เกิดมาจนอายุแปดสิบปี ผมเฉียดๆคุกหลายครั้ง อายุ 17 เป็นลูกเรืออวนลาก เจอข้อหาลักลอบจับสัตว์น้ำที่เกาะลันตา กระบี่ อายุ 20 เป็นทหารเรือ ตอนนั้นฝันจะเป็นนักเขียน อยากได้ประสบการณ์คุก ก็ร่ำๆหาเรื่องเข้าคุกสมอแดงสักครั้ง

ตอนมาเป็นนักข่าว ก็เฉียดๆครั้งแรก ครั้งที่สองเจอของจริง ศาลรอลงอาญาสองปี ก็ยังไม่ได้เข้าคุกจริงๆสักที

ความฝังใจข้อนี้...ผมจึงอ่านเรื่องคุกทุกครั้งที่เจอในหนังสือ ใน (เกร็ดภาษาหนังสือไทย ฉบับปรับปรุง สถาพรบุ๊คส์ พิมพ์ครั้งที่ 9 พ.ย.2560) ส.พลายน้อย อ้างพจนานุกรม ให้ความหมายคำว่า “คุก” ไว้ว่า ที่ขังนักโทษ

พูดถึงคุกแล้วมักแถมคำ “ตะราง” ซึ่งมีความหมายถึง ที่คุมขังนักโทษเรือนจำ ฟังแล้วทั้งคุกทั้งตะรางมีความหมายคล้ายกัน แต่หากตามความหมายของกรมราชทัณฑ์ คำว่า “คุก” และ “ตะราง” มีความหมายต่างกัน

คุก หมายถึงที่คุมขังนักโทษ ที่มีกำหนดต้องโทษตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ส่วนคำว่าตะราง หมายถึง สถานที่ที่ใช้เป็นที่คุมขังนักโทษตั้งแต่ 6 เดือนลงมา และนักโทษที่ไม่ใช่โจรผู้ร้าย

ยังมีอีกคำ “เรือนจำ” คำนี้ชวนให้สงสัย ทำไมจึงเรียก “เรือน” คงจะเป็นเรือนจริงกระมัง

ความจริง ก็ใช่ สมัยโบราณเขาขังนักโทษไว้ในเรือน มีหลักฐาน ในหนังสือกฎหมายโบราณ

“กรรมการให้แต่งที่แต่งเรือน ตามโทษหนักโทษเบาไว้ ณ กลางเมือง เรือน 3 ห้อง ฝากระดานตรึงเหล็ก ขุดหลุมใต้ท้องเรือนลึก 5 ศอก มีกระดานปกบน ลั่นกุญแจตามกฎสั่ง ให้ไว้บนก็ดี ตีขุมก็ดี ตามโทษหนักโทษเบา ถ้าโทษถึงตายให้ลงขุม”

ได้คำใหม่ “ขุม” อีกคำ แสดงว่า ถ้าเป็นโทษหนักก็ขังขุมหรือใต้ดิน คือใต้ถุนเรือน และขุมที่ว่า น่าจะเป็นที่มาของอีกคำเรียก “ตรุ” ถ้าเป็นโทษเบาก็ขังบนเรือน นี่เป็นกฎมณเฑียรบาลลงโทษลูกหลวง คนธรรมดา อาจไม่มีพื้นเรือนก็ได้

...

หนังสือภูมิสถานกรุงศรีอยุธยา กล่าวไว้อีกตอนหนึ่ง

อนึ่ง มีคุกสำหรับใช่คนโทษ โจรผู้ร้ายปล้นสะดมแปดคุก มีตะรางหน้าคุกสำหรับใส่ลูกเมียผู้ร้ายทุกหน้าคุก ซึ่งโทษเบาก็เป็นแต่โทษเบ็ดเสร็จ ใส่โซ่พวงลงเก้าคนสิบคนใช้ทำราชการเมือง

ที่โทษหนัก ต่อวันพระ ห้าค่ำ แปดค่ำ สิบเอ็ดค่ำ สิบห้าค่ำ จึงใส่พวงคอพวงละยี่สิบสามสิบคน และเมียผู้ร้ายนั้นใส่กรวนเชือกผูกเอวต่อกันไป ผูกติดท้ายพวงคอ ออกเที่ยวขอทานกิน

และเรื่องคุกตะรางโบราณ จึงเป็นที่มาของอีกหลายคำต่อไป

ส.พลายน้อย ได้จากหนังสือ ขุนข้างขุนแผน

แม่ค้าเห็นคนพวกล่วงเข้าตลาด บ้างยกกระจาดทับกระชังระวังผ้า พวกที่นั่งร้านรายขายกุ้งปลา ถือกะโล่โง่ง่าตั้งท่าคอย

ส.พลายน้อย บอกว่าคำ “คนพวง” สมัยนี้ไม่มีใครใช้แล้ว มีความหมายตรงตัวดีมาก คือหมายถึงคนที่ผูกร้อยเป็นพวงเดียวกัน ทั้งยังทำให้เห็นลักษณะการปกครองคุ้มกันนักโทษสมัยโบราณ ไม่เหมือนสมัยนี้  (ก็สมัยนี้ล่ะน่า!)

นักโทษสมัยโบราณต้องหากินเอง หรือไม่ก็มีญาติหามาส่ง คุกไม่มีอาหารเลี้ยง

เจอคำว่า คนพวงแล้ว เรื่องคุกทำให้เจอคำใหม่ ในหนังสือ ขุนช้างขุนแผน มีคำว่า “หับเผย”

ถึงทับหับเผยเลยพ้นไป กำลังตกใจวุ่นวายอยู่ ต่างคนต่างมองทุกช่องรู ริมประตูเพดานซมซานไป ไม่พบปะจะอย่างไรไฉนนี่ พัศดีตรองตรึกนึกขึ้นได้ เมียมันอยู่หับเผยเฮ้ยอย่างไร เอ็งเอาชุดจุดไฟไปมองดู

หับเผย คือกระท่อมหรือเพิงพักที่ปลูกไว้หน้าคุก มีแผงค้ำเปิดปิดได้ สมัยโบราณอนุญาตให้ลูกเมียนักโทษไปอยู่ด้วยกันได้เป็นครั้งคราว เวลาออกขอทานก็เอาลูกเมียผูกเข้าพวงไปด้วย

นี่คือการเรียนรู้เรื่องคุกตะราง ทั้งจากประสบการณ์ชีวิตตัวเอง...และการอ่าน เมื่อเอามาต่อ ด้วยประสบการณ์ เรื่องคุกล่าสุด...ที่เรียกกันว่า สวรรค์ชั้น 14 ก็เห็นมิติความแตกต่างชัดเจน

ผมก็อยากรู้ว่า ก่อนจะตาย จะได้เรียนรู้เรื่องคุกต่อไปอย่างไร ภาวนาอยู่ว่า อาชีพนักข่าวอาจตายในคุก แต่เรื่องจะมีสตางค์ระดับไปขอลี้ภัยต่างประเทศ คงไม่ใช่ นั่นคงเป็นสิทธิ์เฉพาะของนักการเมือง.

กิเลน ประลองเชิง

คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม