นับตั้งแต่เกิดข้อขัดแย้ง “ไทย-กัมพูชาเหนือปราสาทเขาพระวิหาร” ได้สร้างรอยร้าวตลอดแนวพรมแดนบนเทือกเขาพนมดงรัก “ทหาร 2 ฝ่ายต่างประจำการ” รักษาสิทธิในดินแดนพิพาทอย่างเข้มงวด
ด้วยเหตุจากกัมพูชาพยายามอ้างสิทธิครอบครองโบราณสถานอื่นอีกหลายแห่ง ซึ่งมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบขอม อ้างให้เชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์กับอาณาจักรขอมโบราณที่เคยมีอิทธิพลครอบคลุมพื้นที่บางส่วนในอดีต สร้างความกังวลอย่างหนักให้ฝ่ายไทยในมิติอธิปไตย ความมั่นคง และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
เพราะอาจไม่ใช่เพียงแค่ “การอ้างสิทธิเหนือโบราณสถาน” แต่เป็นการปูทางสู่การขยายขอบเขตในการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนเพิ่มเติมในอนาคต ทำให้ตามชายแดนไทย-กัมพูชาตึงเครียดตั้งแต่ปราสาทตาเมือนธม จ.สุรินทร์ จนถึงช่องอานม้า ช่องบก จ.อุบลราชธานี “กัมพูชา” สร้างฐานขุดคูเลตสนามพร้อมเสริมกำลังเกือบร้อยนาย
ทว่าประเด็นเรื่องโบราณสถาน และเขตแดนในปัจจุบัน กลับสวนทางขัดแย้งในเจตนารมณ์เดิมของการสร้างศาสนสถานที่มีเป้าหมาย เพื่อเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรม ส่งเสริมความศรัทธา ปลูกฝังคุณธรรมแก่คนในสังคมอดีต โดย ผศ.ดร.กังวล คัชชิมา อาจารย์ภาควิชาภาษา ตะวันออก คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ให้ข้อมูลว่า

...
ปราสาทโบราณที่พบตามชายแดนไทย-กัมพูชามักถูกสร้างจากหิน ใช้เป็นศาสนสถานการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา มีบทบาทคล้ายวัดในปัจจุบัน เป็นศูนย์กลางศาสนา ชุมชน และที่พึ่งทางจิตใจของผู้คนในอดีต
หากย้อนกลับไปในสมัยโบราณ “วัฒนธรรมของผู้คนในเอเชียอาคเนย์” มีความหลากหลายแตกต่างกันไปตามบริบทของพื้นที่ “ตามระดับความเข้มข้นของความเชื่อ” ส่วนใหญ่ผู้คนในภูมิภาคแห่งนี้มักนับถือ เทวดา ฟ้าดิน หรือสิ่งเร้นลับเหนือธรรมชาติ สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่ผูกพันกับธรรมชาติ และจิตวิญญาณ
ในยุคแรกเริ่ม “ยังไม่มีสิ่งปลูกสร้างทางวัฒนธรรมเป็นรูปธรรมชัดเจน” เหมือนอย่างวัด หรือศาสนสถานขนาดใหญ่ แต่จะปรากฏในรูปแบบของพิธีกรรม ความเชื่อท้องถิ่น และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ตามธรรมชาติ
กระทั่งเมื่อ 1,500 ปีที่แล้ว “อิทธิพลวัฒนธรรมอินเดียแพร่เข้ามา” ทำให้เริ่มมีการก่อสร้างอาคารศาสนสถานรูปทรงปราสาทหรือเทวาลัย ใช้เป็นสถานที่บูชาสักการะแด่พระศิวะอันเป็นส่วนหนึ่งศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

การสร้างอาคารทรงปราสาทก็มาจากคติความเชื่อว่า “ทวยเทพทั้งหลายที่สถิตอยู่ ณ เขาพระสุเมรุ” อันเป็นแกนกลางของจักรวาลอยู่บนสวรรค์ จึงเปรียบเสมือนการจำลองเขาพระสุเมรุมายังโลกมนุษย์ “เพื่อเป็นที่สถิตทวยเทพ” ทั้งมีการสร้างรูปของทวยเทพขึ้นไว้ภายในตัวปราสาทมีสัญลักษณ์แตกต่างกันออกไป
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ “ปราสาทเขาพระวิหาร” ตั้งอยู่บนสันเขาพนมดงรักมักปกคลุมด้วยหมอกช่วงเช้าบรรยากาศคล้ายชั้นสวรรค์จำลองทรงวิมานเป็นที่สถิตของทวยเทพ เพื่อให้เทพลงมาประดิษฐานในโลกมนุษย์
ขณะเดียวกันก็ปรากฏร่องรอย “ศาสนสถานทางพุทธศาสนา” ที่มีลักษณะสถาปัตยกรรมคล้ายคลึงกันด้วย สะท้อนภาพการผสมผสานปรับเปลี่ยนความเชื่อในสังคมยุคโบราณดินแดนแถบนี้ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ

ในช่วงเวลานั้น “ไม่มีการขีดเส้นแบ่งพรมแดนเป็นรัฐชาติเฉกเช่นปัจจุบัน” ผู้คนต่างไปมาหาสู่อาศัยอยู่ร่วมกัน ถูกจัดระเบียบทางสังคมด้วยการยึดโยงกับอำนาจของเมือง หรือศูนย์กลางอำนาจท้องถิ่นเป็นหลัก
พอผ่านมาอีกยุค “เมืองใดมีความเข้มแข็งก็อาจประกาศตนเป็นอิสระ” เมื่อมีอำนาจเหนือเมือง หรือชุมชนใกล้เคียงก็อาจยกกำลังเข้าโจมตีเมืองที่อ่อนแอกว่า โดยเฉพาะในยุคเขมรโบราณมีการขยายอำนาจออกไปอย่างกว้างขวางในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ และเกณฑ์ผู้คนเข้ามาเป็นพลเมืองในดินแดนของตนเอง
อย่างไรก็ดี แม้ “มีการต่อสู้แย่งชิงอำนาจ” แต่ก็ไม่มีการทำลายศาสนสถาน เทวาลัย หรือสถานที่ที่มีความเชื่อร่วมกันยังคงได้รับการดูแลต่อเนื่อง แม้เจ้าผู้ครองเมืองจะเปลี่ยนแปลงไปก็ตาม หรือผู้คนถูกเกณฑ์มา จะอยู่ต่างกลุ่ม ต่างเมือง หรืออยู่ภายใต้อำนาจที่เปลี่ยนแปลง แต่ศาสนสถานยังเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงวิถีชีวิตของคนเข้าด้วยกัน
...

ย้ำสมัยนั้นศาสนสถานอย่างปราสาท เทวาลัย หรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ “มักไม่มีความสำคัญกับชาวบ้าน” เสมือนเป็นสิ่งก่อสร้างสำหรับประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเท่านั้น “ยิ่งเมื่อครั้งศาสนาพุทธ” ได้เริ่มแพร่ขยายอิทธิพลเข้ามาความเชื่อ และแนวคิดทางศาสนาในหมู่ประชาชนเริ่มเปลี่ยนแปลงไป
เหตุนี้ศาสนสถานถูกสร้างตามแนวคิด “ศาสนาฮินดู” ก็เริ่มถูกละเลยไม่ได้รับความสำคัญเช่นเดิม สถาปัตยกรรมอันวิจิตรอลังการที่สะท้อนแนวคิดจักรวาลฮินดูกลายเป็นเพียงโบราณสถานซากปรักหักพังที่หลงเหลืออยู่ในประวัติศาสตร์ ขณะที่ศูนย์กลางศาสนาในชุมชนเปลี่ยนไปสู่การก่อสร้างวัดในแบบพุทธศาสนาแทน
แต่ประเด็นที่ตระหนักเห็นถึง “ศาสนสถานมีความสำคัญต่อมนุษยชาติ” เริ่มปรากฏชัดเจนเมื่อคราวชาติตะวันตกเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ผ่านการค้าขาย การล่าอาณานิคม และการแลกเปลี่ยนทางอารยธรรม ทำให้มีความสนใจต่อสถาปัตยกรรมแบบปราสาทหินที่กระจายตัวอยู่ในดินแดนแห่งนี้

...
แล้วก็จัดทำแผนที่ การศึกษาโครงสร้างสถาปัตยกรรม และจดบันทึกทางประวัติศาสตร์ไว้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ “ความเปลี่ยนแปลงด้านเขตแดนในภูมิภาค” โดยเฉพาะช่วง 160 ปีก่อนอิทธิพลของชาติตะวันตกเข้ามากำหนดเส้นแบ่งเขตแดนแบบถาวร “สร้างค่านิยมให้ศาสนสถาน” จนเริ่มมีคุณค่าเป็นสมบัติทางวัฒนธรรม
“การกำหนดเส้นเขตแดนนี้ทำให้ศาสนสถานที่เคยเป็นสมบัติร่วมทางวัฒนธรรมของผู้คนในภูมิภาคเดียวกันกลับกลายเป็นพื้นที่ข้อพิพาททางอธิปไตย โดยเฉพาะสถานที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์การท่องเที่ยวในพื้นที่เขตแดนไม่ชัดเจนตามแนวชายแดน เป็นจุดเปราะบางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในยุคสมัยใหม่” ผศ.ดร.กังวล ว่า
จริงๆแล้ว “ศาสนสถาน หรือปราสาทหินโบราณกระจายตัวอยู่ทั่วภูมิภาคแห่งนี้” ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อแบ่งแยกพรมแดน หรือสร้างความขัดแย้ง หากแต่เป็นพื้นที่ที่เปิดให้ผู้คนมีความเลื่อมใสในศาสนาจากหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ได้เข้ามาใช้ร่วมกัน ในฐานะศูนย์กลางของศาสนา ชุมชน และความสงบทางใจนั้น

ทำหน้าที่เสมือน “ศูนย์รวมใจของชุมชนในอดีต” ทั้งชนพื้นถิ่น ชนกลุ่มน้อย หรือผู้คนจากเมืองต่างวัฒนธรรมอาศัยใกล้กันก็เข้ามาทำพิธีกรรม สักการะขอพรร่วมกัน โดยปราศจากการแบ่งแยกอัตลักษณ์ หรือเขตแดน
...
ฉะนั้นปราสาทหินโบราณควรถูกมองเป็นพื้นที่วัฒนธรรมร่วม สะท้อนถึงการอยู่ร่วมกันผู้คนต่างชาติพันธุ์ และความเชื่อไม่ใช่เครื่องมือทางการเมืองเพื่อเรียกร้องอำนาจหรือความชอบธรรมเหนือผู้อื่น.
คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม