ตัวอย่างชิ้นงานขึ้นรูป.

ปตท.ทำเริ่ด วิจัยนำเปลือกกาแฟมาทำพลาสติกชีวภาพ ย่อยสลายง่าย รับกฎกติกาใหม่สหภาพยุโรป 2563 บรรจุภัณฑ์ส่งออก ต้องรักษ์โลก

ดร.นรินทร์ กาบบัวทอง หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยพอลิเมอร์และวัสดุขั้นสูง สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เผยว่า ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปได้ส่งสัญญาณ ปี 2563 (ค.ศ.2020) จะเพิ่มกฎข้อบังคับเรื่องบรรจุภัณฑ์สินค้านำเข้าอียู จะต้องมีส่วนผสมคาร์บอนจากธรรมชาติ 50 เปอร์เซ็นต์ ที่ย่อยสลายง่าย ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และด้วย ปตท.มีธุรกิจร้านกาแฟ แต่ละปีต้องใช้เมล็ดกาแฟ 100 ตัน โดยรับซื้อมาจากเกษตรกรในโครงการ เพื่อนำมาผ่านกระบวนการคั่วให้ได้คุณภาพตามที่ต้องการ และหลังจากคั่วเสร็จจะมีเปลือกชั้นกลางที่หลุดล่อนออกมาปีละ 10 ตัน ซึ่งขยะส่วนนี้ ปตท.ต้องจ้างบริษัทที่รับกำจัดโดยตรง เพื่อนำไปกำจัดด้วยการทำปุ๋ย บางส่วนเผาทิ้ง

“จากพฤติกรรมคนในสังคมบ้านเรา มีแนวโน้มดื่มกาแฟมากขึ้น และการวิเคราะห์ในส่วนของการผลิตของบริษัทที่กำลังดำเนินการอยู่ คาดว่าปี 2561 จะมีความต้องการดื่มกาแฟเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว ส่งผลให้ความต้องการใช้เมล็ดกาแฟเพิ่มเป็นปีละ 400 ตัน และมีขยะเปลือกกาแฟเหลือจากกระบวนการผลิตปีละ 40 ตัน ถ้านำไปกำจัดทิ้งจะกลายเป็นปัญหามลภาวะสิ่งแวดล้อม”

...

สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. จึงเริ่มศึกษาการนำเปลือกเมล็ดกาแฟมาทำฟิลเลอร์ผสมกับเม็ดพลาสติก โดยนำเปลือกที่ได้จากการคั่วเมล็ดกาแฟมาล้างให้สะอาด ไปอบให้ความชื้นเหลือไม่เกิน 15 เปอร์เซ็นต์ จากนั้นบดให้ละเอียดนำไปผสมกับเม็ดพลาสติกอัตราส่วน 50 ต่อ 50 แล้วนำไปผ่านกระบวนการอัดเม็ดอีกครั้ง รอการนำไปฉีดขึ้นรูปเป็นวัสดุต่างๆตามที่ต้องการ

ดร.นรินทร์ บอกว่า วัสดุที่ได้จากฟิลเลอร์เปลือกกาแฟ ช่วยลดปริมาณการใช้เม็ดพลาสติกได้ถึง 50% พร้อมทั้งจะจำหน่ายเป็นวัตถุดิบให้กับอุตสาหกรรมผลิตบรรจุภัณฑ์ โดยพลาสติกชีวภาพจากเปลือกกาแฟจะมีคุณสมบัติพิเศษ ชิ้นงานที่ออกมายังมีกลิ่นหอมของกาแฟ คุณสมบัติการใช้งานแข็งแรงทนทาน ใช้เวลาย่อยสลายในธรรมชาติ 3-5 ปี.