“ดูแล้วน่าเป็นห่วงนะครับ... ในสัปดาห์ก่อน ป่วย (โควิด–19) ไปรักษาที่โรงพยาบาลกว่าแสนคน ราว 5,100 คน ที่ต้องนอนรักษาที่โรงพยาบาล โดยครึ่งหนึ่งเป็นเด็กเล็ก 0–4 ปี และกลุ่มสูงอายุ...ในกลุ่มผู้ป่วยใน เสียชีวิตไป 12 ราย...
การควบคุมป้องกันโรคนั้นสำคัญมาก เพราะหากไม่มีประสิทธิภาพ ก็ย่อมส่งผลให้คนป่วยจำนวนมาก กระทบทั้งสุขภาพ เศรษฐกิจ และชีวิตของคนและครอบครัว”
ข้างต้นนี้ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ โพสต์ไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัว “Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)” ตอกย้ำเตือนให้ระวังตัวการ์ดอย่าตก ไว้เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
วัยรุ่น...วัยทำงานติดจากคอนเสิร์ต แฟนมีต และปาร์ตี้สังสรรค์กันเยอะมาก มีติดกันจากกลุ่มเพื่อนในคลาสและออฟฟิศกันก็เยอะ...สูงอายุติดจากคนในบ้านกันส่วนใหญ่ ยิ่งผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยที่ไม่ใส่หน้ากากป้องกันตัว ยิ่งเสี่ยงรับเชื้อมากขึ้น

เด็กเล็กติดจากพ่อแม่หรือคนในบ้านที่เลี้ยงดู หรือมาคลุกคลีเล่นด้วย...เด็กโตติดจากโรงเรียนกันส่วนใหญ่
ย้ำว่า...การติดเชื้อไม่ใช่เรื่องปกติ แต่ป้องกันได้ อาศัยความใส่ใจสุขภาพของตนเองและจากแรงกระตุ้นเตือนของคนรอบข้าง ติดแต่ละครั้งทำให้เสียสุขภาพ เสียเวลา เสียเงิน เสียโอกาสต่างๆรวมถึงภาวะผิดปกติระยะยาวที่บั่นทอนคุณภาพชีวิต ยิ่งหากสูญเสียชีวิตนอกจากทำให้ครอบครัวเสียใจมีภาระต่างๆตามมาระยะยาว
...
ตื่นรู้ รู้เท่าทันสถานการณ์ ไม่ควรเชื่อคำแนะนำให้ละเลยเพิกเฉยจนจมอยู่กับ “ประจำถิ่น”...“ไม่รุนแรง”...“ติดแล้วไม่ต้องแยกตัว” เพราะจะนำไปสู่ความเสี่ยงต่อตัวเรา ครอบครัว และหายนะ
สายพันธุ์ของโควิด-19 ที่ระบาดในประเทศไทย ตั้งแต่ช่วงเมษายน-พฤษภาคม 2568 จากฐานข้อมูล GISAID ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า NB.1.8.1 หรือ Nimbus เป็นตัวหลักในการระบาดเวฟนี้ที่เรากำลังเผชิญอยู่
“จึงไม่แปลกใจว่าการระบาดนี้แพร่ไปอย่างรวดเร็วในวงกว้าง ท่ามกลางสภาพสังคมที่มีคนจำนวนมากไม่ได้ป้องกันตัวอย่างเพียงพอ” รศ.นพ.ธีระ ว่า

พลิกแฟ้มข้อมูลก่อนหน้านี้ไม่นานนัก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังคงให้ความสำคัญกับการติดตามสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งรวมถึงสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวังอย่าง JN.1 และสายพันธุ์ที่ต้องจับตามองอีก 6 สายพันธุ์ ได้แก่ KP.3, KP.3.1.1, LB.1, XEC, LP.8.1 และ NB.1.8.1
ทั้งนี้ สัดส่วนของสายพันธุ์โอมิครอนทั่วโลก อ้างอิงข้อมูลจากฐานข้อมูลกลาง GISAID ระหว่าง 31 มี.ค.–27 เม.ย.2568 พบว่า LP.8.1 มีสัดส่วนสูงที่สุดในสัปดาห์ที่ 14 (42.0%) แต่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องจนถึงสัปดาห์ที่ 17 (39.0%)
NB.1.8.1 มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ 14 (2.5%) จนถึงสัปดาห์ที่ 17 (10.7%)
XEC มีสัดส่วนลดลงเล็กน้อยจากสัปดาห์ที่ 14 (22.3%) จนถึงสัปดาห์ที่ 17 (17.8%)
“NB.1.8.1” เป็นสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน มีต้นกำเนิดมาจากสายพันธุ์ลูกผสม XDV.1.5.1 โดยพบครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2568 ปัจจุบัน NB.1.8.1 พบใน 22 ประเทศทั่วโลก จำนวนลำดับพันธุกรรมที่พบ 518 ราย ยังน้อยกว่าสายพันธุ์อื่นๆอย่างมาก
แต่..สิ่งที่น่าสนใจคือสัดส่วนของ NB.1.8.1 เพิ่มขึ้น

อย่างต่อเนื่องตลอด 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา บ่งชี้ว่าสายพันธุ์นี้กำลังแพร่หลายมากขึ้น และเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้ “NB.1.8.1” เป็นสายพันธุ์ที่ต้องจับตามอง
แล้วสิ่งที่ทำให้ NB.1.8.1 น่าจับตาคือมีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งโปรตีนหนามหลายจุดที่เพิ่มเติมจากสายพันธุ์ JN.1
รวม 7 ตำแหน่ง ได้แก่ S:T22N, S:F59S, S:G184S, S:A435S, S:F456L, S:T478I, S:Q493E ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการแพร่กระจายและหลบหลีกภูมิคุ้มกัน
...
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีข้อมูลว่า NB.1.8.1 อาจจะแพร่กระจายได้ง่ายขึ้น และหลบภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้น แต่ยังไม่มีหลักฐานว่าทำให้เกิดโรครุนแรงมากขึ้น
วิวัฒนาการของไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์โอมิครอน มีการกลายพันธุ์และแตกแขนงออกเป็นสายพันธุ์ย่อยมากมาย ซึ่งแต่ละสายพันธุ์ย่อยก็มีการกลายพันธุ์เพิ่มเติมอีก การติดตามการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มีความสำคัญในการทำความเข้าใจพฤติกรรมของไวรัส และพัฒนากลยุทธ์ในการรับมือกับการระบาด

รศ.นพ.ธีระ บอกอีกว่า การแพทย์แผนปัจจุบันนั้น มีแนวทางการดูแลรักษาและการป้องกันที่เป็นมาตรฐานสำหรับโรคต่างๆ โดยผ่านการศึกษาวิจัยตามขั้นตอน ให้ทราบถึงสรรพคุณและความปลอดภัย มีหลักฐานวิชาการเชิงประจักษ์ที่พิสูจน์ได้ และเป็นที่ยอมรับของวงการวิชาชีพ
ดังนั้น...ประชาชนจึงไม่ควรหลงเชื่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ การปั่นข่าวลวง ทั้งที่มาจากความเชื่องมงาย กิเลส รวมถึงที่หวังผลเชิงพาณิชย์ ข่าวลวงและโฆษณาเหล่านั้นมักเล่นกับความกลัวและล่อให้ติดกับที่วางไว้ อาทิ ทำให้กลัววัคซีน กลัวยา กลัววิธีรักษามาตรฐาน
“เรามีบทเรียนมากมายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งเรื่องกัญชา กระท่อม ยาสมุนไพรผีบอก ยาฆ่าพยาธิ บริการล้างพิษ จึงไม่ควรเชื่อโฆษณาหรือข่าวลวงเหล่านั้น ซึ่งปัจจุบันขยายไปทุกหัวระแหง ครอบคลุมโรคต่างๆมากมาย ทั้งโควิด-19 มะเร็ง สมองเสื่อม โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันสูง ไขมันสูง ต้อหินต้อกระจก ฯลฯ”
...
ย้ำ...ไม่ควรเชื่อโฆษณาทางโซเชียลที่มีลักษณะข้างต้น ขอให้มีสติ มีต่อมเอ๊ะ และสอบถามจากแพทย์ที่มีมาตรฐานทางวิชาชีพ เพื่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของตัวเรา ครอบครัวและสังคมครับ...“การมีสติ ไม่ประมาท รู้จักระมัดระวังตัว เป็นสิ่งจำเป็น”.
คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม