลือกที่ได้แค่ กก.ละ 8 บาท ในขณะที่ข้าวเปลือกเหลืองประทิว 1 กก. แปรรูปเป็นหมี่จักราชขายได้ 125 บาท เพิ่มมูลค่าได้ถึง 15 เท่าตัว...สนใจสอบถามได้ที่ 09-9861-6984.

เพ็ญพิชญา เตียว